การทดสอบสมรรถภาพปอด

3 นาทีในการอ่าน
การทดสอบสมรรถภาพปอด

การทดสอบสมรรถภาพปอดเป็นการตรวจคุณสมบัติในเชิงสรีระวิทยาด้านต่าง ๆ ของระบบหายใจ เช่น อัตราการระบายอากาศที่หายใจเข้าออก ปริมาตรปอด ความยืดหยุ่นของปอด การแลกเปลี่ยนก๊าซ แรงและความทนของกล้ามเนื้อหายใจ การควบคุมการหายใจ ใช้ค้นหาความผิดปกติของปอด โดยการวัดปริมาตรของลมหายใจเข้า – ออก ใช้การแทนที่ของลมเข้าไปในเครื่องผ่านตัวจับความเปลี่ยนแปลง (Sensor) เทียบกับค่าเฉลี่ยของคนปกติ ซึ่งผลการทดสอบที่ได้สามารถบอกถึงการทำงานของปอด ความรุนแรงของพยาธิสภาพ ซึ่งส่งผลให้เกิดสมรรถภาพปอดลดลง โดยพิจารณาร่วมกับประวัติความเจ็บป่วย อาการ การตรวจร่างกายและสิ่งแวดล้อมและสารสัมผัสต่าง ๆ



ความสำคัญของการทดสอบสมรรถภาพปอด

  • ตรวจหาความผิดปกติของระบบหายใจในกลุ่มเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคปอด มีประวัติความเจ็บป่วยและอาการแสดงของโรคปอดหรือมีความผิดปกติของเอกซเรย์ปอด ผลการวิเคราะห์ก๊าซในเลือดแดงผิดปกติ

  • ประเมินความรุนแรงของโรคปอดที่เป็นอยู่

  • เฝ้าติดตามการดำเนินของโรค

  • ประเมินการตอบสนองต่อยาที่ใช้รักษา

  • ประเมินความเสี่ยงก่อนการผ่าตัด

  • ประเมินผลกระทบของอาชีพและสิ่งแวดล้อมต่อสมรรถภาพปอด

  • ประเมินสมรรถภาพปอดและความผิดปกติ


รูปแบบการทดสอบสมรรถภาพปอด

  1. สไปโรเมตรีย์ (Spirometry) การตรวจสมรรถภาพปอดโดยวิธีการวัดปริมาตรและอัตราการไหลของลมที่หายใจผ่านเข้า – ออกจากปอด

pulmonary-func-test-pic1.jpg

  1. การวัดการตอบสนองต่อยาพ่นขยายหลอดลม (Measurement of Pre and Post Bronchodilator Spirometry)
    การตรวจสไปโรเมตรีย์ก่อนและหลังพ่นยาขยายหลอดลม เพื่อเปรียบเทียบปริมาตรและอัตราการระบายลมที่หายใจเข้าออกจากปอดที่เกิดขึ้นก่อนและหลังการให้ยาพ่นขยายหลอดลม ทั้งนี้สามารถใช้ในการติดตามผลการรักษาและช่วยวินิจฉัยได้ในบางกรณี เช่น ประเมินความรุนแรงของหอบหืด ใช้ช่วยวินิจฉัยโรคหอบหืดที่มีอาการ แต่ตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติ

pulmonary-func-test-pic3.jpg

  1. การวัดปริมาตรและความจุปอด (Measurement of Lung Volumes and Capacities)
    การวัดปริมาตรของลมหายใจหรือปริมาตรอากาศในปอดสัมพันธ์กับการระบายลมหายใจที่ระดับการหายใจต่าง ๆ ของปอด ตั้งแต่การหายใจตามปกติ การหายใจออกเต็มที่ และการสูดลมหายใจเข้าเต็มที่ ทั้งนี้มีโรคและภาวะหลายประการที่ทำให้ปริมาตรปอดเล็กผิดปกติ โดยอาจเกิดจากโรคภายในเนื้อปอดเอง ทำให้เนื้อปอดยืดตัวได้น้อยลง ภาวะน้ำในช่องปอดหรือหัวใจทำให้กดเบียดการขยายของปอด มีโรคของผนังทรวงอกที่ทำให้การขยายของปอดถูกจำกัดหรือมีกล้ามเนื้อหายใจอ่อนแรง ทำให้ไม่มีแรงสูดหรือแรงขับอากาศเต็มที่

pulmonary-func-test-pic2.jpg

  1. การวัดความสามารถซึมซ่านของก๊าซ (Diffusing Capacity)
    ค่าที่บอกความสามารถของก๊าซในการซึมผ่านผนังถุงลมและเส้นเลือดฝอยรอบถุงลมแล้วไหลเข้าสู่เลือดที่ไหลเวียนมาฟอกที่ปอด ทั้งนี้ปัจจัยที่กำหนดอัตราการซึมซ่านของก๊าซขึ้นกับแรงดันของก๊าซในถุงลม พื้นที่ที่มีการแลกเปลี่ยนก๊าซ ความหนาของผนังถุงลมและเส้นเลือดฝอย ปริมาณฮีโมโกลบินและการไหลเวียนของเลือดมายังบริเวณที่มีการแลกเปลี่ยนก๊าซ ซึ่งการตรวจนี้จะช่วยในการวินิจฉัยกลุ่มโรคของเนื้อเยื่อปอด ถุงลมโป่งพอง โรคหลอดเลือดปอดอุดกั้น ใช้ในการติดตามการรักษาการดำเนินของโรคในผู้ป่วยด้วยโรคเนื้อเยื่อปอดและประเมินความสูญเสียของสมรรถภาพปอดในกลุ่มโรคเนื้อเยื่อปอดที่ต้องติดตามเฝ้าระวัง

  2. การทำ Bronchoprovocation หรือ Methacholine Challenge Test (MCT.)
    การทดสอบเพื่อประเมินว่าหลอดลมมีการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นหลอดลมที่ไวกว่าปกติหรือไม่ ช่วยในการวินิจฉัยภาวะที่มีหลอดลมไวผิดปกติ เช่น โรคหอบหืด มีประโยชน์อย่างมากกรณีที่มีอาการที่เข้าได้กับโรค แต่ตรวจร่างกายและตรวจสไปโรเมตรีย์แล้วไม่พบความผิดปกติ

  3. การวัดแรงต้านในหลอดลม (Airway Resistance, Raw)
    การวัดความดันที่เกิดขึ้นในหลอดลมจากการไหลเข้าหรือออกของหลอดลมในการหายใจ 1 ครั้ง โดยแรงต้านในหลอดลมจะมีการเปลี่ยนแปลงไปขึ้นกับสิ่งต่าง ๆ ได้แก่ ขนาดของหลอดลมทั้งเส้นผ่าศูนย์กลางและความยาว พื้นที่โดยรวมของหลอดลม ลักษณะการไหลของลม เช่นไหลวน เกิดสิ่งกีดขวางในทางเดินลม ความจุปอด โดยปอดที่มีความจุโตหรือเต็มจะมีแรงต้านน้อยกว่าปอดที่เล็ก ซึ่งมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคหลอดลมอุดกั้น เช่นโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบและอุดกั้นเรื้อรัง

  4. แรงดันสูงสุดขณะหายใจเข้าและออกเต็มที (Pi-Max และ Pe-Max)
    แรงสูงสุดของกล้ามเนื้อหายใจที่สามารถกระทำได้ในขณะหายใจเข้าหรือหายใจออกแต่ละครั้งว่าสามารถออกแรงได้สูงสุดเพียงใด

  5. ลมหายใจเข้าออกมากที่สุด (MVV)
    การทดสอบความทนของกล้ามเนื้อหายใจเพื่อประเมินสมรรถภาพของกล้ามเนื้อหายใจว่าสามารถหายใจเข้าออกต่อเนื่องได้เท่าใดใน 12 วินาที ทั้งนี้ค่าที่ได้จะเชื่อมโยงถึงแรงและการประสานงานของกล้ามเนื้อหายใจ และคุณสมบัติเชิงกลของระบบหายใจโดยรวมของผู้ป่วย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์โรคปอด และระบบทางเดินหายใจ

ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการทุกวัน 8.00-16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด