หลังคุณแม่คลอด แน่นอนว่าการให้นมเจ้าตัวเล็กเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกให้สารอาหารทั้งโปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ในสัดส่วนที่เหมาะสม ยังช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายทารกแข็งแรง ดังนั้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง
สารอาหารในนมแม่
น้ำนมแม่เปรียบเหมือนวัคซีนหยดแรกของทารก มีสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย ดังนี้
- โปรตีน
- ปริมาณสัดส่วนพอเหมาะ ย่อยง่าย ไตทำงานน้อย
- มีโปรตีนป้องกันเชื้อโรคและพัฒนาการสมอง
- ไม่มีเบต้าแลกโตโกลบุลินที่ทำให้เกิดภูมิแพ้
- ไขมัน
- อุดมด้วยโอเมก้า 3, 6 คือ DHA และ AA
- มีคอเลสเตอรอลสร้างเส้นใยประสาท
- มีน้ำย่อยไขมันไลเปสช่วยในการย่อยและดูดซึมไปใช้ได้ดี
- คาร์โบไฮเดรต
- มีน้ำตาลนม (แล็กโตส) สูง ช่วยเสริมพัฒนาการสมอง
- มีโอลิโกแซคคาไรด์สูงมาก ช่วยส่งเสริมสุขภาพของลำไส้
- วิตามินและแร่ธาตุ
- ดูดซึมได้ดีกว่า โดยเฉพาะธาตุเหล็ก (ดูดซึม 50 – 75%) สังกะสีและแคลเชียม
- มีซิลีเนียมที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
- สารป้องกันเชื้อโรค
- มีเม็ดเลือดขาวและภูมิคุ้มกันโรคจำนวนมาก
- สารช่วยการเจริญเติบโต
- มีสารช่วยการเจริญเติบโตของสมองและอวัยวะต่าง ๆ
- น้ำย่อยและฮอร์โมน
- มีน้ำย่อยมากมาย เช่น น้ำย่อยไขมันและแป้ง
- มีฮอร์โมนนานาชนิด
ประโยชน์ของนมแม่
นมแม่เป็นสุดยอดอาหารที่อุดมไปด้วย
- ไขมัน โปรตีน แคลอรี่
- มีเอนไซม์ (Enzyme) ช่วยฆ่าเชื้อโรค
- ลดภูมิแพ้ ลดการเกิดการแพ้โปรตีนนมวัว
- มีสารอาหารที่ช่วยพัฒนาเซลล์สมอง
นอกจากนมแม่จะมีประโยชน์ต่อลูก ยังมีประโยชน์กับแม่ด้วยนั่นคือ ป้องกันการตกเลือดหลังคลอด ลดการเกิดมะเร็งเต้านม รังไข่ มดลูก และสร้างความผูกพันระหว่างแม่กับลูกอย่างลึกซึ้ง
เทคนิคให้นมเจ้าตัวเล็ก
คุณแม่ทุกคนจะได้รับการฝึกให้นมลูกหลังคลอด สิ่งสำคัญคือ
- ก่อนและหลังให้นมลูกทุกครั้ง คุณแม่จะต้องเช็ดหรือล้างบริเวณหัวนมและรอบ ๆ ให้สะอาดด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือแล้วเช็ดให้แห้ง จึงให้ลูกดูดนมสลับไปในแต่ละข้างจนอิ่ม ช่วงแรกให้ดูดกระตุ้น 15 – 20 นาทีทั้งสองข้าง (เมื่อน้ำนมมากพอต่อไปดูดทีละข้าง)
- ศีรษะลูกจะต้องอยู่สูงกว่าลำตัวเสมอ
- คอยสังเกตว่าส่วนของเต้านมไม่เบียดจมูกทารกขณะดูด
- เมื่อลูกดูดนมจนอิ่มให้อุ้มลูกพาดบ่าจนลูกเรอลมออกจากกระเพาะอาหารจึงเปลี่ยนท่าอุ้ม
- ช่วงแรกควรงดให้ขวด เพราะเด็กอาจจะปฏิเสธนมแม่
- คุณแม่สามารถปั๊มน้ำนมตนเองใส่ขวดนมที่สะอาดและเก็บไว้ในตู้เย็น แต่ไม่ควรเกิน 12 ชั่วโมง หากลูกดูดนมจากขวดจนอิ่มแล้วน้ำนมเหลือไม่ควรเก็บไว้ เพราะนมจะบูดและเสียโดยง่าย แล้วดูดเสร็จถ้ามีนมเหลือควรบีบหรือปั๊มใส่ขวดเก็บใส่ตู้เย็น
วิธีดูแลเต้านมคุณแม่
- ใส่เสื้อชั้นในแบบพยุงเต้านม
- ทำความสะอาดหัวนมด้วยน้ำสะอาด
- ใช้สบู่ฟอกได้ แต่ไม่ควรบ่อยเกินไป เพราะอาจทำให้แห้งแตก
ความต้องการพลังงานของแม่ขณะให้นม
คุณแม่ที่ให้นมเจ้าตัวน้อยจะต้องใช้พลังงานสูงในการผลิตน้ำนม โดยใช้พลังงานประมาณ 85 แคลอรี่ในการผลิตน้ำนม 100 ซีซี โดยปริมาณน้ำนมแม่ในช่วง 6 เดือนแรกจะอยู่ที่ 700 – 850 มล./วัน ช่วง 6 – 12 เดือน 600 มล./วัน และช่วง 12 – 24 เดือน 550 มล./วัน ดังนั้นคุณแม่ที่ให้นมจึงต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นวันละ 500 แคลอรี่ โดยเฉพาะโปรตีนมีความสำคัญมากในการผลิตน้ำนม บำรุงและซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ ของคุณแม่ จึงควรได้รับโปรตีนเพิ่มวันละ 25 กรัม
อาหารช่วยเพิ่มน้ำนมแม่
อาหารดังต่อไปนี้มีประโยชน์และช่วยเพิ่มน้ำนมให้คุณแม่ได้
- หัวปลี มีธาตุเหล็ก ช่วยบำรุงเลือดและเพิ่มน้ำนม
- กะเพรา มีเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยขับลม แก้ท้องอืด เพิ่มน้ำนม
- กุยช่าย มีธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส แคลเซียม ช่วยเพิ่มน้ำนม ลดการอักเสบ ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย
- ขิง มีสารจินจิเบน ช่วยย่อยอาหาร ย่อยไขมัน เพิ่มน้ำนม ขับลม แก้คลื่นไส้อาเจียน
- เม็ดขนุน มีเบต้าแคโรทีนสูง ช่วยเพิ่มน้ำนม
การให้นมลูกไม่เพียงแต่มีประโยชน์ในด้านสารอาหารที่ลูกได้รับ แต่การอุ้มลูกขึ้นดูดนมช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทุกส่วนของลูก ทำให้สมองได้รับสัญญาณประสาทสม่ำเสมอ เกิดการแตกแขนงของเซลล์ประสาท ช่วยให้เรียนรู้ได้เร็วขึ้นอีกด้วย