เลสิกไร้ใบมีด (Femto LASIK) นวัตกรรมแห่งการมองเห็น (ตอนที่ 1)

4 นาทีในการอ่าน
เลสิกไร้ใบมีด (Femto LASIK) นวัตกรรมแห่งการมองเห็น (ตอนที่ 1)

หากใครที่เชื่อว่า “การมองเห็น” คือองค์ประกอบสำคัญของการดำรงชีวิต ย่อมเข้าใจถึงความพยายามในการคิดค้นและผลิตนวัตกรรมอันทันสมัยขึ้นมาเพื่อถนอมสายตาและรองรับการแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติในรูปแบบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีการคิดค้นนวัตกรรม ‘การทำเลสิกไร้ใบมีด’ ซึ่งถือเป็นวิทยาการใหม่ที่ไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาปัญหาสายตา แต่ยังช่วยเพิ่มทางเลือกในการแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาสายตาสั้น สายตาเอียง สายตายาวโดยกำเนิด และสายตายาวตามอายุ ซึ่งถือเป็นปัญหาพื้นฐานที่พบมากในปัจจุบัน ด้วยการใช้แสงเลเซอร์เพิ่มความแม่นยำและความปลอดภัยในขั้นตอนของการแยกชั้นกระจกตา ที่มีส่วนสำคัญในการเพิ่มคุณภาพของการมองเห็นและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมโดยรวมต่อไป

 

พญ.ธารินี เสงี่ยมพรพาณิชย์ จักษุแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตาและการแก้ไขสายตาผิดปกติ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ภาวะสายตาผิดปกติเป็นผลของกำลังการรวมแสง (Refractive power) ของตาไม่พอดีกับความยาวลูกตา ทำให้การรวมแสงของตาตกไม่พอดีที่จอประสาทตาและเกิดเป็นภาวะสายตาผิดปกติ (Refractive errors) ที่สามารถแยกออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ คือ สายตาสั้น สายตาเอียง สายตายาวโดยกำเนิดและสายตายาวตามอายุ ส่วนวิธีการแก้ไขนั้นก็สามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพร่างกาย งบประมาณ รวมถึงความชื่นชอบส่วนบุคคล

 

หนึ่งในนั้นก็คือ การใส่แว่นสายตา (Spectacles) ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายมายาวนาน มีความปลอดภัยสูงแต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ความไม่สะดวกในการเล่นกีฬา การประกอบอาชีพบางประเภท เช่น แอร์โฮสเตส รวมถึงปัญหาด้านบุคลิกภาพ  ในส่วนของ การใส่คอนแทคเลนส์ (Contact Lenses) ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความนิยมไม่แพ้การใส่แว่นสายตา แต่หากไม่ดูแลให้ดีอาจก่อให้เกิดปัญหาการติดเชื้อที่กระจกตา นอกจากนี้การใส่คอนแทคเลนส์ยังอาจมาพร้อมกับปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย เช่น อาการแพ้คอนแทคเลนส์หรือน้ำยาล้างเลนส์ รวมถึงข้อจำกัดในการทำกิจกรรมบางประเภท เช่น การว่ายน้ำหรือการอยู่ในที่ที่มีผุ่นควันมาก เป็นต้น ส่งผลให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยหันมาพึ่งวิธีการผ่าตัดภาวะสายตาผิดปกติ (Refractive Surgery) ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมานานหลายสิบปี ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ ทั้งยังมีการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาและสร้างความมั่นใจให้แก่คนไข้ เริ่มตั้งแต่การกรีดกระจกตา (RK หรือ Radial Keratotomy) ไปจนถึงการใช้ Excimer Laser ขัดผิวกระจกตาโดยตรงที่เรียกว่า Photorefractive Keratectomy (PRK)   

 

พญ.ธารินี เสงี่ยมพรพาณิชย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า Photorefractive Keratectomy หรือ PRK เป็นวิธีการผ่าตัดสายตาผิดปกติแบบถาวร โดยการลอกผิวกระจกตาที่อยู่ด้านนอกสุดที่เรียกว่า Epithelium ออก ซึ่งจะทำให้กระจกตามีลักษณะคล้ายผิวถลอกแล้วจึงใช้ Excimer Laser ปรับแต่งความโค้งของผิวกระจกตาโดยตรง วิธีนี้สามาถแก้ไขภาวะสายตาสั้น สายตาเอียงและสายตายาวโดยกำเนิดได้ ถึงแม้ว่า PRK จะมีมานานหลายสิบปีก่อนการทำเลสิก ก็ยังได้รับการยอมรับในแง่ของประสิทธิภาพของการรักษามาจนถึงทุกวันนี้ แต่ก็มีข้อจำกัดในกลุ่มที่มีค่าสายตามากๆ เนื่องจากอาจเกิดฝ้าที่กระจกตาได้ ส่วนการผ่าตัดภาวะสายตาผิดปกติอีกวีธีหนึ่งที่หลายคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีก็คือ ‘การทำเลสิก’ (Lasik) เป็นการผ่าตัดรักษาภาวะสายตาผิดปกติแบบถาวรที่สามารถแก้ไขภาวะสายตาสั้น สายตาเอียง สายตายาวโดยกำเนิด และสายตายาวตามอายุได้  โดยการแยกชั้นกระจกตาส่วนบนเพื่อเปิดขึ้นเป็นฝากระจกตาแล้วจึงใช้ Excimer Laser แก้ไขค่าสายตาลงบนกระจกตาชั้นกลางเพื่อเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาโดยรวม

 

ในบรรดาวิธีการผ่าตัดภาวะสายตาผิดปกติทั้งหมดจะพบว่า ‘การทำเลสิก’ ถือเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมาก ทั้งยังปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ พญ.ธารินี ก็ได้อธิบายว่า การทำเลสิกเป็นการผ่าตัดแก้ไขสายตาที่ประเทศไทยเรานำมาใช้แล้วราว 2 ทศวรรษ ซึ่งผลที่ได้นอกจากคนไข้จะสามารถใช้ชีวิตโดยปราศจากแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์แล้ว ยังพบว่า ‘เลสิก’ กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างบุคลิกภาพและความมั่นใจให้แก่คนไข้ได้เป็นอย่างดี  “จริงๆ การทำเลสิกนี่เริ่มทำกันมานาน  20 กว่าปีแล้ว วิธีการทำก็จะมี 2 ขั้นตอนหลักๆ คือการแยกชั้นกระจกตาเพื่อเปิดออกให้มีลักษณะคล้ายฝา โดยเหลือขั้วเอาไว้ด้านหนึ่ง หลังจากนั้นก็จะใช้เลเซอร์ที่เรียกว่า Excimer Laser ซึ่งเป็นเลเซอร์ที่ไม่ทำให้เกิดความร้อน แม่นยำและอ่อนโยนต่อดวงตายิงลงไปเพื่อแก้ไขสายตา ในอดีตการแยกชั้นกระจกตาจะใช้เครื่องแยกชั้นกระจกตา Microkeratome ซึ่งเป็นใบมีดชนิดพิเศษแยกชั้นกระจกตาส่วนบนเพื่อเปิดขึ้นเป็นฝากระจกตา ต่อมาในระยะหลังเริ่มมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา  ทำให้เราสามารถแยกชั้นกระจกตาด้วยเลเซอร์ โดยใช้เครื่อง Femtosecond Laser จึงซึ่งเป็นที่มาของเลสิกไร้ใบมีด (FemtoLasik) ที่มีความแม่นยำ ด้วยการใช้เลเซอร์ทุกขั้นตอน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดข้อแทรกซ้อนและลดการระคายเคืองหลังผ่าตัด ช่วยให้แผลหายเร็วกว่าการทำเลสิกแบบเดิม”พญ.ธารินี กล่าว

 

FemtoLasik เป็นการผ่าตัดรักษาภาวะสายตาผิดปกติด้วยวิธีการทำเลสิกโดยปราศจากใบมีด (ฺBladeless LASIK) โดยในขั้นตอนของการแยกชั้นกระจกตาจะใช้แสงเลเซอร์ (Femtosecond Laser)แทนการใช้ใบมีด ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้การแยกชั้นกระจกตาสามารถทำได้อย่างปลอดภัยและแม่นยำ ปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้ในการรักษาภาวะสายตาผิดปกติในสถานพยาบาลชั้นนำต่างๆ ทั่วโลก หนึ่งในนั้นก็คือ ศูนยเลสิกกรุงเทพ ที่ได้เลือกใช้เครื่อง Femtosecond Laser รุ่น VisuMax ของ Carl Zeiss ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาเพื่อให้การแยกชั้นกระจกตาสามารถทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ ภายในเวลาเพียง 17-20 วินาที โดยเลเซอร์จะ Focus ลงไปใต้ผิวกระจกตาด้วยความแม่นยำและจะสแกนไปตามความโค้งของกระจกตา มีการสัมผัสที่อ่อนโยน ช่วยให้คนไข้รู้สึกสบายตาในระหว่างการผ่าตัด สามารถลดความคลาดเคลื่อนของการแยกชั้นกระจกตา ลดปัญหาผิวกระจกตาถลอก กระจกตาที่แยกได้มีความเรียบ ใช้เวลาในการผ่าตัดโดยรวมเฉลี่ยข้างละ 15 นาที นอกจากนี้กระจกตายังสมานตัวเร็วช่วยย่นระยะเวลาของการพักฟื้นได้ในอีกทางหนึ่ง

 

ด้วยองค์ประกอบทั้งในด้านเครื่องมืออันทันสมัยและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงประสบการณ์ที่มีมาอย่างยาวกว่า 10 ปี ภายใต้มาตรฐานการรักษา JCI จึงช่วยให้มั่นใจได้ว่า “ศูนย์เลสิกกรุงเทพ” คือทางเลือกที่คุ่มค้าสำหรับการแก้ปัญหาสายตาอย่างครบครัน 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์เลสิก

ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ

จันทร์ - เสาร์ 08.00 - 17.00 น.

อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด