โรคอารมณ์แปรปรวนเป็นโรคทางอารมณ์ที่สามารถแปรปรวนได้สุดขั้ว ทั้งคึกรุนแรง (Mania) และเศร้าสุด ๆ (Depress) อันอาจก่อความเสียหายมากทั้งแก่ตนเองและบุคคลอื่น ๆ อย่างที่เห็นในข่าวอยู่เนือง ๆ สาเหตุนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด มีข้อมูลว่าเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ แต่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในสมอง ไม่ว่าจะจากยา สารเสพติด โรคทางกายบางโรคก็ได้ สถิติทั่ว ๆ ไปพบอัตราการเป็นโรคนี้อยู่ที่ 1 – 2% ของประชากร
อาการบอกอารมณ์แปรปรวน
อาการที่พบมีได้ทั้งสองขั้ว แต่บางคนอาจเกิดเพียงขั้วเดียวก็ได้คือ คึก (Mania) โดยไม่มีประวัติอาการซึมเศร้าเลย (ทั้ง 2 แบบเช่นนี้เรียกว่าเป็น Bipolar I Disorder) อีกส่วนหนึ่งมีอาการเศร้าเป็นส่วนใหญ่มีอาการคึกน้อย ๆ (Hypomania) ในบางครั้ง (เรียกว่าเป็น Bipolar II disorder)
1) อาการคึก (Mania and Hypomania)
อาการคึกรุนแรง (Mania) และคึกน้อย ๆ (Hypomania) จะเป็นแบบเดียวกัน เพียงแต่ความรุนแรงของอาการที่เรียกว่า คึกน้อย (Hypomania) นั้นจะไม่รุนแรงเท่า
อาการมีดังนี้
- มีอาการคึก มีความรู้สึกเป็นสุข อารมณ์แจ่มใสเกิน
- พลังเยอะ แอ็กทีฟ หรืออาจกระวนกระวาย แม้แต่หงุดหงิดได้ง่าย ๆ
- เชื่อมั่นในตัวเองสูงเกินเหตุ หรือรู้สึกว่าตัวเองเก่งกาจ ยิ่งใหญ่ สำคัญ ทั้ง ๆ ที่ในความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
- ต้องการนอนน้อยลง เช่น อาจนอนเพียง 3 ชั่วโมงก็รู้สึกเพียงพอแล้ว
- มักจะพูดเยอะกว่าวิสัยปกติของคน ๆ นั้น หรือรู้สึกกดดันในใจให้ต้องพูดตลอด
- ความคิดในสมองแล่นเยอะ แล่นเร็ว เปลี่ยนเร็ว
- ปรับเปลี่ยนเรื่องที่จดจ่อได้ไว หันเหเรื่องที่คิดไปตามสิ่งที่มากระตุ้นได้ง่าย
- ทำโน่นทำนี่ทั้งแบบมีเป้าหมายหรือไม่มีเป้าหมายในสิ่งที่ทำเยอะแยะไปหมด บางทีมองดูก็คล้ายคนกระวนกระวาย
- บ่อย ๆ ที่พบว่า ตัดสินใจหรือทำเรื่องต่าง ๆ ไม่ถูกต้องเหมาะสม อย่างเช่น การใช้จ่ายเงินทอง การลงทุน หรือแม้แต่การมีเพศสัมพันธ์เสี่ยง ๆ
2) อาการเศร้า (Depress)
อาการเศร้าหรืออารมณ์เศร้านั้นมักทำให้เกิดความเสียหายหรือลำบากต่อการดำเนินชีวิตปกติ เช่น การทำงาน การเรียน การอยู่ในสังคม หรือแม้แต่มนุษยสัมพันธ์กับบุคคลอื่น
อาการมีดังนี้
- อารมณ์เศร้า รู้สึกว่างเปล่า สิ้นหวัง ร้องไห้ง่าย
- ขาดความสนใจในกิจกรรมที่เคยให้ความสุข
- อาจเบื่ออาหารจนน้ำหนักลด หรือกินเก่ง
- นอนไม่หลับ หรือเอาแต่นอนไม่อยากทำอะไร
- บางคนกระวนกระวายหรือบางคนอาจเคลื่อนไหวช้าลง
- รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีพลัง
- รู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกผิด ทั้ง ๆ ที่อาจไม่เป็นเช่นนั้นจริง
- คิดอะไรไม่ค่อยออก ไม่มีสมาธิ ตัดสินใจไม่ขาด
- บางคนอาจคิดถึงการทำร้ายตัวเอง รวมไปถึงคิดฆ่าตัวตาย
อาการทั้งสองขั้ว ซึ่งแปลกแตกต่างเปลี่ยนไปจากนิสัยหรือบุคลิกเดิมของคนนั้น ๆ จะเกิดขึ้นทั้งวันหรือเกือบทั้งวัน และเป็นเวลาหลายวันหรือเป็นสัปดาห์จึงจะวินิจฉัยว่าเป็นโรค อย่างไรก็ตามบางทีการวินิจฉัยอาจไม่ง่ายจึงควรให้จิตแพทย์เป็นผู้พิจารณา
รักษาโรคอารมณ์แปรปรวน
การรักษาโรคอารมณ์แปรปรวน (Bipolar Disorder) นั้นมีหลายวิธี ได้แก่
- การใช้ยา ยาเป็นการรักษาที่ได้ผลดีที่สุดสำหรับโรคนี้ ยามักใช้เวลาระยะหนึ่งในการเริ่มออกฤทธิ์ (Lag Time) และจำเป็นต้องทานทุกวันอย่างต่อเนื่อง หลายรายต้องรับประทานยาต่อเนื่องตลอดชีวิตแม้อาการสงบแล้วเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ทั้งนี้เนื่องจากยามีผลข้างเคียงบ้างตามสมควร ผู้ป่วยต้องมีวินัยในการรับประทานยาหรือญาติควรดูแลการได้รับยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ส่วนผลข้างเคียงอันอาจจะเกิดขึ้นสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อลดหรือบรรเทาหรือปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละรายได้ นอกจากนี้ยามีหลายกลุ่ม อาจใช้บางกลุ่มหรือหลายกลุ่มร่วมกันขึ้นกับอาการที่เป็น กลุ่มของยา เช่น ยาปรับอารมณ์ (Mood Stabilizers) ยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotics) ยาต้านเศร้า (Antidepressants) ยาคลายเครียด (Anti – Anxiety)
- การรับไว้ในโรงพยาบาลในกรณีที่อาการเป็นมาก อันอาจก่อเกิดความเสียหายแก่ตัวผู้ป่วยเองหรือผู้อื่น เช่น ทะเลาะวิวาท ใช้กำลัง พฤติกรรมเสี่ยง ๆ ใช้จ่ายเงินไร้ยั้งคิด ทำธุรกรรมผิด ๆ ทำร้ายตัวเองหรือคิดฆ่าตัวตายในรายมีอาการซึมเศร้า ฯลฯ
- การรับคำปรึกษา การปรับพฤติกรรมเพื่อควบคุมอารมณ์ จะช่วยให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตตามปกติ
ทั้งนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้หรือติดสารเสพติดจะต้องบำบัดไปพร้อมกัน และปัจจัยนี้จะทำให้การรักษาโรคอารมณ์แปรปรวนยากขึ้น