เพราะเด็กต้องการการดูแลที่ใกล้ชิดเพื่อความสมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกาย อารมณ์ จิตใจ พัฒนาการ และพฤติกรรม เตรียมพร้อมเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะสุขภาพฟันก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพราะนอกจากจะช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพยังช่วยให้มีสุขภาพฟันดีไปอีกนาน
รู้จักพัฒนาการเด็ก
เด็กมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละระยะเป็นลักษณะเฉพาะ ขบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ การเจริญเติบโต และพัฒนาการ หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงด้านวุฒิภาวะ (Maturity) ของอวัยวะระบบต่าง ๆ และตัวบุคคล ทำให้เพิ่มความสามารถของบุคคลในการทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำสิ่งที่ยากและซับซ้อนยิ่งขึ้นได้ ตลอดจนการเพิ่มทักษะและความสามารถในการปรับตัวในภาวะใหม่ของบุคคล
พัฒนาการของเด็ก แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่
- พัฒนาการด้านร่างกาย การบังคับกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น ชอบปีนป่ายเตะบอล สามารถขี่จักรยานสามล้อได้
- พัฒนาการด้านสติปัญญา เด็กสามารถที่จะใช้สัญลักษณ์แทนวัตถุและสถานที่ได้ มีทักษะการใช้ภาษาอธิบายสิ่งต่าง ๆ ได้ สามารถที่จะอธิบายประสบการณ์ของตนได้ โดยเด็กในวัยนี้สามารถที่จะวาดภาพพจน์ในใจได้ รวมถึงการใช้ความคิดหรือสร้างจินตนาการและการประดิษฐ์ ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของเด็กในวัยนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณครูส่งเสริมให้เด็กใช้การคิดประดิษฐ์ในการเล่าเรื่องหรือการวาดภาพก็จะช่วยพัฒนาการด้านนี้ของเด็กได้มากยิ่งขึ้น
- พัฒนาการด้านอารมณ์ เด็กในวัยนี้เริ่มมีลักษณะอารมณ์แบบผู้ใหญ่ คือ โกรธ อิจฉา กังวล ก้าวร้าว พอใจ เป็นต้น
- พัฒนาการด้านสังคม เด็กจะสามารถช่วยเหลือตนเองได้ดีขึ้น อาบน้ำ แต่งตัว ใส่รองเท้าเอง บอกเวลาขับถ่าย เข้าห้องน้ำเอง และทำความสะอาดหลังขับถ่ายเองได้ ทั้งนี้เด็กเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตัวเพื่อให้สังคมยอมรับ ทำตัวให้เข้ากลุ่มได้
พัฒนาการเด็กวัย 1 – 4 ปี
พัฒนาการเด็กวัย 1 – 4 ปี ได้แก่
- วัย 1 ปี เริ่มพูดเป็นคำที่มีความหมาย เช่น พ่อ แม่ เลียนเสียง ท่าทาง และเสียงพูดได้
- วัย 1 ปี 3 เดือน ชี้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตามคำบอก ดื่มน้ำจากถ้วย
- วัย 1 ปี 6 เดือน เริ่มเดินได้คล่อง รู้จักขอ และทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้
- วัย 1 ปี 8 เดือน พูดแสดงความต้องการ พูด 2 -3 คำติดต่อกัน เริ่มพูดโต้ตอบ
- วัย 2 ปี สามารถเรียกชื่อสิ่งต่าง ๆ และคนที่คุ้นเคย ตักอาหารกินเอง
- วัย 2 ปี 6 เดือน ซักถาม พูดคำคล้องจอง เลียนแบบท่าทาง หัดแปรงฟัน
- วัย 3 ปี บอกชื่อและเพศตนเองได้ รู้จักให้และรับ รู้จักรอ
- วัย 4 ปี เริ่มซักถามคำว่า “ทำไม” สามารถล้างหน้า แปรงฟันเองได้ บอกขนาด ใหญ่ เล็ก ยาว – สั้น และเล่นรวมกับคนอื่นโดยรอตามลำดับก่อนหลังได้
หน้าที่ฟันน้ำนม
สิ่งที่ควรทำควบคู่ไปพร้อม ๆ กับพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจ คือ สุขภาพของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุขภาพฟัน หน้าที่ของฟันน้ำนม คือ
- ใช้เพื่อบดเคี้ยวอาหาร
- ให้ความสวยงาม
- ให้ความมั่นใจให้กับเด็ก
- สร้างรอยยิ้มและความประทับใจให้แก่ผู้พบเห็น
- ช่วยในการออกเสียงที่ไพเราะ
- ช่วยเก็บที่ให้กับฟันแท้ที่จะขึ้นมาในวันข้างหน้า
ดูแลฟันเจ้าตัวน้อย
ในช่วงวัยเด็กเล็กที่มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย พร้อม ๆ กับการเจริญเติบโตของฟันและขากรรไกร ควรมีการกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยไปด้วยกัน แยกเวลาทานนมและเวลานอนออกจากกัน เพราะเด็กมีโอกาสฟันผุมากขึ้นหากปล่อยให้เด็กดูดนมหลับคาอก หรือหลับคาขวด หรือตื่นขึ้นมาดื่มนมในเวลากลางคืน ไม่แนะนำให้ใช้เครื่องดื่มรสหวานใส่ขวดนม หรือใช้นมปรุงแต่งรส น้ำหวาน น้ำผลไม้ เพราะจะทำให้ฟันผุลุกลามอย่างรวดเร็ว
โดยฟันน้ำนมซี่แรกจะขึ้นเมื่อเด็กอายุราว 6 – 7 เดือน เด็กแต่ละคนมีฟันซี่แรกอาจขึ้นเร็วหรือช้าต่างกัน บางคนมีฟันซี่แรกอาจจะขึ้นตั้งแต่ 3 เดือน หรือบางคนฟันซี่แรกอาจขึ้นหลังจากอายุครบ 1 ขวบปีไปแล้ว แต่ไม่พบบ่อยนัก การขึ้นของฟันน้ำนมมักจะเริ่มจากฟันหน้าล่างแล้วขึ้นไปที่ฟันหน้าบน ทยอยขึ้นจนมีฟันน้ำนมครบ 20 ซี่ เมื่ออายุประมาณ 2 ขวบครึ่งถึง 3 ขวบ ในช่วง 1 – 4 ปี จึงเป็นช่วงสำคัญในการวางรากฐานสุขภาพช่องปากที่ดีสำหรับลูกน้อย เริ่มต้นการรักษาสุขภาพช่องปากตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้นโดยแนะนำให้มีการทำความสะอาดฟันและช่องปากร่วมกับการพบทันตแพทย์สำหรับเด็กตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้นหรือไม่เกิน 6 เดือนหลังฟันซี่แรกขึ้น
ป้องกันฟันผุเจ้าตัวเล็ก
โรคฟันผุเป็นโรคติดเชื้อที่พบได้ง่ายที่สุด มักเกิดจากเชื้อโรคกลุ่ม Strep Mutans ซึ่งมีการใช้น้ำตาลแล้วผลิตเป็นกรด ทำให้เกิดมีการสูญเสียแร่ธาตุของโครงสร้างฟัน เชื้อโรคกลุ่มใหญ่นี้พบได้ทั้งในช่องปากตั้งแต่ฟันยังไม่ขึ้นและส่งต่อได้จากแม่ ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูกน้อย แต่สามารถป้องกันได้หากผู้ปกครองได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจากทันตแพทย์ โดยแนะนำให้
- พบทันตแพทย์ครั้งแรกเมื่อเด็กมีอายุครบ 1 ขวบ โดยทันตแพทย์จะทำการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุของเด็ก พิจารณาการใช้ฟลูออไรด์ที่เหมาะสม ในการให้ฟลูออไรด์เสริมตามความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ ทันตแพทย์จะสอนวิธีทำความสะอาดช่องปากและฟัน เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถได้ฝึกปฏิบัติจริงในเด็ก แนะนำการใช้เลือกใช้แปรงสีฟันและยาสีฟันที่เหมาะสม
- ในเด็กเล็กแนะนำให้ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ในปริมาณน้อยไม่เกิน 1 เม็ดข้าวสารแล้วใช้ผ้าสะอาดช่วยเช็ดฟองออกเพื่อป้องกันการกลืนยาสีฟันในเด็ก
- รับประทานอาหารระหว่างมื้อ ไม่ควรเกิน 2 ครั้งต่อวัน หลีกเลี่ยงการให้ขนมกรุบกรอบ ขนมถุง ลูกอม เยลลี่ น้ำหวาน น้ำอัดลม
- ฝึกรับประทานอาหารให้เป็นเวลา
- ประเมินว่าเด็กมีนิสัยติดจุกนมปลอม ดูดนิ้ว เม้มหรือกัดริมฝีปาก กัดเล็บหรือไม่ ถ้ามีควรเข้ารับการปรึกษาจากทันตแพทย์เพื่อแนะนำการปรับเปลี่ยนนิสัยดังกล่าว
การตรวจฟันครั้งแรกก็เหมือนกับการพาลูกไปฉีดวัคซีนและดูพัฒนาการการเจริญเติบโตของลูกน้อยกับกุมารแพทย์ โดยทันตแพทย์จะให้คำปรึกษาแนะนำผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก ในการดูแลสุขภาพช่องปากเป็นรายบุคคล เพื่อให้ลูกน้อยมีสุขภาพฟันที่แข็งแรง ให้ฟันสวยยิ้มใสตลอดอายุการใช้งานของฟัน