หากเป็นโรคข้ออักเสบและเกาต์ย่อมส่งผลให้ร่างกายเกิดความเจ็บปวดและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นการป้องกันโรคข้ออักเสบและเกาต์คือเรื่องที่ต้องใส่ใจ ยิ่งคนที่ป่วยด้วยโรคเกาต์และข้ออักเสบอยู่ก่อนแล้วยิ่งต้องดูแล โดยเฉพาะอาหารการกินเป็นเรื่องที่สามารถเลือกและควบคุมได้ด้วยตนเอง เพื่อให้ห่างไกลจากโรคหรือบรรเทาอาการจากโรคให้เบาบางลง
กินอาหารเลี่ยงเกาต์และข้ออักเสบ
- เลือกรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 สูง เพราะช่วยบำรุงข้อต่อกระดูกและลดอาการอักเสบตามข้อได้ มีข้อมูลจากงานวิจัยปริมาณไขมันทั้งหมด กรดโอเมก้า 6 และกรดโอเมก้า 3 ในปลาทะเลและปลาน้ำจืดของไทย พบว่า ปลาดุกมีกรดไขมันโอเมก้า 3 อยู่ที่ 0.46 กรัม มากกว่าปลากะพงขาว ซึ่งพบ 0.40 กรัม และต้องเลือกวิธีปรุงให้ถูกต้องเพราะโอเมก้า 3 จะสูญสลายไปได้ง่ายหากผ่านความร้อนสูงจึงควรหลีกเลี่ยงการทอด
- รับประทานอาหารที่มีพลังงานต่ำเพื่อควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด โดยควรรับประทานผักต่าง ๆ อย่างน้อย 400 กรัมต่อวันและควรบริโภคโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากเกินไป โดยเน้นโปรตีนไขมันต่ำ โปรตีนจากพืช
- หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เป็นต้น
- กินผลไม้สด เลี่ยงน้ำผลไม้ เพราะมีน้ำตาลสูง
- ควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ 8 – 10 แก้วต่อวัน
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
เมนูทำง่ายเลี่ยงข้ออักเสบ & เกาต์
1) น้ำพริกปลาดุกย่าง
ส่วนผสม
- พริกชี้ฟ้าแห้ง 80 กรัม
- หอมแดง 12 หัว
- กระเทียม 2 หัว
- น้ำมะขามเปียก 4 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลปี๊บ 1/2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปลาแท้ 2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
- คั่วพริกแห้ง หอมแดง กระเทียมพอเกรียม
- ตำพริกหยาบ ๆ ใส่หอมแดง กระเทียมตำให้ละเอียด
- ใส่เนื้อปลาดุกย่างลงไปตำรวมกันให้ละเอียด
- ปรุงรส น้ำปลา น้ำมะขาม น้ำตาล ชิมรสตามชอบ
- รับประทานแกล้มกับผักสดหรือผักลวก
2) ลาบเต้าหู้
ส่วนผสม
- เต้าหู้แข็งสีขาว 1 แผ่น
- หอมแดงซอย 2 หัว
- ต้นหอมซอย 2 ต้น
- ผักชีฝรั่ง 3 ใบ
- ใบสะระแหน่ ตามชอบ
- พริกขี้หนูซอย ตามชอบ
- น้ำปลาแท้ 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมะนาว 3 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทราย
- พริกป่น ตามชอบ
- ข้าวคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
- ใช้ส้อมยีเต้าหู้ให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วคั่วในกระทะจนแห้ง
- ผสมน้ำปลา น้ำมะนาว น้ำตาลทราย พริกขี้หนูซอย หอมแดงซอย ต้นหอมซอย ผักชีฝรั่ง ข้าวคั่ว และใบสะระแหน่ คลุกเคล้าให้เข้ากัน
- รับประทานแกล้มกับผักสด
เพราะอาการปวดข้อส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นข้ออักเสบหรือเกาต์ การดูแลใส่ใจเรื่องอาหารคือหัวใจสำคัญ นอกจากนี้ควรหมั่นสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์ผู้ชำนาญการโดยเร็วเพื่อจะได้ตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด
ข้อมูล : นักกำหนดอาหารและคลินิกโรคข้อและรูมาติสซั่ม โรงพยาบาลกรุงเทพ