คุณแม่หลายคนมักไม่คาดคิดว่าไส้ติ่งอักเสบจะเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์จึงอาจละเลย รู้ตัวอีกทีไส้ติ่งอาจแตกจนเกิดอันตรายและส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์ เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันและรีบเข้ารับการตรวจเมื่อมีอาการผิดปกติจะช่วยให้ผ่าตัดรักษาได้ทันท่วงทีก่อนจะมีอันตรายถึงขั้นสูญเสียเจ้าตัวน้อย
ไส้ติ่งอักเสบในแม่ตั้งครรภ์
ไส้ติ่งอักเสบ ในคุณแม่ตั้งครรภ์นั้นมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป เพราะอาจส่งผลกับทารกในครรภ์ได้ โดยส่วนใหญ่ไส้ติ่งอักเสบมักพบในคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งหากมีอาการปวดแล้วไม่ได้รับการวินิจฉัยได้ทันท่วงทีอาการจะรุนแรงถึงขั้นไส้ติ่งแตกทั่วท้องและอาจส่งผลให้มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งได้
อาการไส้ติ่งอักเสบในแม่ตั้งครรภ์
เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่และความรู้สึกไม่สบายท้องอึดอัดจากการตั้งครรภ์ ทำให้อาการแสดงและการวินิจฉัยโรคค่อนข้างยากกว่าในภาวะปกติ เนื่องจากในระยะนี้มดลูกมีการขยายใหญ่ขึ้นตามอายุครรภ์ ไส้ติ่งก็จะถูกดันและถูกบดบังโดยมดลูกได้จนการตรวจร่างกายด้วยการกดหน้าท้องอาจจะไม่ค่อยรู้สึกปวด และเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นอาจจะเลื่อนมาปวดด้านบนขวาได้ ทำให้ตำแหน่งของไส้ติ่งอาจคลาดเคลื่อน ความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางจึงมีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งแตกต่างจากปกติ ผู้เป็นไส้ติ่งอักเสบอาจจะปวดด้านล่างขวามากกว่า ส่วนอาการอื่น ๆ โดยทั่วไปอาจจะมีอาการเหมือนกับผู้เป็นไส้ติ่งอื่น ๆ คือ มีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร แน่นท้อง ซึ่งต้องแยกจากภาวะอื่น ๆ และเมื่ออาการมากขึ้นจะเริ่มมีไข้ อาการปวดรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในระยะนี้มีความเสี่ยงต่อคุณแม่และลูกได้ ซึ่งหากมีอาการสงสัยควรมาพบแพทย์เฉพาะทางโดยด่วน
เตรียมตัวเข้ารับการตรวจ
หากคุณแม่มีอาการปวดท้องและสงสัยไส้ติ่งอักเสบ ก่อนไปพบแพทย์ไม่ควรทานยาแก้ปวด ตลอดจนดื่มน้ำและทานอาหารเพื่อลดการบดบังอาการ และในกรณีเป็นไส้ติ่งอักเสบจำเป็นต้องผ่าตัดโดยเร่งด่วน การงดน้ำ งดอาหารจะลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดได้
ตรวจวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบในแม่ตั้งครรภ์
- ซักประวัติและตรวจร่างกายแบบละเอียดเพื่อแยกอาการปวดท้องภาวะตั้งครรภ์อื่น ๆ
- ตรวจร่างกายโดยกดลงให้ลึกบริเวณไส้ติ่งเพื่อดูว่ามีอาการเจ็บมากหรือไม่ ต้องอาศัยประสบการณ์ในการตรวจ
- ตรวจเลือดเพื่อหาสัญญาณการติดเชื้อ หากมีปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ ซึ่งในภาวะตั้งครรภ์จะมีเม็ดเลือดขาวสูงได้ จำเป็นต้องวินิจฉัยแยกจากการตั้งครรภ์ปกติ
- ตรวจปัสสาวะหาเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวเพื่อแยกการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- ตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound Upper Abdomen) เป็นเครื่องมือการตรวจวินิจฉัยลำดับต้น ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการวินิจฉัยได้ แต่ในบางกรณีที่ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนอาจจะจำเป็นต้องทำการ ตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ต่อไป
รักษาไส้ติ่งในแม่ตั้งครรภ์
เมื่อคุณแม่ได้รับการวินิจฉัยเป็นไส้ติ่งอักเสบ จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อเอาไส้ติ่งออกทุกราย โดยแพทย์จะพิจารณาร่วมกับแพทย์เฉพาะทางด้านสูตินรีเวชเรื่องการดูแลการตั้งครรภ์ของคุณแม่ให้ดำเนินต่อไปได้อย่างใกล้ชิดและราบรื่น ซึ่งโดยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องผ่าคลอดร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยเฉพาะแต่ละราย นอกจากนี้หากคุณแม่ตั้งครรภ์ไส้ติ่งแตกอาจทำให้หนองอักเสบจากไส้ติ่งกระจายไปทั่วท้องและมีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือด การเข้ารับการผ่าตัดรักษาโดยเร็วคือสิ่งสำคัญที่สุด
สำหรับการผ่าตัดในปัจจุบันนอกจากการผ่าตัดเปิดหน้าท้องยังมีการผ่าตัดผ่านกล้องที่ช่วยให้แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว ลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างผ่าตัด ซึ่งขณะผ่าตัดสูติ – นรีแพทย์ประจำตัวคุณแม่จะร่วมกับทีมศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดผ่านกล้องประกอบกับการใช้เทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก 3 มิติ (Advanced 3D Laparoscopic Surgery) ที่ปลายกล้องผ่าตัดมี 2 เลนส์ ทำให้เห็นระยะความลึกของอวัยวะที่กำลังจะผ่าตัดแบบ 3 มิติ (3D) โดยศัลยแพทย์จะใส่แว่น 3 มิติขณะทำการผ่าตัด ซึ่งให้ความคมชัดของภาพระดับ Full HD หรือจะเป็นเทคโนโลยี 4K Ultra High Definition ที่แสดงผลบนจอภาพขนาด 55 นิ้วด้วยความคมชัดสูงเหนือ Full HD ช่วยให้เห็นอวัยวะภายในได้ชัดเจนขณะผ่าตัด ได้รับประโยชน์กว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ที่สำคัญตอนลงแผลความชำนาญของศัลยแพทย์มีความสำคัญมากต้องระมัดระวังเพื่อป้องกันไม่ให้โดนมดลูกของคุณแม่ ดังนั้นการผ่าตัดรักษาในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทั้งทีมแพทย์และทีมสหสาขาวิชาชีพ ตลอดจนเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัยจะช่วยลดความเสี่ยงและอันตรายที่จะเกิดกับคุณแม่และทารกในครรภ์
ไส้ติ่งอักเสบขณะตั้งครรภ์มีอันตรายต่อคุณแม่และทารกอย่างมาก เพราะอาจรุนแรงจนถึงขั้นไส้ติ่งแตกขณะตั้งครรภ์ ดังนั้นการสังเกตอาการปวดท้องที่ผิดปกติแล้วรีบไปพบแพทย์ทันทีจะช่วยตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อจะได้ป้องกันและรักษาได้อย่างถูกวิธีและทันท่วงที