โรคทางระบบประสาทในเด็กที่พบได้บ่อยที่สุดคือ โรคลมชัก ซึ่งพบได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กอุบัติการณ์การเกิดโรคลมชักทั่วโลกประมาณ 3.5 ล้านคนต่อปี โดยผู้ป่วยร้อยละ 40 เป็นผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี เมื่อคิดตามสัดส่วนประชากรพบว่า อุบัติการณ์การเกิดโรคลมชักในเด็กอยู่ระหว่าง 3.5 – 7.2 ต่อประชากร 1,000 คน จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลยอย่างเด็ดขาด
ลมชักในเจ้าตัวเล็ก
โรคลมชักเกิดจากคลื่นไฟฟ้าในสมองผิดปกติ มีทั้งลมชักแบบที่ชักเกร็งทั้งตัวและลมชักแบบที่เหม่อลอย นับเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและครอบครัวเป็นอย่างมาก มีผลทั้งต่อพัฒนาการ การเลี้ยงดู การเข้าสังคม รวมทั้งการเรียน จึงมีความจำเป็นต้องวินิจฉัยอย่างถูกต้อง และรับการรักษาอย่างทันท่วงที
ต้นเหตุลมชักในเด็ก
สาเหตุของโรคลมชักเกิดได้จากภาวะต่าง ๆ ได้แก่
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม
- ความผิดปกติในโครงสร้างของสมอง การสร้างเนื้อสมองที่มีความผิดปกติ รวมถึงเส้นเลือด เช่น AVMs และเนื้องอกในสมอง
- ความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนก่อนคลอด ระหว่างคลอด รวมทั้งหลังคลอด เช่น การขาดออกซิเจนระหว่างคลอด
- การติดเชื้อในสมอง
- โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune disease)
- ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งพบได้ประมาณเกือบครึ่งนึงของผู้ป่วยทั้งหมด
อาการลมชักเจ้าตัวเล็ก
อาการลมชักที่เกิดขึ้นมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับกระแสประสาทในสมองที่ผิดปกติเกิดที่ส่วนใดของสมอง ผู้ป่วยอาจจะมาด้วยอาการ
- สับสน
- เหม่อ
- กล้ามเนื้อกระตุก
- หมดสติ
- พฤติกรรมแปลก ๆ เช่น หัวเราะโดยไม่มีเหตุผล กลัวโดยอธิบายไม่ได้ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ที่มีความชำนาญ รวมทั้งการส่งตรวจเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม
ตรวจวินิจฉัยโรคลมชัก
การตรวจวินิจฉัยโรคลมชักขึ้นอยู่กับอาการเป็นหลัก โดยแพทย์จะทำการซักประวัติอย่างละเอียดและใช้เครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อช่วยตรวจหาความผิดปกติ เช่น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) มีห้องที่สามารถ Monitor คลื่นไฟฟ้าสมองเพื่อตรวจหาจุดกำเนิดของคลื่นไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดอาการชักพร้อมวิดีทัศน์ (24 – Hour Video EEG Monitoring)
- การตรวจทางรังสี ได้แก่
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
- การตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
- การตรวจหาจุดกำเนิดของคลื่นไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดอาการชักทางรังสีด้วยวิธีต่าง ๆ ได้แก่ PET CT, SPECT, Interictal SPECT, Ictal SPECT
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด, การตรวจสารพันธุกรรมที่อาจเป็นสาเหตุของโรคลมชัก ฯลฯ
ดูแลรักษาลมชัก
การรักษาหลักของโรคลมชักมี 2 แบบคือ
- การรักษาโดยใช้ยากันชัก
- การรักษาโดยวิธีอื่น เช่น กินอาหารคีโต โดยแพทย์เฉพาะทางด้านโภชนาการเป็นผู้จัดให้สำหรับผู้ป่วยเด็ก หรือการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นการฝังเครื่องกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส (Vagus Nerve Stimulation: VNS) เพื่อรักษาโรคลมชัก หรือการผ่าตัดสมอง รวมถึงการรักษาโรคร่วมที่พบอย่างอื่นด้วย เช่น การกระตุ้นพัฒนาการในเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า เป็นต้น
ลมชักในเด็กเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองไม่ควรละเลย เพราะอาจเกิดขึ้นโดยที่เด็กไม่รู้ตัว การสังเกตอาการเจ้าตัวเล็กและรีบทำการรักษาในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมของกุมารแพทย์และทีมแพทย์ทุกสาขาที่มีความชำนาญ พร้อมด้วยเครื่องมือทันสมัย มีห้องสำหรับ Monitor คลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG Monitoring Unit) ดูแลตรวจรักษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง ย่อมช่วยให้เจ้าตัวเล็กไม่ต้องทรมานจากลมชักและลดความรุนแรงของโรคได้ในระยะยาว