เรื่องภายในของคุณผู้หญิงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจและหมั่นตรวจเช็ก โดยเฉพาะซีสต์รังไข่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่หลายคนคิด เพราะบางครั้งอาจไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า รู้ตัวอีกครั้งแม้จะรักษาได้ก็ส่งผลกระทบกับร่างกายไปมากแล้ว ดังนั้นการเข้าใจเรื่องซีสต์รังไข่และหมั่นสังเกตตนเองจึงเป็นหนทางของการป้องกันและรับมือได้อย่างถูกวิธี
รู้จักรังไข่ให้ดีพอ
รังไข่เป็นอวัยวะขนาดเล็กที่อยู่บริเวณด้านข้างปีกมดลูกทั้ง 2 ข้าง มีหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนต่าง ๆ ของผู้หญิงให้สมดุล โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ช่วยกระตุ้นการมาของประจำเดือน ซึ่งทุก ๆ เดือนรังไข่จะผลิตไข่ใบเล็ก ๆ ออกมา โดยไข่จะเคลื่อนสู่ด่านล่างผ่านท่อนำไข่หรือที่มักเรียกกันว่าการตกไข่ เพื่อให้พร้อมในการผสมกับอสุจิของเพศชาย
ต้นเหตุของซีสต์รังไข่
ซีสต์มีลักษณะเป็นถุงที่เต็มไปด้วยของเหลว ซึ่งสามารถก่อตัวขึ้นได้ในรังไข่ เมื่อเกิดการตกไข่ผิดปกติจะทำให้เกิดการคั่ง มีถุงน้ำในรังไข่ หรือไข่ไม่ตก ทำให้เกิดเป็นถุงน้ำขนาดเล็กในรังไข่ทั้งสองข้าง หรือมีการแบ่งเซลล์ในรังไข่ที่ผิดปกติไป ทำให้รังไข่มีโอกาสเกิดซีสต์ที่รังไข่ได้บ่อยกว่าอวัยวะอื่น ๆ หากพบในคนอายุน้อยมักจะเป็นซีสต์ปกติที่หายได้ แต่ถ้าพบในคนวัยใกล้หมดประจำเดือนอาจเป็นซีสต์ผิดปกติที่มีโอกาสเป็นหรือไม่เป็นมะเร็งก็ได้
ชนิดของซีสต์รังไข่
ซีสต์รังไข่มีหลายชนิดและพบบ่อยในช่วงวัยเจริญพันธุ์ตั้งแต่ 15 – 49 ปี ที่ควรรู้จักไว้มี 5 ชนิด คือ- ซีสต์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการตกไข่ (Functional Cyst) พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิง
- ภาวะที่รังไข่มีถุงน้ำจำนวนมาก (Polycystic Ovaries) เกิดจากการที่ถุงไข่ (Follicle) ที่มีหน้าที่สร้างไข่ เปิดออกไม่ได้จนทำให้ซีสต์ก่อตัวขึ้น
- โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) หากเป็นโรคนี้เนื้อเยื่อจากเยื่อบุโพรงมดลูกจะไปเจริญขึ้นในบริเวณอื่นของร่างกายรวมถึงรังไข่ ทำให้ปวดรุนแรงและส่งผลต่อการมีบุตร
- ซีสต์ที่เซลล์บนพื้นผิวรังไข่ (Cystadenomas) ซีสต์ชนิดนี้ส่วนมากจะมีของเหลวอยู่ด้านใน
- ซีสต์ที่ภายในมีเนื้อเยื่อลักษณะเหมือนกับเนื้อเยื่อส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย (Dermoid Cysts) เช่น เนื้อเยื่อผิวหนัง ผม ฟัน เป็นต้น
อาการต้องสังเกต
ความน่ากลัวของซีสต์รังไข่คือ ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการจนกระทั่งไปพบแพทย์เพื่อตรวจภายใน แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถสังเกตอาการต่าง ๆ เบื้องต้นได้เช่นกัน ดังนี้
- ปวดท้อง
- ปวดปัสสาวะบ่อย ถ่ายปัสสาวะลำบาก
- เจ็บหรือปวดหลังส่วนล่าง
- เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
- ปวดประจำเดือนมาก มีเลือดออกผิดปกติ
ตรวจวินิจฉัยให้ละเอียด
การตรวจวินิจฉัยว่าเป็นซีสต์รังไข่สามารถทำได้โดยสูติ-นรีแพทย์ผู้ชำนาญการ ซึ่งวิธีตรวจที่ช่วยให้แพทย์สามารถเห็นรายละเอียดได้ชัดเจน คือ การอัลตราซาวนด์เพื่อดูอวัยวะในอุ้งเชิงกราน โดยสามารถตรวจได้ 2 วิธีคือ ตรวจผ่านทางหน้าท้องหรือตรวจผ่านทางช่องคลอด ใช้เวลาไม่นานและไม่รู้สึกเจ็บปวด ที่สำคัญคือบอกขนาด รูปร่าง ตำแหน่ง และจำนวนได้อย่างละเอียด ทำให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างตรงจุดชัดเจนและวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
เดอร์มอยด์ซีสต์ไม่ใช่เรื่องลี้ลับ
หนึ่งในความผิดปกติของซีสต์ที่น่าสนใจคือ เดอร์มอยด์ซีสต์ (Dermoid Cysts) เพราะหลายคนมักเข้าใจว่าลักษณะถุงที่ภายในมีไขมัน ฟัน เส้นผม กระดูก และเนื้อเยื่ออื่น ๆ ปะปนอยู่เกิดจากการที่คนมีวิชาอาคมทำของใส่ตามความเชื่อที่บอกเล่ากันมา ซึ่งความจริงแล้วความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นเป็นซีสต์อีกประเภทหนึ่งที่มีชื่อว่า เดอร์มอยด์ซีสต์ เกิดจากการที่เนื้อเยื่อที่ต้องเจริญเติบโตไปเป็นเซลล์ที่ผิวหนังนอกร่างกายเจริญเติบโตผิดที่ไปอยู่ที่ช่องท้องบริเวณรังไข่ ทำให้เกิดซีสต์ที่มีลักษณะเป็นถุงเต็มไปด้วยของเหลวมีไขมัน เส้นผม ฟัน หนังศีรษะ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ความน่ากลัวของเดอร์มอยซีสต์คือ ไม่แสดงอาการล่วงหน้าจนกระทั่งปวดท้องรุนแรงเฉียบพลันทนไม่ไหวแล้วมาพบแพทย์ ซึ่งการรักษาสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดและเมื่อเป็นแล้วมีโอกาสกลับมาเป็นได้อีก
หมดกังวลกับซีสต์รังไข่
ปัจจุบันการรักษาซีสต์รังไข่สามารถทำได้โดยการผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery) ซึ่งข้อดีของวิธีการผ่าตัดแบบนี้คือ ช่วยให้แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ดังเดิม แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายและอย่าละเลยการตรวจภายในเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้งกับสูติ-นรีแพทย์ในผู้ที่ยังไม่เคยเป็น และสำหรับผู้ที่เคยเป็นซีสต์รังไข่แล้ว แนะนำให้พบสูติ-นรีแพทย์ทุก 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี เพื่อจะได้รับมือได้อย่างทันท่วงที