แผลขอบทวารหนักพบได้หลังจากการถ่ายอุจจาระแข็งก้อนใหญ่จนมีแผลฉีกขาด อาจเป็นเรื้อรังจนกลายเป็นแผลขอบทวารหนักที่ลึกถึงกล้ามเนื้อหูรูดชั้นใน ทำให้เจ็บปวดทรมานทุกครั้งที่ขับถ่าย และกระทบชีวิตประจำวัน การรักษามีหลายวิธี การฉีด Botulinum Toxin เป็นทางเลือกหนึ่งที่ใช้ได้ผลโดยไม่ต้องผ่าตัด
แผลขอบทวารหนักคืออะไร
โรคแผลขอบทวารหนัก (Anal Fissure) คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีแผลฉีกขาดที่ขอบทวารหนัก มักเกิดจากการถ่ายอุจจาระแข็งหรือขนาดใหญ่ ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการขับถ่ายแล้วรู้สึกเหมือนมีดบาดก้น อาจมีเลือดสีแดงสดเปื้อนอุจจาระ หรือเปื้อนกระดาษชำระ แพทย์วินิจฉัยโดยการซักประวัติและตรวจร่างกายแล้วพบแผลฉีกขาดที่ขอบทวารหนัก
แผลขอบทวารหนักมีกี่ชนิด
โรคแผลขอบทวารหนักมี 2 ชนิด แยกกันด้วยระยะเวลาการเป็นแผล คือ
- โรคแผลขอบทวารหนักชนิดเฉียบพลัน (Acute Anal Fissure) ผู้ป่วยจะมีอาการตั้งแต่เป็นวันถึงสัปดาห์ มักหายด้วยการใช้ยาระบายเพื่อรักษาภาวะท้องผูก ยาไฟเบอร์เพื่อให้อุจจาระนิ่ม และบรรเทาอาการด้วยยาแก้ปวดชนิดรับประทานและยาชาทาที่บริเวณแผล
- โรคแผลขอบทวารหนักชนิดเรื้อรัง (Chronic Anal Fissure) เกิดจากแผลขอบทวารหายช้าจนเป็นชนิดเรื้อรัง มีการเกร็งของกล้ามเนื้อหูรูด (Anal Sphincter Spasm) ส่งผลให้เลือดเลี้ยงที่เนื้อเยื่อแผลตำแหน่งแนวกลาง (Midline) ของทวารหนักน้อยลง ทำให้ไม่หาย ผู้ป่วยยิ่งเจ็บ และกล้ามเนื้อเกร็งอยู่ตลอดวนเป็นวงจร โดยผู้ป่วยมักมีอาการเกิน 6 สัปดาห์ มีการเจ็บทวารหนักขณะขับถ่ายอุจจาระ แม้อุจจาระไม่แข็งตัว แพทย์อาจพบแผลลึกถึงกล้ามเนื้อหูรูดชั้นใน ขอบแผลเรื้อรังคล้ายติ่งเนื้อ (Sentinel Pile) หรือติ่งเนื้อด้านในทวารหนักคล้ายริดสีดวง (Hypertrophic Anal Papilla) มักทำการรักษาด้วยการผ่าตัด
รักษาโรคแผลขอบทวารหนักเรื้อรังอย่างไร
หลักการรักษาแผลขอบทวารหนักชนิดเรื้อรัง มุ่งเน้นการทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวลง ซึ่งการผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ Lateral Internal Sphincterotomy (LIS) เป็นการตัดกล้ามเนื้อหูรูดชั้นในบางส่วนเพื่อให้ทวารหนักเกร็งน้อยลง ผ่าตัดภายใต้การดมยาสลบ (General Anesthesia) หรือการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง (Spinal Block) ซึ่งการผ่าตัดมีโอกาสทำให้แผลหายได้สูงถึง 80% – 90% แต่มีความเสี่ยงที่สำคัญคือการติดเชื้อที่แผลผ่าตัด
Botulinum Toxin รักษาแผลขอบทวารหนักเรื้อรังได้ไหม
Botulinum Toxin Type A เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อ โดยมีข้อบ่งชี้ในการรักษาโรคที่เกิดจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อในร่างกาย ที่คุ้นเคยกันดีคือการฉีดที่กล้ามเนื้อใบหน้าเพื่อเสริมความงาม สำหรับการฉีด Botulinum Toxin Type A ในผู้ป่วยแผลขอบทวารหนักชนิดเรื้อรัง ปัจจุบันมีข้อมูลเพียงพอจนเป็นที่ยอมรับจากคำแนะนำของสมาคมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ประเทศสหรัฐอเมริกา (American Society of Colon and Rectal Surgeons) ว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาแผลขอบทวารหนักชนิดเรื้อรัง
ประสิทธิภาพของ Botulinum Toxin ในการรักษาแผลขอบทวารหนักเรื้อรังเป็นอย่างไร
การฉีด Botulinum Toxin Type A เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ใช้ในการรักษาแผลขอบทวารหนักชนิดเรื้อรัง เหมาะกับผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มต้นการรักษาหรือผู้ป่วยที่ต้องการเลี่ยงความเสี่ยงจากการผ่าตัด โดยมีอัตราการหายของแผลประมาณ 60% ซึ่งจะต้องฉีดภายใต้การให้ยาระงับความรู้สึก (Sedation) ร่วมกับการฉีดยาชาที่ทวารหนัก (Perianal Block) วิธีนี้ลดความเสี่ยงด้านการติดเชื้อและเลือดออกจากการผ่าตัด ที่สำคัญผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่มีผลข้างเคียงคือยาที่ใช้ในการรักษา อาจทำให้กำลังการกลั้นน้อยลงชั่วคราวที่ 5% ซึ่งอาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นหลังจากยาหมดฤทธิ์ประมาณ 3 เดือน
ข้อดีของการฉีด Botulinum Toxin รักษาแผลขอบทวารหนักเรื้อรัง
- ไม่มีแผลผ่าตัด
- ลดความเสี่ยงติดเชื้อ
- ลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น เลือดออกจากการผ่าตัด
- ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
แพทย์ที่ชำนาญด้านการฉีด Botulinum Toxin เพื่อรักษาแผลขอบทวารหนักเรื้อรัง
นพ.ร่มเย็น จิตมุ่งงาน ศัลยแพทย์เฉพาะทางลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลกรุงเทพ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
โรงพยาบาลที่พร้อมให้บริการฉีด Botulinum Toxin เพื่อรักษาแผลขอบทวารหนักเรื้อรัง
ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ มีแพทย์เฉพาะทางพร้อมทีมสหสาขาวิชาชีพที่พร้อมให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคแผลขอบทวารหนักในทุกมิติ โดยเฉพาะบริการฉีด Botulinum Toxin เพื่อรักษาแผลขอบทวารหนักเรื้อรังโดยไม่ต้องผ่าตัด เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมั่นใจ
Ref.
DAVIDS, Jennifer S., et al. The American society of colon and rectal surgeons clinical practice guidelines for the management of anal fissures. Diseases of the Colon & Rectum, 2023, 66.2: 190-199.