หูฟังเป็นแก็ดเจ็ตที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะช่วยให้ได้ยินเสียงชัดเจน ป้องกันเสียงรบกวนได้ดี สะดวกในการพกพา แต่การใส่หูฟังเป็นประจำอาจเกิดอันตรายได้ ถ้าไม่ระวังในเรื่องของระดับเสียงและระยะเวลาในการใช้ เพราะการฟังเสียงที่ดังมากใกล้หูติดต่อกันเป็นเวลานานทำร้ายหูได้มากกว่าที่คิด จึงควรใช้หูฟังอย่างเหมาะสม
การได้ยินของหู
การได้ยินของหูเกิดจากคลื่นเสียงกระทบแก้วหู ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนที่ส่งต่อไปยังหูชั้นในที่เชื่อมต่อกับหูชั้นในรูปหอยโข่ง ยิ่งเสียงดังการสั่นสะเทือนจะยิ่งแรงขึ้น ดังนั้นการฟังเสียงดังมากเป็นเวลานานจะทำให้สูญเสียความไวต่อแรงสั่นสะเทือน ส่งผลให้สูญเสียการได้ยินชั่วคราว เมื่อฟื้นฟูรักษาสามารถกลับมาได้ยินดังเดิม แต่หากไม่สามารถฟื้นฟูได้ก็อาจสูญเสียการได้ยินถาวร ซึ่งระดับเสียงขณะใช้หูฟังมีความสำคัญมาก หากฟังระดับเสียงที่ดังมากเกินไป หรือฟังระดับเสียงปานกลางติดต่อกันเป็นเวลานานก็เป็นอันตรายต่อหูได้เช่นกัน
ระดับเสียงกับสุขภาพหู
ระดับความดังของเสียงมีหน่วยที่เรียกว่าเดซิเบล (Decibel) โดยเดซิเบล dB (A) คือ สเกลของเครื่องวัดเสียงที่สอดคล้องกับการได้ยินของมนุษย์ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้กำหนดว่าระดับเสียงที่ดังเกินกว่า 85 เดซิเบล (เอ) เป็นอันตรายต่อมนุษย์ หากฟังระดับเสียงนี้มากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันจะเป็นอันตรายต่อประสาทหูจึงควรต้องระวัง
โดยระดับเสียงในชีวิตประจำวันมีหลายระดับ ได้แก่
- ระดับเบามาก [0 – 30 dB (A)] เช่น เสียงกระซิบ
- ระดับเบา [40 – 50 dB (A)] เช่น เสียงพิมพ์ดีด
- ระดับปานกลาง [60 – 70 dB (A)] เช่น เสียงสนทนาทั่วไป
- ระดับดัง [80 – 90 dB (A)] เช่น เสียงจราจร เสียงบนท้องถนน เสียงรถบัส เสียงรถบรรทุก เสียงตะโกน
- ระดับดังมาก [100 – 110 dB (A)] เช่น เสียงขุดเจาะถนน
- ระดับดังมากที่สุด [120 – 140 dB (A)] เช่น เสียงค้อน เสียงเครื่องปั๊มโลหะ เสียงเครื่องบินขึ้น
ใช้หูฟังให้ดีต่อหู
การใส่หูฟังเป็นอันตรายต่อหูเมื่อฟังเสียงดังมากเกินไปจะเสี่ยงกับการหูอื้อ หูตึง มีเสียงรบกวนในหู ซึ่งระยะเวลาและระดับความดังมีผลใกล้กัน ยิ่งใกล้ความเข้มเสียงมาก ความดังยิ่งมาก รวมถึงถ้าฟังนาน ๆ การได้ยินจะลดลงเรื่อย ๆ เซลล์รับฟังเสียงเสื่อมลงเรื่อย ๆ ในที่สุด
นอกจากนี้ในผู้ที่ชื่นชอบการฟังเพลงขณะออกกำลังกาย การใส่หูฟังมักใส่อัดแน่นเข้าไปในรูหู เมื่อเหงื่อออกมีการเปียกเหงื่อ อาจเสียดสีจนอักเสบได้ จึงควรใส่ใจเลือกหูฟังที่สามารถใส่แบบหลวม ๆ ไม่ต้องกดอัดในรูหู เพื่อป้องกันการอักเสบที่เกิดขึ้นกับหู
ผลเสียเมื่อฟังเสียงดังเกินมาตรฐาน
ผลเสียจากการฟังเสียงดังเกินมาตรฐานติดต่อกันเป็นเวลานานได้แก่
- ผลเสียต่อสุขภาพหู : ประสาทหูชั้นในเสื่อมก่อนวัยอันควร เกิดเสียงรบกวนในหู สูญเสียการได้ยิน อาจร้ายแรงถึงขั้นพิการหูหนวก
- ผลเสียต่อสุขภาพจิต : เครียด หงุดหงิด ไม่สบายใจ
- ผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน : เสียบุคลิกภาพ ไม่สามารถสื่อสารกับคนรอบข้างด้วยระดับความดังเสียงที่ปกติได้ ขาดสมาธิ ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน
สัญญาณเตือนหูผิดปกติ
- หูอื้อและหูตึง
- ได้ยินเสียงวิ้งในหู
- ปวดหูเมื่อเสียงดัง
- เปิดทีวีดังจนคนรอบข้างทัก
- มีปัญหาการสื่อสาร เริ่มฟังไม่ชัด
ตรวจวินิจฉัย
- ซักประวัติและระยะเวลาที่มีเสียงรบกวนในหู
- ตรวจการได้ยินเพื่อดูการบกพร่องทางการได้ยิน (Audiometry)
- ตรวจวัดการได้ยินโดยวิธีพิเศษ (Bekesy Audiomety)
- ตรวจวัดการได้ยินในระดับก้านสมอง (Auditory Brainstem Response)
- ตรวจการทำงานของปลายประสาทเซลล์ขน (Otoacoustic Emissions – OAEs)
วิธีการรักษา
การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุเป็นสำคัญ หากสูญเสียการได้ยินหรือเกิดขึ้นกับหูชั้นใน กว่าจะรู้ตัวมักมาพบแพทย์ช้า ทำให้โอกาสในการรักษายิ่งน้อยลง ดังนั้นการสังเกตความผิดปกติจึงเป็นเรื่องสำคัญ หรือการทดสอบการได้ยินเมื่อตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยให้ทราบความผิดปกติได้ แต่หากความผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณหูชั้นนอกและหูชั้นกลางสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดและการใช้ยา ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทาง
ป้องกันหูพังจากหูฟัง
- การใช้งานหูฟังในเด็กระดับเสียงไม่ควรเกิน 75 เดซิเบล ไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในผู้ใหญ่ระดับเสียงไม่ควรเกิน 80 เดซิเบล ไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
- เลือกหูฟังที่ตัดเสียงรบกวนจากภายนอก เพื่อลดการปรับเสียงดังในการฟัง
- ใช้หูฟังแบบแนบหรือครอบหูแทนแบบเสียบหูหรือเอียร์บัด เพราะระยะห่างระหว่างแก้วหูและลำโพงมีมากกว่า ช่วยลดโอกาสในการสูญเสียการได้ยิน
- ทำความสะอาดหูฟังเสมอเพื่อลดความเสี่ยงโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับหู
การใช้หูฟังที่ดีต้องฟังในระดับเสียงที่เหมาะสมและไม่ฟังติดต่อกันนานจนเกินไป เพื่อป้องกันความผิดปกติและความเสื่อมที่จะเกิดขึ้นกับหู ที่สำคัญหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจรักษาโดยเร็ว