ผู้ป่วย COVID-19 มีอาการและความรุนแรงของโรคแตกต่างกัน รวมถึงการฟื้นฟูร่างกายได้ไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงควรรู้ถึงอาการระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายหรือที่เรียกว่าโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) เพื่อจะได้รู้เท่าทัน เตรียมพร้อมรับมือ และดูแลตัวเองให้ถูกวิธี
รู้จักกับลองโควิด
โพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) เป็นภาวะหรืออาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากได้รับเชื้อนาน 4 สัปดาห์ไปจนถึง 12 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งอาการที่พบมีหลากหลายและแตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่มักพบในผู้ป่วยโควิด-19 ที่เชื้อลงปอดและมีโรคเรื้อรังร่วมด้วย และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ส่งผลให้ปอดทำงานหนัก ปอดไม่แข็งแรง จากเดิมที่ปอดมีความยืดหยุ่น ปอดจะเริ่มแข็งและอาจเกิดรอยโรคอย่างแผลหรือพังผืดต่าง ๆ ในเนื้อปอด ส่งผลให้แลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ไม่เต็มที่ เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หายใจไม่เต็มปอด และมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
อาการลองโควิดที่พบบ่อย
อาการโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) ที่พบนั้นมีมากมาย แต่อาการที่พบบ่อย ได้แก่
- อ่อนเพลียเรื้อรัง
- เหนื่อยง่าย อ่อนแรง
- หายใจลำบาก หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม
- ปวดศีรษะ
- สมาธิจดจ่อลดลง
- ความจำผิดปกติ
- ไอ เจ็บแน่นหน้าอก
- ปวดกล้ามเนื้อ ข้อต่อ
- ท้องร่วง ท้องเสีย
- จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
- ซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล
รักษาลองโควิด
การหมั่นสังเกตความผิดปกติของตนเองหลังหายจากโควิด-19 เป็นเรื่องสำคัญ เพราะแพทย์จะรักษาโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) ตามอาการเป็นหลัก ดังนั้นหากมีอาการแล้วพบแพทย์โดยเร็ว ย่อมช่วยให้รักษาได้ทันท่วงที นอกจากนี้การตรวจร่างกายเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์จะช่วยให้รู้ทันความผิดปกติที่เกิดขึ้นและดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม
ภาวะแทรกซ้อนจากลองโควิด
ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวที่อาจเกิดจากโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) ได้แก่
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis)
- สมองล้า (Brain Fog)
- ภาวะพร่องทางระบบประสาทอัตโนมัติ (Dysautonomia)
- ภาวะ Guillain – Barre Syndrome
- โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia)
- โรคนอนไม่หลับ (Insomnia)
อย่าออกกำลังมากไป
สำหรับคนที่หายป่วยจากโควิด-19 ยังไม่แนะนำให้ออกกำลังกายมากเกินไปและออกกำลังกายจนเหนื่อยเกินไป ควรปรับให้เป็นการออกกำลังแบบเบา ๆ เช่น เคยวิ่งอาจปรับเป็นเดินก่อน เป็นต้น เพื่อให้ปอดไม่ทำงานหนักจนเกินไปและร่างกายค่อย ๆ ฟื้นตัวและปรับตัวกลับสู่สภาวะที่แข็งแรง
ปัจจุบันภาวะโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือลองโควิด (Long COVID) ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่สามารถทำให้เกิดความผิดปกติกับร่างกายและจิตใจของผู้ที่หายจากโควิด-19 ได้ แพทย์จึงแนะนำให้สังเกตตัวเองอย่างละเอียด ประเมินร่างกายตนเองอยู่เสมอ และฟื้นฟูร่างกายอย่างถูกต้อง หากมีอาการที่รบกวนการใช้ชีวิตต้องรีบพบแพทย์เพื่อรักษาทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้จนรุนแรงและเรื้อรัง