จากการสำรวจในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2547 ในชายไทยทั่วประเทศ อายุ 40 – 70 ปี จำนวน 1,250 ราย พบว่า มีชายไทยมีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศร้อยละ 43 โดยมีอาการตั้งแต่น้อย ๆ คือร่วมเพศไม่สำเร็จแค่บางครั้ง จนถึงไม่สามารถที่จะร่วมเพศได้เลย ส่วนการสำรวจในสหรัฐอเมริการายงานไว้ถึงร้อยละ 52 และมีการคาดการณ์ว่า จำนวนเพศชายที่หย่อนสมรรถภาพทางเพศจะเพิ่มเป็น 170 ล้านคน ในปี 2568 เพราะฉะนั้นภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
รู้ทันปัญหาคุณผู้ชาย
อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หมายถึง การที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวและ/หรือแข็งตัวได้ไม่นานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้สำเร็จจนเป็นที่พึงพอใจอยู่เป็นประจำหรืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่จะทราบว่าอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศเกิดจากสาเหตุใด จะให้การรักษาได้อย่างไร จะต้องเข้าใจกลไกการแข็งตัวขององคชาตก่อน
การแข็งตัวขององคชาตมีด้วยกัน 3 กลไก ได้แก่
- การแข็งตัวเวลานอนหลับ (Nocturnal Erection) เวลานอนหลับองคชาตจะมีการแข็งตัวคืนละประมาณ 4 – 6 ครั้ง ครั้งละ 15 – 30 นาที
- การแข็งตัวจากจิตใจ (Psychogenic Erection) เมื่อมีความต้องการทางเพศจากสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่มากระตุ้น คำสั่งจะส่งจากสมองมายังแกนสมองส่วนที่เรียกว่า พาราเวนทริคูลาร์นิวเคลียสที่อยู่บริเวณไฮโปทาลามัส จากนั้นคำสั่งจะผ่านไขสันหลังลงมายังศูนย์กลางการแข็งตัวขององคชาตบริเวณไขสันหลังระดับกระดูกก้นกบและผ่านเส้นประสาทคาร์เวอนัส (Cavernous Nerve) ที่มากระตุ้นให้เส้นเลือดในองคชาตมีการขยายตัว เลือดเข้ามาเลี้ยงมากขึ้น ทำให้องคชาตแข็งตัว
- การแข็งตัวจากรีเฟล็กซ์ (Reflexogenic Erection) เมื่อมีการกระตุ้นหรือสัมผัสบริเวณองคชาตก็จะมีสัญญาณผ่านจากเส้นประสาทที่องคชาต (Dorsal Nerve) ไปยังศูนย์กลางการแข็งตัวที่ไขสันหลังระดับกระดูกก้นกบและส่งสัญญาณกลับมายังองคชาต (Cavernous Nerve)
องคชาตประกอบไปด้วยแกน 3 แกนด้วยกัน การแข็งตัวขององคชาตจะต้องอาศัยแกนใหญ่ 2 แกนที่เรียกว่า คอร์ปัส คาเวอร์โนซั่ม (Corpus Cavernosum) ซึ่งประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อร่างแหคล้ายฟองน้ำ (Sinusoid) ซึ่งร่างแหเหล่านี้ก็คือเส้นเลือดแดงฝอยขององคชาตนั่นเอง
เมื่อมีการกระตุ้นทางเพศเกิดขึ้น ที่สำคัญที่สุดจะต้องมีการกระตุ้นผ่านสิ่งเร้าที่สมองส่วนที่เรียกว่า Paraventricular Nucleus (PVN) ซึ่งอยู่ในบริเวณก้านสมองส่วนที่เรียกว่า Hypothalamus เรียกกลไกนี้ว่า การแข็งตัวจากการกระตุ้นทางจิตใจ (Psychogenic Erection) ซึ่งระบบประสาทที่รับการกระตุ้นส่วนใหญ่จะเป็นชนิด Dopamine Receptor ชนิดที่ 2 จากนั้นคำสั่งจะผ่านมาทางไขสันหลังจนถึงไขสันหลังบริเวณก้นกบที่ระดับ 2 – 4 ซึ่งจะรวมกันเป็นปมประสาทที่เรียกว่า Sacral Plexus และแตกแขนงเป็นเส้นประสาท Cavernous (Cavernous Nerve) ไปยังองคชาต ทำให้มีการพองตัวของเส้นเลือดที่เป็นร่างแหคล้าย ๆ ฟองน้ำนี้เต็มที่ ก็จะกดเส้นเลือดดำที่ไหลออกจากองคชาต ทำให้เลือดไหลออกจากองคชาตได้น้อยมาก องคชาตก็จะแข็งตัวเต็มที่
สาเหตุบอกโรค
ความผิดปกติที่กลไกใด ๆ ก็ล้วนแต่ทำให้เกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ อันได้แก่
- ความล้มเหลวในการเริ่มต้น (Failure to Initiate) อันมีสาเหตุจากปัญหาทางจิตใจ เนื้อเยื่อประสาท และฮอร์โมน
- ความล้มเหลวในการแข็งตัว (Failure to Fill) เกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือดแดง
- ความล้มเหลวในการคงการแข็งตัวไว้ (Failure to Store) จากความผิดปกติของเส้นเลือดดำ ทำให้เกิด Venous Leakage
จากการศึกษาพบว่า สาเหตุด้านร่างกาย (Organic) สาเหตุด้านจิตใจ (Psychogenic) และทั้งสองสาเหตุร่วมกัน (Mixed ED) คิดเป็นร้อยละ 70, 11 และ 18 ตามลำดับ สำหรับสาเหตุทางร่างกายนั้น ที่พบบ่อยมักจะเกิดจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน (Diabetes) เส้นโลหิตแข็งตัว (Atherosclerosis) จากอายุที่มากขึ้นหรือไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease) นอกจากนี้พบได้ในรายที่มีการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง การผ่าตัดกระดูกเชิงกราน หรือการฉายรังสี การผ่าตัดต่อมลูกหมาก และ Multiple Sclerosis เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการดื่มสุราจัด การสูบบุหรี่ และจากยาหลาย ๆ ชนิด
รักษาได้อย่าละเลย
ในอดีตการรักษาจะเริ่มมาจากการใช้ปั๊มสูญญากาศเพื่อดูดเลือดเข้ามาในองคชาตแล้วใช้ยางรัดที่โคนองคชาตไว้ แต่ไม่ได้รับความนิยมเพราะการรัดจะทำให้รู้สึกชา ไม่เป็นธรรมชาติ และการหลั่งน้ำอสุจิจะไม่ค่อยสะดวกเนื่องจากยางที่รัดอยู่ ในยุคต่อมาจะทำการรักษาโดยการผ่าตัดใส่แกนองคชาตเทียมเข้าไป ซึ่งมีทั้งแบบเป็นแท่งแข็งตัวตลอดเวลา จนมาถึงรุ่นปัจจุบันที่มีปั๊มน้ำซ่อนไว้ที่ท้องน้อย เวลาใช้จึงปั๊มให้น้ำไหลเข้ามาในแกนองคชาตเทียม ทำให้องคชาตมีการแข็งตัว เมื่อเลิกใช้ก็ใช้มือกดปุ่มเพื่อให้น้ำออก องคชาตก็จะอ่อนตัวลงได้ แม้ว่ามีราคาแพง แต่ผลการผ่าตัดคนไข้มีความพึงพอใจมาก ในยุค 10 ปีก่อนนี้เริ่มมีการนำยาฉีดเข้าที่องคชาตมาใช้ ปรากฏว่าได้ผลดีมาก แต่เนื่องจากคนไข้จะต้องฉีดยาเข้าที่องคชาตตัวเอง ทำให้กลัวและหลาย ๆ รายมีอาการปวดที่องคชาตภายหลังฉีดเป็นเวลานานจึงไม่เป็นที่นิยมใช้เช่นกัน การรักษาจึงพัฒนามาเป็นยาสอดเข้าที่ท่อปัสสาวะ แต่มีอาการปวดที่องคชาตได้บ่อยเช่นเดียวกับยาฉีด
การรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศนี้มาโด่งดังกันมากเมื่อมีการค้นพบการรักษาที่ง่าย ๆ และมีประสิทธิภาพคือ การรับประทานยากลุ่มที่ยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ Phosphodiesterase-5 (PDE-5 inhibitor) เนื่องจากการกระตุ้นให้องคชาตแข็งตัวนั้น เส้นประสาทในองคชาตจะมีการปล่อยสาร “ไนตริกออกไซด์” ออกมากระตุ้นให้มีการสร้างสารไซคลิกจีเอ็มพี (cGMP) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้มีการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบ Sinusoid ในองคชาต ทำให้องคชาตแข็งตัวดังที่กล่าวมาแล้ว แต่สาร cGMP นี้จะถูกทำลายโดยเอ็นไซม์ PDE-5 ดังนั้นการรับประทานยากลุ่ม PDE-5 inhibitor ก็จะช่วยชดเชยให้การแข็งตัวขององคชาตดีขึ้น โดยยากลุ่มนี้ได้แก่ ยาซิลเดนาฟิล (Sildenafil) และที่ยังอยู่ในระหว่างการวิจัยอีกหลายชนิด เช่น ทาดาลาฟิล (Tadalafil) และวาเดนาฟิล (Vardenafil) โดยให้ทานก่อนมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 1 ชั่วโมง ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้จะคล้าย ๆ กันคือ ทำให้ปวดศีรษะ ร้อนวูบวาบประมาณร้อยละ 10 – 15 เนื่องจากทำให้เส้นเลือดขยายตัว แต่ไม่รุนแรงและเป็นอยู่เพียงชั่วคราว
อย่างไรก็ตามแม้ว่ายากลุ่ม PDE-5 inhibitor จะมีผลการรักษาที่ดีมาก แต่ก็มีข้อห้ามที่สำคัญมากคือ ห้ามใช้ในคนไข้ที่รับประทานยากลุ่มไนเตรต เช่น isosorbide, ISMO และ ยากลุ่มไนโตรกลีเซอรีนทุก ๆ ชนิด ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในคนไข้หัวใจขาดเลือด ซึ่งพบได้มากถึงร้อยละ 15 ของคนไข้โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศเลยทีเดียว เนื่องจากการรับประทานยากลุ่มไนเตรตจะทำให้ระดับของสารไนตริกออกไซด์ ซึ่งปกติมีอยู่น้อยมากในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติมาก ดังนั้นเมื่อทานยากลุ่ม PDE-5 inhibitor เข้าไป ก็จะทำให้ระดับของไซคลิกจีเอ็มพีมากกว่าปกติ ทำให้หลอดเลือดขยายตัวและความดันโลหิตลดลงได้ถึง 30 – 40 มม.ปรอท จึงเป็นอันตรายแก่ผู้ที่รับประทานยาทั้งสองชนิดนี้พร้อม ๆ กันได้ ดังนั้นในคนไข้กลุ่มนี้จึงมีข้อห้ามในการใช้ยากลุ่ม PDE-5 inhibitor
เลือกรักษาให้เหมาะสม
ปัจจุบันแพทย์จะอธิบายวิธีการรักษาแต่ละชนิดให้คนไข้ทราบถึงข้อดีข้อเสีย จากนั้นคนไข้จะตัดสินใจเองว่าชอบวิธีใด คนไข้ส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีง่าย ๆ ราคาเหมาะสม และไม่มีข้อห้ามในการใช้ จึงมักจะเลือกใช้ยารับประทานหรืออมใต้ลิ้น เมื่อไม่ได้ผลจึงทดลองวิธีต่อไป เช่น ยาสอดทางท่อปัสสาวะและการใช้ปั๊มสูญญากาศและจะทำการตรวจเลือดง่าย ๆ เพื่อเช็กเบาหวาน ไขมันในเลือด การทำงานของตับและไต ซึ่งอาจจะมีผลต่อขนาดของยาที่ให้
ในรายที่ไม่ได้ผลจากวิธีง่าย ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะใช้ยาฉีดเข้าโคนองคชาต เพื่อทดสอบดูสภาวะของเส้นเลือดและการตอบสนองต่อยาฉีด ในรายที่ได้ผลและไม่กลัวการฉีดยาเข้าตนเองก็จะเลือกวิธีนี้ แต่ในรายที่ไม่ได้ผลหรือไม่ชอบใจ ก็อาจจะต้องทำการผ่าตัดใส่แกนองคชาตเทียม ส่วนวิธีการผ่าตัดต่อเส้นเลือดที่ตีบจะเลือกใช้ในคนอายุน้อยที่เส้นเลือดตีบจากอุบัติเหตุและไม่เป็นเบาหวานชนิดที่ต้องใช้ยาฉีด อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ภายหลังจากที่ไม่ได้ผลด้วยการรักษาง่าย ๆ นี้จะต้องได้รับการตรวจด้วยวิธีพิเศษขึ้นกับวิธีการรักษานั้น ๆ
คนไข้ที่มีปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาทุกราย หากคนไข้และคู่สมรสไม่รู้สึกเดือดร้อนที่ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่อย่างไรก็ตามคนไข้ที่มีปัญหานี้เป็นข้อบ่งชี้ว่า อาจจะเกิดจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ดังนั้นแม้ว่าไม่ต้องการจะมีเพศสัมพันธ์แล้วก็ควรจะได้รับการตรวจเช็กสุขภาพ