มีลูกไม่ได้สักที อาจเพราะเนื้องอกโพรงมดลูก

2 นาทีในการอ่าน
มีลูกไม่ได้สักที อาจเพราะเนื้องอกโพรงมดลูก

หลายคู่ที่วางแผนจะมีบุตร แต่พยายามทุกทางแล้วเจ้าตัวน้อยก็ไม่มาสักที หนึ่งในสาเหตุที่พบมาก แต่คุณผู้หญิงอาจมองข้ามไปนั่นคือ เนื้องอกโพรงมดลูก ที่มีผลทำให้มีบุตรยาก เนื่องจากเนื้องอกไปขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อนและเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของมดลูกขณะตั้งครรภ์ และอาจทำให้แท้งได้ง่าย เนื่องจากเนื้องอกส่งผลให้โพรงมดลูกผิดรูป ดังนั้นการตรวจภายในและอัลตราซาวนด์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

 

รู้จักเนื้องอกโพรงมดลูก

เนื่องจากก้อนที่พบในมดลูกของผู้หญิงนั้นมีทั้งลักษณะของติ่งเนื้อและเนื้องอก ซึ่งที่พบมากจะเป็นเนื้องอกมดลูก โดยจะแบ่งชนิดตามตำแหน่ง ได้แก่ เนื้องอกบริเวณผิวนอกผนังมดลูก เนื้องอกในเนื้อมดลูกหรือในผนังมดลูก และเนื้องอกในโพรงมดลูก

สำหรับเนื้องอกในโพรงมดลูกเกิดจากการที่เนื้องอกมดลูกปูดเข้าไปในโพรงมดลูกโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ตามมา ส่งผลให้มีบุตรยาก มีโอกาสแท้งได้ง่าย ที่สำคัญผู้หญิงทุกคนทุกวัยสามารถเป็นโรคนี้ได้ ซึ่งปัจจัยที่เพิ่มโอกาสในการเป็นเนื้องอกโพรงมดลูกคือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่กระตุ้นเนื้องอกโพรงมดลูกได้ คนที่มีภาวะอ้วนจึงมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากไขมันใต้ผิวหนังสามารถเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ไปกระตุ้นให้โพรงมดลูกให้หนาตัวขึ้น ดังนั้นการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Hysteroscopy) จึงมีความสำคัญ เพราะช่วยให้แพทย์เห็นสภาพภายในโพรงมดลูกอย่างชัดเจน เพื่อวินิจฉัยและรักษาได้ถูกต้อง

 

มีลูกยาก, เนื้องอกโพรงมดลูก, ตั้งครรภ์


อาการบ่งบอกเนื้องอกโพรงมดลูก

  • ประจำเดือนมามาก
  • ประจำเดือนมีลิ่มเลือด
  • ประจำเดือนมาเกิน 1 สัปดาห์หรือนานผิดปกติ
  • ปวดท้องประจำเดือนรุนแรง
  • เลือดออกผิดปกติในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน
  • ปัสสาวะบ่อย

*ในผู้ป่วยบางรายไม่มีการแสดงอาการ

 

มีลูกยาก, เนื้องอกโพรงมดลูก, ตั้งครรภ์


ความรุนแรงของเนื้องอกโพรงมดลูก

หากไม่รีบรักษาโดยเร็วอาจส่งผลให้

  • ท้องยาก
  • แท้งง่าย
  • คลอดก่อนกำหนด
  • การฝังตัวของรกผิดตำแหน่ง
  • ตกเลือดหลังคลอด

รักษาเนื้องอกโพรงมดลูก

วิธีการรักษาเนื้องอกโพรงมดลูกสามารถทำได้โดยการผ่าตัดเนื้องอกผ่านกล้องทางช่องคลอด ซึ่งปัจจุบันด้วยการผ่าตัดส่องกล้องขั้นสูง (MIS –  Advanced Minimal Invasive Surgery) ทำให้ไม่จำเป็นต้องกังวลกับการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ลดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ ฟื้นตัวเร็ว และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ภายใน 1 สัปดาห์ โดยหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องคุมกำเนิดเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือนก่อนกลับมามีบุตร

แม้จะทำการผ่าตัดรักษาเนื้องอกโพรงมดลูกไปแล้วก็สามารถกลับมาเป็นอีกได้ ดังนั้นในผู้ที่ต้องการมีบุตรควรตรวจอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอดกับสูติ-นรีแพทย์เพื่อเช็กเนื้องอกโพรงมดลูกในช่วงที่ไข่กำลังโตแต่ยังไม่ตก นั่นคือวันที่ 12 ของการมีรอบเดือน นับจากวันแรกที่มีรอบเดือนเพื่อผลการตรวจที่แน่ชัด ที่สำคัญควรใส่ใจการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปไม่ควรละเลยอย่างเด็ดขาด


 

ข้อมูลโดย

Doctor Image
พญ. รุ่งทิวา กมลเดชเดชา

สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
พญ. รุ่งทิวา กมลเดชเดชา

สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์สุขภาพสตรี

ชั้น 2 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด