ปัญหาด้านการเคลื่อนไหวส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือผู้สูงวัยที่มีปัญหาข้อเสื่อมที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษา เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกแขนขา ข้อไหล่และเส้นเอ็น ข้อเข่าและเส้นเอ็น ข้อสะโพก ข้อเท้า ซึ่งการดูแลฟื้นฟูเพื่อให้กลับมาเคลื่อนไหวได้ดังเดิม คือหัวใจสำคัญของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว
เป้าหมายในการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยกระดูกและข้อ
เป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่
- ลดอาการเจ็บปวดอย่างเห็นผล
- ทำให้กระดูกเชื่อมติดในลักษณะเดิมหรือใกล้เคียงปกติ
- ดูแลข้อที่ผ่าตัดใส่ข้อเทียมให้แข็งแรงและมีประสิทธิภาพ สามารถใช้งานได้เทียบเท่าปกติ
- ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น ข้อหลุด ข้อเคลื่อน การติดเชื้อ ฯลฯ
- ฟื้นฟูกล้ามเนื้อรอบข้อที่มีหน้าที่ช่วยพยุงข้อให้มีความแข็งแรงและสมดุล
ดูแลฟื้นฟูอย่างทันท่วงที
การดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยกระดูกและข้อนั้น สิ่งสำคัญคือการฟื้นฟูหลังผ่าตัดรักษาทันที เพื่อให้การทำงานของส่วนที่ผ่าตัดกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์และทีมสหสาขาวิชาชีพ ทั้งศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทย์อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด เพื่อการดูแลรักษาอย่างสมบูรณ์แบบองค์รวม โดยสิ่งสำคัญคือการดูแลรักษาตั้งแต่หลังผ่าตัดจนเกิดการเชื่อมติดของกระดูก ส่งเสริมการเคลื่อนไหวของกระดูกและข้อ ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและท่าทางในการเคลื่อนไหว โดยการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในการกายภาพบำบัดและการออกกำลังกายในระยะเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งการฝึกกิจวัตรประจำวันเพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว ซึ่งรูปแบบการฟื้นฟูจะขึ้นอยู่กับช่วงอายุ การผ่าตัด และภาวะของผู้ป่วยแต่ละบุคคล
ฝึกเคลื่อนไหวหลังผ่าตัด
การฝึกเคลื่อนไหวหลังผ่าตัดที่สำคัญคือ การฝึกเดิน เพราะแม้บางครั้งผู้ป่วยจะสามารถกลับบ้านได้ แต่หากสภาพแวดล้อมที่บ้านไม่ได้อำนวยความสะดวกในการฝึกเดิน การอยู่ฝึกกับแพทย์และทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความชำนาญในสถานที่ที่มีความพร้อมคือสิ่งสำคัญ การฝึกเดินนั้นช่วยกระตุ้นการทำงานของกระดูกและกล้ามเนื้อ ตลอดจนสร้างเสริมจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งการลงน้ำหนักของขาข้างที่มีกระดูกหักหรือมีการเปลี่ยนข้อคือหัวใจสำคัญของการฝึก ซึ่งจะต้องพิจารณาตำแหน่งและลักษณะของกระดูกหักและการผ่าตัดอย่างละเอียด โดยแบ่งออกเป็นการเดินที่ไม่ลงน้ำหนักในขาข้างที่มีการผ่าตัด การเดินลงน้ำหนักเพียงบางส่วน และการเดินลงน้ำหนักเท่าที่ผู้ป่วยสามารถทำได้ ไปถึงการลงน้ำหนักเต็มที่ นอกจากนี้ต้องมีการประเมินและฝึกด้านอื่น ๆ ที่ช่วยส่งเสริมการเคลื่อนไหว เช่น การฝึกการทรงตัวเพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างมั่นคง ป้องกันการหกล้ม การฝึกใช้เครื่องช่วยเดินต่าง ๆ อย่างเหมาะสม
ในการฝึกจะมุ่งเน้นการเคลื่อนไหวในรูปแบบใกล้เคียงกับที่ผู้ป่วยต้องกลับไปใช้ชีวิต เช่น ฝึกเดินทางราบ ฝึกขึ้นลงบันได ฝึกการใช้ห้องน้ำ เป็นต้น รวมถึงการฟื้นฟูด้านจิตใจด้วยกิจกรรมที่ทำให้เกิดการผ่อนคลาย ลดความกังวล ป้องกันความเครียด ซึ่งในระยะฟื้นฟูของผู้ป่วยกระดูก บุคลากรที่มีความชำนาญและอุปกรณ์ช่วยฝึกที่ครบทุกขั้นตอนมีความสำคัญมากในการฟื้นฟูการเคลื่อนไหว
โรงพยาบาลชีวา ทรานสิชั่นนัล แคร์ พร้อมให้การดูแลฟื้นฟูเพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ เพราะมีทีมที่มีสหสาขาวิชาชีพที่ให้การดูแลแบบองค์รวม ประกอบด้วย แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ พยาบาล นักกายภาพบำบัด และนักกิจกรรมบำบัด พร้อมโปรแกรมการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจอย่างเข้มข้นและเหมาะสม รวมถึงการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและญาติเพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านได้อย่างมีความสุข