แผลขอบทวาร แผลเล็กแต่เจ็บไม่ธรรมดา

4 นาทีในการอ่าน
แผลขอบทวาร แผลเล็กแต่เจ็บไม่ธรรมดา

เมื่อเข้าห้องน้ำแล้วมีอาการถ่ายเจ็บ อาจมีเลือดออกซิบ ๆ ปวดมากน้ำตาแทบเล็ด บางคนรู้สึกไม่อยากเข้าห้องน้ำ บางคนคลำได้ติ่งเนื้อที่ก้น ทำให้ตกใจยิ่งกว่าเดิม กินยารักษาไม่ทุเลา ทั้งหมดนี้อาจกำลังบ่งบอกว่าคุณเป็นโรคยอดฮิตในกลุ่มคนท้องผูกแต่ชื่อโรคไม่คุ้นหูมากนักอย่างโรคแผลขอบทวาร


แผลขอบทวารคืออะไร

โรคแผลขอบทวาร (Anal Fissure) หรือแผลปริขอบทวารหนัก หรือแผลปากขอบทวาร หรือแผลขอบรูทวาร เป็นโรคที่มีรอยแผลเกิดที่เยื่อบุบริเวณปากทวารหนักและอาจลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก เป็นโรคที่พบบ่อย มีอาการคล้ายกับโรคริดสีดวงทวารหนัก อาจทำให้เข้าใจผิดและถูกละเลยได้ง่าย


แผลขอบทวารอาการเป็นอย่างไร

  • เจ็บบริเวณทวารหนักเวลาถ่ายอุจจาระแข็ง ๆ โดยมีอาการเจ็บแสบมากเมื่อเทียบกับขนาดแผลที่มีขนาดเล็ก อาจเจ็บและแสบหลังจากถ่ายได้อีกเป็นชั่วโมงในกรณีแผลลึก 
  • มีเลือดออกเป็นเลือดสดเล็กน้อย ติดกระดาษชำระ บางรายอาจมีเลือดออกมาก
  • มีติ่งหรือก้อนที่ขอบทวารหนัก
  • แสบ ๆ คันบริเวณทวารหนัก อาจมีกลิ่นผิดปกติ
  • ถ้าปวดมากอาจปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่ออก

แผลขอบทวารเกิดจากอะไร

ส่วนใหญ่โรคแผลขอบทวารเกิดจากการเบ่งถ่ายอุจจาระอย่างรุนแรงจากอาการท้องเสียหรือท้องผูก ในรายที่แผลลึกอาจบาดกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักชั้นใน และเกิดการอักเสบ กล้ามเนื้อหูรูดเกร็งส่งผลให้เลือดเข้ามาเลี้ยงแผลได้น้อย แผลหายยาก และกลายเป็นแผลเรื้อรังในที่สุด สำหรับผู้ป่วยที่เป็นแผลขอบทวารชนิดเรื้อรัง (เป็นมานาน) อาจพบมีการบวมอักเสบจนกลายเป็นติ่งเนื้อ (Sentinel Pile) บริเวณขอบแผลได้ อย่างไรก็ตามติ่งเนื้อลักษณะคล้ายคลึงกันอาจพบได้ในสตรีหลังคลอดบุตร โรคมะเร็ง วัณโรค ซิฟิลิส ลำไส้อักเสบ เป็นต้น


 

ตรวจวินิจฉัยโรคแผลขอบทวาร

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคแผลขอบทวารหนักได้จากการซักประวัติและการตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อแยกจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคริดสีดวงทวารหนัก ฝีคัณฑสูตร เป็นต้น การตรวจร่างกายอย่างละเอียดจะพบแผลบริเวณขอบทวารซึ่งพบได้ทั้งตำแหน่งด้านหน้าและ/หรือด้านหลังของทวารหนัก ทั้งนี้การตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ เพื่อวินิจฉัยแยกโรค เช่น การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติม การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อสืบหาโรคร่วมอื่น ๆ เช่น การตรวจเลือดหาการติดเชื้อซิฟิลิสหรือเชื้อเอชไอวีอาจมีความจำเป็นในผู้ป่วยบางราย


รักษาแผลขอบทวารอย่างไร

โรคแผลขอบทวารเป็นโรคที่พบบ่อยและไม่ควรละเลย หากปล่อยให้เป็นแผลนาน อาจเกิดภาวะฝีคัณฑสูตรแทรกซ้อน หรือเกิดความกังวลเรื่องติ่งเนื้อ โดยอาจคิดว่าจะกลายเป็นเนื้อร้ายได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการหรือสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคแผลขอบทวาร ในระยะแรกผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาตนเองได้อย่างถูกวิธี แต่หากเป็นมากหรือเป็นแผลขอบทวารเรื้อรัง ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเพื่อตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างถูกต้องก่อนรุนแรง ซึ่งการรักษาแผลขอบทวารมีทั้งการรักษาด้วยตนเอง การรักษาแบบไม่ผ่าตัด และการรักษาแบบผ่าตัด


การรักษาแผลขอบทวารด้วยตนเองทำอย่างไร

การรักษาแผลขอบทวารด้วยตนเอง เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการระยะเริ่มต้นและเป็นมาไม่นาน ได้แก่

  • ดื่มน้ำมาก ๆ วันละ 6 – 8 แก้ว 
  • รับประทานผักผลไม้ อาหารที่มีกากใยสูงเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันท้องผูก
  • ฝึกการขับถ่ายเป็นประจำทุกวัน ไม่นั่งแช่บนชักโครก อย่าอั้นถ่ายเพราะทำให้แผลยิ่งฉีกขาด
  • แช่ก้นด้วยน้ำอุ่นวันละ 2 – 3 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือดที่ทวารหนัก ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลดอาการแสบ อาการปวด และหูรูดคลายตัว
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย
  • หากมีภาวะท้องผูกควรรับประทานยาเพื่อให้อุจจาระนิ่มขึ้น ลดการปวดและการอักเสบ

การรักษาแผลขอบทวารแบบไม่ผ่าตัดทำอย่างไร

การรักษาแผลขอบทวารแบบไม่ผ่าตัด ได้แก่

  • การใช้ยาทาแผลขอบทวารหรือยาทาแผลปริขอบทวารภายนอกบริเวณแผล เพื่อคลายกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักและทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น
  • ฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน (Botulinum Toxin) บริเวณกล้ามเนื้อหูรูดเพื่อคลายกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักและทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น สามารถรักษาแผลขอบทวารหนักชนิดเรื้อรังได้ วิธีนี้ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและภาวะเลือดออกจากการผ่าตัด ฟื้นตัวเร็ว ไม่จำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล

การรักษาแผลขอบทวารด้วยการผ่าตัดทำอย่างไร

การรักษาแผลขอบทวารด้วยการผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นแผลมานานเกิน 6 – 8 สัปดาห์ และได้รับการรักษาด้วยการใช้ยาแล้วอาการไม่ทุเลา หรือกลับมามีอาการทันทีภายหลังการหยุดยา โดยการผ่าตัดกล้ามเนื้อหูรูด (Lateral Internal Sphincterotomy) เป็นการผ่าตัดแบบใช้แผลขนาดเล็ก ประมาณ 1 เซนติเมตรเพื่อแก้ไขกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักชั้นในส่วนที่หดเกร็งอักเสบและเก็บหูรูดทวารหนักชั้นนอกเอาไว้ 

ข้อดีของการผ่าตัดกล้ามเนื้อหูรูด (Lateral Internal Sphincterotomy) คือ

  • ฉีดยาชาเฉพาะจุดหรือบล็อกหลังโดยไม่ต้องดมยาสลบ
  • ระยะเวลานอนโรงพยาบาลสั้น ผู้ป่วยฟื้นตัวและกลับไปทำงานได้เร็ว
  • มีโอกาสหายขาดสูงถึง 95%
  • หากมีริดสีดวงทวารหนักด้วยสามารถแก้ไขพร้อมกันได้ในการผ่าตัดครั้งเดียว

 

เตรียมตัวก่อนผ่าตัดกล้ามเนื้อหูรูด

  • ตรวจสุขภาพอย่างละเอียดกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • แจ้งรายละเอียดโรคประจำตัว ยาประจำตัว วิตามินที่รับประทาน เพราะอาจต้องงดยาบางชนิดก่อนผ่าตัด
  • งดอาหารและน้ำดื่มก่อนผ่าตัด 6 – 8 ชั่วโมง
  • งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 4 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด
  • ดื่มน้ำให้มาก กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับให้เพียงพอเพื่อให้ฟื้นตัวได้เร็ว
  • ควรพาคนในครอบครัวหรือคนสนิทมาด้วย เพราะไม่สามารถขับรถได้ 

ดูแลหลังผ่าตัดกล้ามเนื้อหูรูด

  • ห้ามขับรถหลังผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์
  • เลี่ยงทำกิจกรรมที่อาจกระทบแผล เช่น ยกของหนัก ออกกำลังกาย เป็นต้น
  • ดื่มน้ำให้มาก กินอาหารเน้นกากใยลไฟเบอร์สูง เพื่อป้องกันท้องผูก
  • อย่าเบ่งแรง แช่ก้นในน้ำอุ่นหลังขับถ่ายเพื่อให้กล้ามเนื้อหูรูดผ่อนคลาย 
  • งดใช้ทิชชูที่มีส่วนผสมของน้ำหอมเช็ดบริเวณทวารหนัก
  • รับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • มาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง

 

แผลขอบทวารเป็นโรคที่พบได้บ่อย ความปวดทรมานนั้นไม่ธรรมดา การป้องกันท้องผูก ไม่รีบเบ่งถ่าย และหากพบว่ามีอาการควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาแผลขอบทวารตั้งแต่เนิ่น ๆ สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะแผลขอบทวารเรื้อรังควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและถูกวิธี สำหรับผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด เทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไวจะเพิ่มโอกาสการหายขาดได้ และไม่ต้องทนเจ็บทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำอีกต่อไป


โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษาแผลขอบทวารที่ไหนดี

ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้การดูแลรักษาแผลขอบทวาร แผลปริขอบทวารหนัก แผลปาก
ขอบทวาร และการผ่าตัดกล้ามเนื้อหูรูดด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์และทีมสหสาขาที่พร้อมดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด พร้อมเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรักษา เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจในทุกวัน


แพทย์ที่ชำนาญการรักษาแผลขอบทวาร

นพ.ชนินทร์ ปั้นดี ศัลยแพทย์ด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง คลินิกศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลกรุงเทพ 

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง


แพ็กเกจการผ่าตัดรักษาแผลขอบทวาร

แพ็กเกจการผ่าตัดกล้ามเนื้อหูรูดรักษาแผลขอบทวาร ราคา 110,000 บาท

คลิกที่นี่ 

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์ศัลยกรรม

ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

ทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด