ตับอ่อนเป็นอวัยวะที่อยู่ด้านหลังกระเพาะอาหารใกล้กับลำไส้เล็กส่วนต้น มีหน้าที่ช่วยย่อยอาหารและคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ซึ่งหนึ่งในโรคเกี่ยวกับตับอ่อนที่เปรียบเสมือนภัยเงียบรอวันแสดงอาการ แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้คือ ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงและมีความรุนแรงแตกต่างกันออกไป สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การรักษาโดยเร็วที่สุดและดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรค
รู้จักตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute Pancreatitis) คือ ภาวะที่ตับอ่อนเกิดการอักเสบรุนแรงเฉียบพลัน โดยเป็นการอักเสบที่บริเวณเซลล์ของตับอ่อน เกิดขึ้นจากการที่น้ำย่อยในตับอ่อนไหลผ่านท่อของตับอ่อนไม่ได้ ทำให้น้ำย่อยย่อยเนื้อเยื่อตับอ่อนแทนจึงทำให้เกิดการอักเสบขึ้น โดยจะเป็นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ปกติอาการจะดีขึ้นหลังเข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญใน 1 – 2 สัปดาห์ แต่ในกรณีที่รุนแรงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้
อาการบอกโรค
อาการที่บ่งบอกว่าเป็นตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่
- ปวดบริเวณกลางหน้าท้องรุนแรงและเฉียบพลัน
- ปวดนานตั้งแต่ 10 นาทีจนถึงชั่วโมง
- ปวดร้าวลงไปบริเวณกลางหลัง
- คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง
- มีไข้ ทั้งไข้สูงและต่ำ
- กดแล้วเจ็บท้อง แต่ท้องไม่แข็ง
- หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว
ตัวการของโรค
สาเหตุหลักของโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่
- การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากติดต่อกันนาน ส่วนใหญ่ดื่มมากกว่า 50 กรัมต่อวัน ไม่น้อยกว่า 5 ปี พบมากถึง 25 – 35%
- นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstone) พบมากถึง 40 – 70% มักเกิดจากนิ่วที่หลุดออกมาจากถุงน้ำดีและมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น ระดับแคลเซียมในเลือดสูง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ยาชนิดต่าง ๆ เนื้องอกตับอ่อน โรคตับอ่อนที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด
ประเภทตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ตับอ่อนอักเสบบวมน้ำ (Interstitial Edematous Pancreatitis) พบมากในผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน โดยเนื้อตับอ่อนจะบวม มีการสะสมของสารน้ำรอบตับอ่อน
- ตับอ่อนอักเสบที่มีเนื้อตาย (Necrotizing Pancreatitis) พบได้ประมาณ 5 – 10% โดยมีเนื้อตายของตับอ่อนจากการที่เลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอและมีเนื้อตายรอบตับอ่อน ส่วนใหญ่จะเกิดร่วมกัน แต่อาจเกิดลักษณะใดลักษณะหนึ่งได้แต่ค่อนข้างน้อย
ความรุนแรงของโรค
โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน สามารถแบ่งตามความรุนแรงของโรคได้ดังนี้
- ตับอ่อนอักเสบเล็กน้อย (Mild Acute Pancreatitis) ในกลุ่มนี้ไม่มีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่ (Local Complication) และภาวะแทรกซ้อนที่เป็นระบบ (Systemic Complication)
- ตับอ่อนอักเสบรุนแรงปานกลาง (Moderately Severe Acute Pancreatitis) หมายถึง การมีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่ (Local Complication) และภาวะแทรกซ้อนที่เป็นระบบ (Systemic Complication) ที่มีภาวะการทำงานของอวัยวะล้มเหลว (Organ Failure) ที่มีอาการดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง
- ตับอ่อนอักเสบรุนแรงมาก (Severe Acute Pancreatitis) หมายถึง การมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นระบบ (Systemic Complication) ที่มีภาวะการทำงานของอวัยวะล้มเหลว (Organ Failure) ที่มีอาการมากกว่า 48 ชั่วโมง
การตรวจวินิจฉัย
การตรวจวินิจฉัยตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันสามารถทำได้โดย
- ซักประวัติ
- ตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ
- ตรวจทางห้องปฏิบัติการทั่วไป เช่น ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจการทำงานของตับ ตรวจระดับน้ำตาล ตรวจระดับแคลเซียม ตรวจไตรกลีเซอไรด์
- เจาะเลือดตรวจหาเอนไซม์อะไมเลส (Amylase) และไลเปส (Lipase) โดยตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันจะพบเอนไซม์อะไมเลสที่มีค่าสูงขึ้นภายใน 6 – 12 ชั่วโมง ส่วนค่าของไลเปสในเลือดจะสูงขึ้นตั้งแต่วันแรกของการอักเสบ
- การอัลตราซาวนด์ (Ultrasound)
- ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
- การส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (ERCP)
การรักษาตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันมักมีความรุนแรงเล็กน้อยจึงมักหายได้หลังการรักษากับแพทย์เฉพาะทางภายใน 1 – 2 สัปดาห์ มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่ในระดับที่รุนแรงปานกลางและรุนแรงมาก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาตามความเหมาะสม
โดยการรักษามีหลายวิธี ได้แก่
- การให้ยาแก้ปวดแบบที่ไม่ใช่มอร์ฟีน
- การใส่สายยางเข้าเส้นเลือดดำเพื่อประเมินน้ำในร่างกาย
- ลดการทำงานของตับอ่อน ด้วยการงดน้ำ งดอาหาร ดูดน้ำย่อยกระเพาะอาหารออก การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ (ถ้ามีความรุนแรงเล็กน้อยอาจให้ทานอาหารทางปากได้บ้างเมื่ออาการปวดท้องทุเลาลง)
- การป้องกันภาวะแทรกซ้อนหรือรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์จะต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด
- การผ่าตัดผ่านกล้องนิ่วในถุงนํ้าดี มีเพียงส่วนน้อย ซึ่งมาจากโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันที่มีสาเหตุจากนิ่วในถุงน้ำดี
- การผ่าตัดตับอ่อน ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการหนักร่วมกับมีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่ เช่น มีเนื้อตายหรือมีการติดเชื้อร่วมด้วย ถ้ารักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องทำการใส่ท่อระบายบริเวณที่มีปัญหาและถ้ายังไม่ดีขึ้นอาจต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อเอาเนื้อตายของบริเวณตับอ่อนออก (Pancreatic Necrosectomy)
ป้องกันได้แค่ใส่ใจตับอ่อน
การป้องกันโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันทำได้โดยการดูแลตับอ่อนให้แข็งแรง ได้แก่- งดดื่มแอลกอฮอล์
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
- หากมีนิ่วในถุงน้ำดีควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาที่ถูกต้องโดยเร็วที่สุด