การเปลี่ยนจากวัยเด็กไปสู่หนุ่มสาวนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่หากเกิดความเปลี่ยนแปลงทางสรีระก่อนวัยอันควร ทั้งเด็กหญิงที่มีไตเต้านมขึ้นก่อนอายุ 8 ปี หรือมีประจำเดือนก่อนอายุ 9 ปี ร่วมกับมีประวัติสูงเร็ว หรือเด็กชายมีอัณฑะขนาดใหญ่ก่อนอายุ 9 ปี อาจมีขนรักแร้ หนวด หรือกลิ่นตัวร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า กำลังเป็นโรคเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย เนื่องจากมีฮอร์โมนเพศมากเกินไป อาจส่งผลกระทบทำให้ตัวเตี้ยเมื่อเป็นผู้ใหญ่ และส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กได้ พ่อแม่และคนใกล้ตัวจึงควรใส่ใจรอบด้าน เพื่อให้สามารถดูแลและแก้ไขปัญหาได้โดยเร็ว ทำให้เด็กเติบโตสมวัย มีพัฒนาการและศักยภาพการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข
เป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย
ภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยหรือสภาวะที่เด็กโตเร็วกว่าปกติ (Precocious Puberty) พบได้ในเด็กทั้งเพศหญิงและชาย โดยจะพบในเด็กหญิงมากกว่าเด็กชายประมาณ 8 – 20 เท่า พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นที่จะต้องหมั่นสังเกต เพราะมักมีความผิดปกติแอบแฝงอยู่
สาเหตุและปัจจัย
เด็กที่เป็นหนุ่มสาวก่อนวัยนั้นแม้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ชัดเจน แต่พบว่าส่วนใหญ่เกิดจาก
- กรรมพันธุ์
ถ้าพ่อแม่มีประวัติเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็ว เช่น พ่อเสียงแตกเร็ว หรือแม่มีประจำเดือนเร็ว ลูกก็อาจจะเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วได้
- สิ่งแวดล้อม
- ภาวะโภชนาการ หากเด็กร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ เช่น เด็กอ้วน ซึ่งปัจจุบันพบมากขึ้นจากการที่กินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น ชอบทานของกรอบ ทอด มัน อาหารไขมันสูง อาหารจานด่วน ก็มักจะเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็วกว่าปกติ
- การได้รับสารหรืออาหารที่มีฮอร์โมนปนเปื้อน โดยเฉพาะเอสโตรเจนสังเคราะห์หรือสารที่ออกฤทธิ์เสมือนเอสโตรเจน
- พยาธิสภาพ
- พยาธิสภาพในสมอง เช่น ก้อนเนื้องอก สมองเคยขาดออกซิเจน หรือเคยติดเชื้อมาก่อน หรือเคยได้รับการฉายรังสีก็จะไปกระตุ้นให้ต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมนเพศมาได้
- พยาธิสภาพในต่อมเพศ เช่น ถุงน้ำในรังไข่ในเด็กหญิงก็จะทำให้มีการสร้างฮอร์โมนเพศมากขึ้น
***แต่พบว่า 90% ของเด็กหญิงที่เป็นสาวเร็วมักไม่มีสาเหตุ ส่วนอีก 10% คือมีพยาธิสภาพ ในขณะที่เด็กชายมักจะมีพยาธิสภาพถึง 90% ดังนั้นในเด็กชายจึงต้องทำการตรวจเพิ่มเติมทุกราย
สัญญาณเตือน
ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่บ่งบอกว่ากำลังเข้าสู่การเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย ได้แก่
เด็กผู้ชาย
- ลูกอัณฑะและองคชาติขยายตัว
- เริ่มมีขนบริเวณอวัยวะเพศและรักแร้
- สิว หน้ามัน กลิ่นตัว และเสียงแตก
- ส่วนสูงเพิ่มขึ้น
เด็กผู้หญิง
- เต้านมเจริญขึ้น
- เริ่มมีขนบริเวณอวัยวะเพศและรักแร้
- สิว หน้ามัน กลิ่นตัว
- สะโพกผาย
- มีตกขาวและประจำเดือน
- ส่วนสูงเพิ่มรวดเร็ว
ผลกระทบของภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย
ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังต่อไปนี้
ด้านร่างกาย
- การที่เด็กมีฮอร์โมนเพศในปริมาณสูงกว่าปกติ จะทำให้เด็กโตเร็วกว่าเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน ฮอร์โมนเพศจะทำให้กระดูกโตเร็วและปิดเร็ว และหยุดการเจริญเติบโต สิ่งที่ตามมาคือ ระยะเวลาการเจริญเติบโตในวัยเด็กจะสั้นลงกว่าเด็กปกติ ทำให้เตี้ยเมื่อเป็นผู้ใหญ่
ด้านจิตใจ
- ในเด็กหญิง เด็กกลุ่มนี้จะมีสรีระร่างกายภายนอกเป็นสาววัยรุ่น ในขณะที่จิตใจยังเป็นเด็ก ทำให้เกิดความไม่สอดคล้องกันระหว่างวุฒิภาวะทางร่างกายและจิตใจ อาจนำไปสู่การล่อลวงได้ง่าย นอกจากนี้ เด็กอาจจะรู้สึกว่าตัวเองมีรูปร่างแตกต่างไปจากเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน อาจจะทำให้โดนล้อเลียนและมีพฤติกรรมแยกตัว ในบางรายอาจมีปัญหาในเรื่องของการดูแลประจำเดือน ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่อยากไปโรงเรียนตามมา
- ในเด็กชาย เนื่องจากฮอร์โมนเพศชายสูงกว่าปกติ นำไปสู่การมีพฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง และมีอารมณ์ทางเพศ
การตรวจวินิจฉัย
วิธีตรวจวินิจฉัยว่าเด็กเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยหรือไม่ เมื่อสงสัยว่าเด็กเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยให้รีบเข้ารับการตรวจร่างกายกับกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อในทันที นอกจากตรวจร่างกายและประเมินการเจริญเติบโตแล้ว แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยตามขั้นตอนดังนี้
- ตรวจอายุกระดูก โดยทำการเอกซเรย์ที่กระดูกข้อมือซ้าย เพื่อประเมินว่ามีอายุกระดูกล้ำหน้ากว่าอายุจริงหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับความสูงสุดท้ายเมื่อเป็นผู้ใหญ่
- ตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมน โดยทำการทดสอบฮอร์โมน GnRH Stimulation Test เพื่อวัดระดับฮอร์โมนเพศในร่างกาย
ป้องกันรักษา
การป้องกันความเสี่ยงในการเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยที่เรียกได้ว่าง่ายที่สุดคือ ควบคุมน้ำหนักของเด็กให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน สิ่งสำคัญคือการให้เด็กรับประทานอาหารตามโภชนาการที่เหมาะสมและออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรงตามวัย
รับมือแบบรู้ทัน
หากเด็กตกอยู่ในภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำคือ
- บอกให้รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น อธิบายตามจริง ห้ามโกหกเด็ดขาด
- ตรวจสอบข้อมูลและให้ความรู้อย่างถูกต้อง
- ถ้าต้องเข้ารับการรักษาให้บอกถึงผลเสียหากไม่รีบรักษา
- หมั่นให้ความรู้เรื่องเพศตามความเหมาะสมเพื่อให้เข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
“พ่อแม่ควรใส่ใจอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ลูกมีร่างกายที่เจริญเติบโตตามวัยอย่างเหมาะสมและเพิ่มศักยภาพในการใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่”