ไส้เลื่อนเป็นโรคที่ผู้ชายหลายคนกังวลใจเพราะมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้หญิง ที่พบบ่อยที่สุดบริเวณขาหนีบ เนื่องจากผู้ชายสายสตรองที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป จะมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้พละกำลัง เช่น แบกถุงกอล์ฟ จัดสวน ปีนเขา เล่นเวท ออกกำลังกาย โดยมีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อร่วมกับกล้ามเนื้อบริเวณขาหนีบที่มีความหย่อนยานขาดความแข็งแรง เพิ่มโอกาสในการเป็นไส้เลื่อนลงถุงอัณฑะได้
ไส้เลื่อนลงถุงอัณฑะคืออะไร
ไส้เลื่อน (Hernia) คือ อาการที่ลำไส้ไหลออกมานอกช่องท้อง เนื่องจากมีช่องบริเวณผนังหน้าท้อง มีลักษณะเป็นก้อนนุ่มบริเวณหัวหน่าว เห็นได้ชัดเจนเมื่อยืน เดิน แต่หากนอนหงายก้อนจะเล็กลงหรือยุบหายไป เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหน้าท้องไม่แข็งแรง มีรูรั่ว การมีแรงดันในช่องท้องสูงจากพฤติกรรมการยกของหนัก การอุจจาระ การไอ รวมถึงการออกกำลังกายมากกว่าปกติ ซึ่งไส้เลื่อนขาหนีบ (Inguinal Hernia) คือไส้เลื่อนในผู้ชายที่พบได้บ่อยที่สุด ในกรณีที่ลุกลามเลื่อนไปอยู่ในถุงอัณฑะ จะเรียกว่า ไส้เลื่อนลงถุงอัณฑะ จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว
สาเหตุไส้เลื่อนลงถุงอัณฑะ
- ช่องผ่านของอัณฑะปิดตัวไม่สนิททำให้มีช่องโหว่ซึ่งช่องนี้ต้องปิดสนิทตั้งแต่เด็ก
- เบ่งขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
- ออกแรงเบ่งเพื่อยกของน้ำหนักมากเป็นประจำ
- น้ำหนักเกินเกณฑ์ อ้วนมาก
- ไอเรื้อรัง
- ท้องผูกเรื้อรัง
- ตับแข็ง
- ท้องมาน น้ำในช่องท้องเยอะผิดปกติ
- ต่อมลูกหมากโต
ไส้เลื่อนอาการเป็นอย่างไร
โรคไส้เลื่อนถ้ามีอาการมาไม่นานจะพบเป็นก้อนบริเวณขาหนีบร่วมกับอาการจุก สร้างความรำคาญในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าปล่อยไว้นานไส้เลื่อนจะมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้วไหลลงอัณฑะ หรือที่เรียกว่า ไส้เลื่อนลงไข่ หลายคนต้องพยายามใช้มือดันกลับ ซึ่งส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพ รวมถึงอาการที่เป็นมากขึ้น หลายคนต้องซื้อกางเกงในแบบพิเศษมาใส่เพื่อพยุงไส้เลื่อนไว้ แต่เป็นเพียงประคองอาการชั่วคราว ไส้เลื่อนอาจมีขนาดและอาการมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้ ทำให้รักษาได้ยากขึ้นในภายหลัง
กลุ่มเสี่ยงไส้เลื่อนลงถุงอัณฑะ
ผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 60 ปีมักพบไส้เลื่อนลงอัณฑะหรือไส้เลื่อนลงไข่จากการเป็นโรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งในผู้ชายสูงวัยที่ปัสสาวะออกยาก ต้องเบ่ง หรือรอปัสสาวะนาน อาจมีโรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia) การเบ่งปัสสาวะเป็นเวลานานจนแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นผนังหน้าท้องเกิดความอ่อนแอลำไส้เล็กเคลื่อนตัวดันออกมาตุงเป็นก้อนโป่ง
นอกจากนี้คนที่ท้องผูกเป็นประจำอาจมีปัญหาจากการเบ่งในลักษณะเดียวกันผู้ป่วยบางรายไส้เลื่อนไหลลงถุงอัณฑะนาน ๆ เพราะไม่รีบผ่าตัดแก้ไข นำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนอันตรายเมื่อใดก็ได้ อาทิ ไส้เลื่อนติดคา ในรายที่รุนแรงอาจเกิดลำไส้บิดพันกันในไส้เลื่อนจนเกิดลำไส้เน่าตายที่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะฉะนั้นเมื่อพบก้อนเนื้อผิดปกติบริเวณขาหนีบ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายควรต้องพบแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว
ตรวจเช็กไส้เลื่อนลงถุงอัณฑะ
แพทย์ผู้ชำนาญการสามารถตรวจวินิจฉัยโรคไส้เลื่อนได้โดย
- ซักประวัติอย่างละเอียด
- ตรวจร่างกายทั้งหมด ให้ผู้ป่วยลองเบ่งด้วยการไอเพื่อสังเกตดูว่ามีก้อนหรือไม่ อาจคลำผนังหน้าท้องร่วมด้วย
- หากไม่แน่ชัดในผลการตรวจแพทย์อาจจะให้ผู้ป่วยทำอัลตราซาวนด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์โดยละเอียด
ไส้เลื่อนรักษาเองได้ไหม
ถ้าเป็นไส้เลื่อนแล้วใช้มือดันแล้วยุบ เลื่อนเข้าออกได้ นอนแล้วยุบ อาจยังไม่เป็นอันตราย แต่ทำให้เกิดความรำคาญ วิธีรักษาไส้เลื่อนโดยไม่ต้องผ่าตัด คือการรับประทานยารักษาไส้เลื่อนตามที่แพทย์สั่ง เสริมผนังหน้าท้อง หรือใช้การเย็บเนื้อเยื่อเข้าหากัน แต่ในกรณีที่เป็นไส้เลื่อนลงถุงอัณฑะแล้วไส้เลื่อนไม่เคลื่อนตัวจะไม่สามารถรักษาเองได้ จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อให้อาการดีขึ้นและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างคล่องตัว
แนวทางการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนลงถุงอัณฑะ
การผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนลงถุงอัณฑะมีวิธีการรักษาอยู่ 2 แบบคือ
- การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิดหน้าท้อง ทำโดยปิดแผ่นตาข่ายไว้นอกช่องท้อง มีข้อดีคือสามารถทำภายใต้ยาชาเฉพาะที่ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ไม่สามารถดมยาหรือบล็อคหลังได้
- การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery: MIS) แพทย์จะทำการเจาะรูขนาดเล็กจำนวน 3 รูบริเวณผนังหน้าท้องเพื่อนำลำไส้กลับไปอยู่ตำแหน่งเดิม และเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อที่เป็นจุดอ่อนที่ทำให้ไส้เลื่อนเคลื่อนที่ออก ด้วยแผ่นตาข่ายสังเคราะห์ รอยแผลหลังผ่าตัดมีขนาดเล็ก 5 – 10 มิลลิเมตร เจ็บปวดน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว หลายคนเคยได้ข่าวนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติชื่อดังหลายคนก็เคยผ่าตัดลักษณะนี้และสามารถกลับไปเตะฟุตบอลอาชีพได้ในไม่กี่สัปดาห์
ถึงแม้จะทำการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนไปแล้วก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ เพราะฉะนั้นหมั่นสังเกตตรวจเช็กความผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์ทันที
ผ่าตัดผ่านกล้องรักษาไส้เลื่อนอย่างไร
การผ่าตัดไส้เลื่อนผ่านกล้องส่องผนังหน้าท้อง โดยไม่ทำลายเยื่อบุช่องท้อง (Laparoscopic Total Extraperitoneal Hernia Repair : TEP) ลดโอกาสเกิดอันตรายในช่องท้องหลังผ่าตัดและการเกิดพังผืดในช่องท้อง ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทีมศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญด้านผ่าตัดผ่านกล้อง เนื่องจากต้องผ่าตัดเลาะไส้เลื่อนซึ่งใกล้กับอวัยวะสำคัญ ได้แก่ เส้นเลือดและเส้นประสาทขนาดเล็กจำนวนมาก แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันซึ่งใช้กล้องความชัดระดับเทคโนโลยี 4K Ultra High Definition ช่วยให้ศัลยแพทย์มองเห็นอวัยวะต่าง ๆ โดยมีความถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น
นอกจากนี้อุปกรณ์ที่ใช้ยังมีเทคโนโลยีแผ่นตาข่ายสังเคราะห์ชนิดน้ำหนักเบา (Lightweight Mesh) ร่วมกับหมุดยึดตาข่ายชนิดละลายได้ (Absorbable Tackers) หรือ กาว (Medical Grade Glue) เพื่อช่วยลดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย เสียเลือดน้อย ผู้ป่วยกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้เร็ว นอนโรงพยาบาลเพียง 1 – 2 วัน ที่สำคัญหลังผ่าตัดต้องไม่ลืมควบคุมปัจจัยเสี่ยง จะช่วยป้องกันไส้เลื่อนกลับมาเป็นซ้ำได้ดีที่สุด
เตรียมตัวก่อนผ่าตัดไส้เลื่อนอย่างไร
- แจ้งรายละเอียดโรคประจำตัว ยาประจำตัว ประวัติการผ่าตัด ประวัติการแพ้ยาทุกชนิด
- ห้ามดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่อย่างน้อย 2 – 4 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด
- งดน้ำและอาหารก่อนผ่าตัด 6 – 8 ชั่วโมงหรือตามที่แพทย์สั่ง
- มีคนในครอบครัวหรือคนสนิทมาด้วยเพื่อดูแลในช่วงพักฟื้นจนถึงวันกลับบ้าน
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ดูแลหลังผ่าตัดไส้เลื่อนอย่างไร
- ระวังแผลไม่ให้โดนน้ำหรือเปียกชื้น ไม่แกะเกาที่แผล
- เลี่ยงการเบ่งอุจจาระและปัสสาวะแรง ๆ
- หากไอหรือจามให้ใช้ฝ่ามือประคองแผล ถ้าเป็นโรคระบบทางเดินหายใจควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
- งดยกของหนัก 3 เดือนหลังผ่าตัด
- ใส่กางเกงในที่กระชับเพื่อลดปวดและประคองแผล
- หากปวดแผลสามารถรับประทานยาบรรเทาปวดตามที่แพทย์สั่ง
- กรณีที่แผลบวม แยก มีน้ำเหลืองซึม มีไข้ ปวดท้อง ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
วิธีป้องกันไส้เลื่อนลงถุงอัณฑะ
การป้องกันไส้เลื่อนให้ไม่กลับมาเป็นซ้ำหลังจากผ่าตัดไปแล้ว ทำได้โดย
- เลี่ยงยกของหนัก เพราะทำให้เกิดการเบ่ง มีแรงดันในช่องท้องสูง
- งดเบ่งปัสสาวะ โดยเฉพาะในคนที่เป็นต่อมลูกหมากโตต้องรักษาให้หาย ถ่ายปัสสาวะได้คล่อง
- เลิกเบ่งอุจจาระ ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยช่วยให้ระบายได้เอง ไม่ต้องเบ่งจนติดเป็นนิสัย
- ลดการไอ ด้วยการเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอย่าง โรคหวัด การสูบบุหรี่ แต่ถ้าไอควรจิบน้ำอุ่นบ่อย ๆ
ไส้เลื่อนปล่อยไว้นาน ๆ อันตรายไหม
สำหรับผู้ชายที่ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่เมื่ออายุมากขึ้นความเสื่อมย่อมมาเยี่ยมเยือนเพิ่มโอกาสการเป็นไส้เลื่อนลงถุงอัณฑะได้ สิ่งสำคัญคือเมื่อคลำได้ก้อนอย่าอายหรือชะล่าใจ ควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์ผู้ชำนาญจะได้เข้ารับการรักษาโดยเร็ว เพราะการปล่อยทิ้งไว้นานความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นจนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตได้ ส่วนในชายเริ่มสูงวัย หากป่วยเป็นโรคต่อมลูกหมากโตควรรีบรักษาโดยเร็วเพื่อป้องกันไส้เลื่อนซ้ำได้ด้วย
โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษาไส้เลื่อนที่ไหนดี
ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้การดูแลรักษาทุกปัญหาไส้เลื่อน โดยเฉพาะไส้เลื่อนถุงอัณฑะที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์และทีมสหสาขาที่พร้อมดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด พร้อมเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรักษา ตลอดจนการผ่าตัดไส้เลื่อนผ่านกล้องที่ช่วยให้แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างคล่องตัวในทุกวัน
แพทย์ที่ชำนาญการรักษาไส้เลื่อน
นพ.ชนินทร์ ปั้นดี ศัลยแพทย์ด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง คลินิกศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลกรุงเทพ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
แพ็กเกจการผ่าตัดไส้เลื่อน
แพ็กเกจการผ่าตัดไส้เลื่อนราคาเริ่มต้น 250,000 บาท
ดูรายละเอียดราคาแพ็กเกจการผ่าตัดไส้เลื่อนเพิ่มเติมคลิกที่นี่