Pharmacogenomics ตรวจวินิจฉัยทางเภสัชพันธุศาสตร์

3 นาทีในการอ่าน
Pharmacogenomics ตรวจวินิจฉัยทางเภสัชพันธุศาสตร์

เพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพการเลือกใช้ยา จากการตรวจพันธุกรรมเชิงลึกด้วยเทคโนโลยี Next – Generation Sequencing (NGS)


ทำความรู้จัก
PHARMACOGENOMICS (DRUG – GENE PROFILE TEST)

การตรวจวินิจฉัยทางเภสัชพันธุศาสตร์ (Pharmacogenomics Test) เป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) มีเป้าหมายเพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยพิจารณาจากข้อมูลการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของรหัสทางพันธุกรรมกับการตอบสนองต่อยาแต่ละชนิด ครอบคลุมทั้งในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยา 

โดยสามารถตรวจได้พร้อมกันหลายชนิดหรือเลือกตรวจแบบจำเพาะ เช่น ในบางกรณีรหัสทางพันธุกรรมอาจบอกได้ถึงความเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง และบางกรณีสามารถทำนายโอกาสในการตอบสนองหรือความเสี่ยงต่อการล้มเหลวจากการรักษาด้วยยาตัวนั้น ๆ ได้ ข้อมูลที่มีความสำคัญเหล่านี้สามารถช่วยให้แพทย์ตัดสินใจเลือกการรักษาได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น


ความสำคัญและประโยชน์ของ PHARMACOGENOMICS

  • เลือกยาจำเพาะกับโรคมากกว่า
    ปัจจุบันนวัตกรรมทางการแพทย์โรคล้วนมุ่งเป้าไปที่วินิจฉัยและการรักษาซึ่งมีความจำเพาะกับโรคมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงผลสำเร็จที่ดีควบคู่ไปกับการลดผลข้างเคียงที่ไม่มีความจำเป็น ซึ่งการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในแนวทางการรักษาตามมาตรฐานรวมไปถึงทางเลือกของการรักษาโรคหลายชนิด เช่น การทำนายการตอบสนองหรือดื้อต่อยาที่เป็นทางเลือกของการรักษาโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น 
  • ปรับขนาดยาได้เหมาะสมกว่าเดิม  
    เมื่อยาเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทาน ฉีด หรือบริหารยาด้วยวิธีอื่น ๆ จะมีกระบวนการมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการดูดซึม การเมแทบอลิซึม การจับกับเป้าหมายเพื่อออกฤทธิ์ ไปจนถึงการกำจัดยาออกจากร่างกาย ซึ่งกระบวนการเหล่านี้อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งความต่างนี้สามารถทราบได้จากการตรวจรหัสพันธุกรรม เช่น บางคนเอนไซม์ที่ใช้ในการเมแทบอลิซึมยาจะทำงานได้มากหรือน้อยกว่าบุคคลทั่วไป การทราบข้อมูลนี้ทำให้สามารถพิจารณาขนาดยาเริ่มต้นและ/หรือปรับขนาดยาได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
  • รู้ความเสี่ยงเพื่อหลีกเลี่ยงตั้งแต่แรกเริ่ม
    การแพ้ยาแบบรุนแรงแม้ว่าจะเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่หากเกิดขึ้นแล้วอาจเป็นอันตรายกับผู้ป่วย ในปัจจุบันมียาหลายชนิดที่การตรวจวินิจฉัยทางเภสัชพันธุศาสตร์สามารถทำนายความเสี่ยงต่อการแพ้ยาหรือเกิดอาการข้างเคียงที่มีความรุนแรงได้ เช่น ความเสี่ยงต่อการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรงแบบ Stevens – Johnson syndrome (SJS) และ Toxic Epidermal Necrolysis (TEN) ในยาลดกรดยูริคในเลือดบางขนิด ซึ่งหากทราบความเสี่ยงก่อนจะสามารถหลีกเลี่ยงได้ 
  • ถึงเป้าหมายการรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น
    ปัจจุบันการเลือกชนิดและขนาดยาที่ใช้กันโดยทั่วไปนั้นจะใช้ข้อมูลจากการศึกษาทางคลินิกของประชากรในกลุ่มใหญ่ อย่างไรก็ตามลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลอาจทำให้ผู้ป่วยแต่ละรายตอบสนองต่อยาที่ได้รับไม่เหมือนกันดังที่กล่าวไปข้างต้น ข้อมูลความแตกต่างนี้จะทำให้แพทย์สามารถเริ่มยาในขนาดที่มีความจำเพาะกับบุคคลนั้น ๆ เพื่อให้ผลการรักษาเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

Pharmacogenomics ตรวจวินิจฉัยทางเภสัชพันธุศาสตร์

ยาที่สามารถทดสอบ PHARMACOGENOMICS

การตรวจวินิจฉัยทางเภสัชพันธุศาสตร์ครอบคลุมยามากกว่า 500 ชนิดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ครอบคลุมยาหลายกลุ่ม มีข้อมูลหลากหลาย ทั้งในด้านประสิทธิภาพ การดื้อต่อการรักษา รวมไปถึงความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียง 

ตัวอย่างกลุ่มยาที่มีข้อมูล อาทิ 

  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • ยาลดไขมัน
  • ยาแก้ปวด
  • ยานอนหลับและยากลุ่มจิตเวช
  • ยากันชัก
  • ยากดภูมิคุ้มกัน
  • ยาที่ใช้ในโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคติดเชื้อ โรคแผลในกระเพาะอาหาร และโรคภูมิแพ้ 
  • ฯลฯ

ทำไมต้องตรวจ PHARMACOGENOMICS ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ

โรงพยาบาลกรุงเทพพร้อมให้บริการตรวจวินิจฉัยทางเภสัชพันธุศาสตร์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพการเลือกใช้ยาจากการตรวจพันธุกรรมเชิงลึกด้วยเทคโนโลยี Next – Generation Sequencing (NGS) ทำให้ทราบการตอบสนองต่อยาและความเสี่ยงต่ออาการแพ้ แพทย์จึงสามารถเลือกตัวยาได้อย่างเหมาะสม ทำให้มั่นใจในการใช้ยาได้อย่างปลอดภัย

                     Precision Medicine

วางแผนสุขภาพค้นหาความเสี่ยงจากการใช้ยา


ข้อมูล : ภญ.ภัทริยา จันทรทรัพย์ แผนกเภสัชกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ

Loading

กำลังโหลดข้อมูล