เมื่อพูดถึงโรคไส้เลื่อนหลายคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นโรคของผู้ชายเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วผู้หญิงก็สามารถเป็นโรคนี้ได้ และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ หากเป็นไส้เลื่อนไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ แต่ควรรีบเข้ารับการรักษาโดยเร็ว ดังนั้นการรู้จักโรคไส้เลื่อนและหมั่นสังเกตตัวเองให้เป็นคือสิ่งที่ไม่ควรละเลย
รู้จักกับไส้เลื่อน
ไส้เลื่อน (Hernia) คือ ภาวะที่ลำไส้เล็กเลื่อนออกมาจากผนังกล้ามเนื้อหน้าท้องที่บอบบาง เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ แรงดันในช่องท้องที่เพิ่มขึ้นจากการยกหรือออกกำลังกาย แรงเบ่งจากภาวะท้องผูก แรงเบ่งขณะปัสสาวะจากโรคต่อมลูกมากโต ไอเรื้อรังจากการสูบบุหรี่ เป็นต้น
ตำแหน่งไส้เลื่อน
ตำแหน่งที่พบบ่อยเมื่อลำไส้เลื่อนออกนอกช่องท้อง ได้แก่
- ขาหนีบ (Groin Hernia)
- สะดือ (Umbilical Hernia)
- แผลผ่าตัด (Incisional Hernia)
อาการบอกไส้เลื่อน
อาการของโรคไส้เลื่อนนั้น แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่
1) ระดับปกติ
- พบก้อน ตุง นูน
- ก้อนตุงนูนอาจเลื่อนเข้าออกได้
- ปวดหรือไม่ปวดก็ได้
2) ระดับรุนแรง
- พบอาการเหมือนในระดับปกติ
- ลำไส้อุดตันหรือการอักเสบของลำไส้และช่องท้องร่วมด้วย มักพบในกลุ่มที่ปวดและก้อนไม่เลื่อนกลับเข้าที่
- ปวดท้องรุนแรง จากการที่ไส้เลื่อนติดคาคนไม่สามารถกลับเข้าช่องท้องได้
- หากไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือดจนเน่าหรือติดเชื้อในกระแสเลือด
ตรวจวินิจฉัยไส้เลื่อน
แพทย์ผู้ชำนาญการสามารถตรวจวินิจฉัยโรคไส้เลื่อน โดยการซักประวัติอย่างละเอียด จากนั้นทำการตรวจร่างกายทั้งหมด โดยให้ผู้ป่วยลองเบ่งด้วยการไอเพื่อสังเกตดูว่ามีก้อนหรือไม่และอาจมีการคลำผนังหน้าท้องร่วมด้วย แต่หากไม่แน่ชัดในผลการตรวจแพทย์อาจจะให้ผู้ป่วยทำอัลตราซาวนด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์โดยละเอียด
รักษาไส้เลื่อนโดยเร็ว
วิธีการรักษาไส้เลื่อนขาหนีบนั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ผู้ชำนาญการ ได้แก่
- รักษาโดยไม่ผ่าตัด แพทย์อาจให้ยาลดความเจ็บปวดในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหรือร่างกายไม่เหมาะที่จะเข้ารับการผ่าตัด แพทย์จะแนะนำวิธีปฏิบัติตัวเพื่อลดอาการที่เป็นโดยละเอียด
- รักษาโดยการผ่าตัด เป็นวิธีที่แพทย์แนะนำ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้โรคไส้เลื่อนจะรุนแรงขึ้นได้ โดยมีทั้งการผ่าตัดแบบมาตรฐานและการผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งการผ่าตัดแบบมาตรฐานเป็นการผ่าตัดเปิดแผลด้านหน้าเพื่อเข้าไปผูกตัดถุงไส้เลื่อนที่ยื่นออกมา จากนั้นจะทำการเย็บผนังหน้าท้องให้แข็งแรง วิธีนี้มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงและขนาดใหญ่ เพราะนอกจากแผลใหญ่ เกิดความเจ็บปวดมาก ยังใช้เวลาพักฟื้นค่อนข้างนาน และเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ
และอีกวิธีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันคือการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อรักษาโรคไส้เลื่อน โดยแพทย์จะใช้กล้องส่องเข้าไปเพื่อทำการเลาะผนังช่องท้อง โดยจะเห็นรูไส้เลื่อนได้ชัดเจน จากนั้นจึงใส่แผ่นตาข่ายสังเคราะห์คลุมกล้ามเนื้อ เพื่อเสริมความแข็งแรง ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์เป็นสำคัญ โดยวิธีนี้ช่วยให้แผลเล็ก ลดความเจ็บปวด ฟื้นตัวไว ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคไส้เลื่อนทั่วไป ไส้เลื่อนขาหนีบ 2 ข้าง และผู้ที่ผ่านการผ่าตัดแบบเปิดมาแล้วเป็นโรคไส้เลื่อนซ้ำ
MESH REPAIR ป้องกันไส้เลื่อนซ้ำ
หลังผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนอาจมีโอกาสเป็นซ้ำตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ได้ จากปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นหลังผ่าตัด อาทิ ผู้ป่วยไม่หยุดสูบบุหรี่ เบ่งเป็นประจำขณะท้องผูก ยกของหนักหลังผ่าตัด เป็นต้น รวมถึงในผู้สูงอายุเนื้อเยื่อขาดความแข็งแรงก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ แพทย์ผู้ชำนาญการจึงนำ Mesh Repair แผ่นตาข่ายสังเคราะห์เข้ามาใช้ในการผ่าตัดเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อผนังหน้าท้อง เพื่อลดอาการตึงเจ็บและลดโอกาสการเป็นไส้เลื่อนซ้ำ
40++ ระวังไส้เลื่อน
โรคไส้เลื่อนนั้นพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง พบได้ในทุกช่วงอายุ ที่สำคัญเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปทั้งในผู้ชายและผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไส้เลื่อน โดยเฉพาะผู้ชายวัย 40 ที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโตอาจมีโรคไส้เลื่อนร่วมด้วย จากการเบ่งปัสสาวะนาน ๆ จนแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ทำให้ผนังหน้าท้องเกิดความอ่อนแอมากขึ้น ส่งผลให้ลำไส้เล็กเคลื่อนตัวดันออกมาตุงเป็นก้อนโป่ง บางรายอาจไส้เลื่อนไหลลงถุงอัณฑะนานจนรุนแรงถึงขั้นไส้เลื่อนติดคา
ส่วนในผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้นไปอาจเป็นโรคไส้เลื่อนจากการที่แผลผ่าตัดปิดไม่สนิทจากการตั้งครรภ์ ไอจามเรื้อรัง ออกแรงเบ่งจากภาวะท้องผูก ออกกำลังกายซิตอัพ หรือกิจกรรมที่มีการเกร็งหน้าท้อง ยกของหนัก ทำให้ลำไส้เล็กเลื่อนออกมาจากผนังกล้ามเนื้อหน้าท้องที่บอบบาง หากปล่อยทิ้งไว้ขนาดของไส้เลื่อนอาจใหญ่ขึ้นหรืออาจเสี่ยงต่อภาวะไส้เลื่อนอุดตันหรือติดคาได้
หากพบก้อนเนื้อผิดปกติควรพบแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยเร็วว่าเป็นอาการของไส้เลื่อนหรือโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับภาวะช่องท้องหรือไม่ เพราะการทราบชนิดของโรคและทำการรักษาอย่างถูกต้องโดยเร็วที่สุด ไม่เพียงลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น แต่ยังช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี