ดวงตาของคนเราสามารถมองเห็นชัดได้ในหลาย ๆ ระยะ โดยจะมีการปรับโฟกัสให้ชัดได้ทั้งระยะไกลและใกล้ โดยมีระบบประสาทอัตโนมัติเป็นผู้ควบคุมการปรับโฟกัสนี้ เวลามองใกล้ระบบประสาทจะส่งคำสั่งมายังกล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ ในลูกตา ซึ่งอยู่รอบ ๆ เลนส์ตาและทำให้เลนส์ในลูกตาโป่งออก เพิ่มกำลังเหมือนเลนส์นูน ทำให้มองใกล้ได้ และมีการคลายตัวลงเมื่อมองไกล
แต่เมื่ออายุมากขึ้นในวัยที่อายุใกล้ 40 ปีหรือมากกว่านั้น กล้ามเนื้อตามัดเล็ก ๆ ที่อยู่รอบ ๆ เลนส์ตาของเรา (Ciliary Muscles) จะเริ่มมีการเสื่อมสภาพลงตามวัยและเลนส์ตาแข็งขึ้น ทำให้ไม่สามารถเพิ่มกำลังของเลนส์ให้โป่งออกเป็นเลนส์นูนให้มองใกล้ได้ด้วยตัวเองอีกต่อไป จึงต้องเริ่มพึ่งพาแว่นสายตายาว ซึ่งจะเป็นเลนส์นูน (มีกำลังเป็นบวก) มาใช้เพื่อให้มองใกล้ได้ดี เหมือนช่วยในยามที่เราไม่สามารถเพ่งเองจนทำเลนส์ให้โป่งออกเองได้แล้ว สายตายาวตามอายุจะเกิดเฉพาะเวลามองใกล้เท่านั้น มองไกลยังมองได้ปกติเหมือนเดิม เพราะมองไกลไม่ได้ต้องใช้กล้ามเนื้อนี้เพ่ง
อาการสายตายาวตามอายุ
-
มองระยะใกล้ (ราว 30 เซนติเมตร) ไม่ชัด ทั้งที่เดิมเคยอ่านชัดเจนมาก่อน หรือจะชัดต่อเมื่อต้องพยายามเพ่งมากขึ้น และมักเกิดอาการไม่สบายตา ทำงานหรืออ่านหนังสือได้ไม่นานเท่าเดิม ล้าง่ายขึ้น
-
มองได้ชัดขึ้นถ้ายื่นมือถอยห่างออกจากระยะเดิมที่เคยอ่านได้ออกไปอีก
-
หากมีสายตาสั้นอยู่เดิมจะต้องถอดแว่นตาออกถึงจะมองใกล้ชัดเจน
รักษาสายตายาวตามอายุ
1) แว่นตา
โดยหลักการจะต้องใส่แว่นที่เป็นเลนส์นูน (มีกำลังเป็นบวก) เพื่อเพิ่มกำลังในการโฟกัสให้มองใกล้ได้ เพื่อทดแทนกำลังมองใกล้ที่สูญเสียไปตามอายุของเรา
ถ้าเดิมสายตาปกติ ไม่เคยใส่แว่นมาก่อน วิธีแก้ไขคือ ใส่แว่นสายตายาว (กำลังเป็นบวก) เฉพาะเวลาต้องการอ่านหนังสือหรือดูระยะใกล้
ถ้าเดิมสายตาสั้น ยาว หรือเอียง และใส่แว่นแก้สายตาเพื่อมองไกลอยู่แล้ว แต่เริ่มใส่แว่นอันเดิมนี้มองใกล้ไม่ได้ วิธีแก้ไขคือ
-
ตัดแว่นมองใกล้เพิ่มอีก 1 อันเป็นเพื่อไว้มองใกล้ ส่วนอันเดิมไว้มองไกล อาจไม่สะดวกต้องใส่ ๆ ถอด ๆ
-
ใช้แว่นเดียวที่มี 2 กำลังในอันเดียวกันหรือเลนส์ 2 ชั้น (ฺBifocal) แว่นจะเห็นเป็นเลนส์ 2 ส่วนในแว่นเดียว เห็นรอยต่อ จะมองเห็นชัด 2 ระยะคือ มองไกลและมองใกล้ ซึ่งมีกำลังต่างกันใน 2 ส่วนนี้
-
ใช้แว่นเดียวที่เป็นเลนส์ที่มีหลายกำลังเรียกว่า เลนส์ชัดหลายระยะแบบไร้รอยต่อ (Progressive Lens) แว่นแบบนี้เลนส์ส่วนบนไล่ลงมาส่วนล่าง มีค่าสายตาไล่ระดับเพื่อให้ส่วนล่างมองใกล้ได้ ส่วนบนไว้มองไกล แต่จะไร้รอยต่อ คือ ดูเหมือนเป็นเลนส์ชิ้นเดียว มองได้ชัดทุกระยะตั้งแต่ใกล้ กลาง ไกล เหมือนมีแว่นหลายตัวอยู่ในแว่นเดียวกัน ทำให้มองเห็นได้หลาย ๆ ระยะ
-
ถ้าสายตาสั้นอยู่เดิมก็ยังคงใช้แว่นเดิมอ่านไกลได้เหมือนเดิม แต่เวลามองใกล้จะไม่ชัด อาจใช้วิธีถอดแว่นอ่านใกล้แทน เพราะคนสายตาสั้นมองใกล้ชัดอยู่แล้ว (แต้ถ้าเดิมเป็นสายตายาว ถอดแว่นเดิมจะยิ่งแย่)
2) Contact Lens
หากเดิมใส่เพื่อแก้ไขสายตาสั้น ยาว เอียงเพื่อให้มองไกลชัดจะต้องใส่แว่นสายตายาวเพื่อมองใกล้จึงจะเห็นได้ชัดเจน ยังมีอีกทางเลือกคือ
-
เปลี่ยนเป็นใช้คอนแทคเลนส์ที่แก้สายตายาวได้ (ฺBifocal หรือ Multifocal Contact Lens) โดยจะมีการเลือกใส่ตาเด่นและตาด้อยในรูปแบบต่างกัน
-
เปลี่ยนกำลังของคอนแทคเลนส์ โดยใช้หลักการตาเด่นใช้มองไกล ตาด้อยใช้มองใกล้ (Monovision) โดยในตาข้างที่เป็นตาด้อยจะปรับกำลังเพื่อใช้มองใกล้ ส่วนข้างที่เป็นตาเด่นยังคงใช้คอนแทคเลนส์กำลังเดิม ต้องอาศัยการปรับตัวและใช้ตา 2 ข้างร่วมกัน
3) LASIK, ReLEx
การผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์ (LASIK, ReLEx) ทำได้หรือไม่ในกลุ่มอายุเกิน 40 ปีที่มีสายยาวตามอายุขึ้นกับหลายปัจจัย
กรณีที่มีแต่สายตายาวตามอายุเพียงอย่างเดียว
- สามารถทำ PRK, LASIK โดยใช้หลักการ Monovision คือ แก้ไขข้างที่เป็นตาด้อยให้สามารถมองใกล้ได้เพียงข้างเดียว ไม่ต้องรักษาในข้างที่เป็นตาเด่น (เก็บไว้มองไกล) ในเครื่องเลเซอร์บางรุ่น เช่น Mel-80 หรือ Mel-90 ของ Zeiss มีโปรแกรมรักษาสายตายาวตามอายุ (Presbyond) ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ในการรักษาสายตายาวตามอายุ เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะ โดยหลังผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยจะสามารถมองระยะไกล ระยะกลาง และใกล้ได้ดีมากขึ้นกว่า Monovision ธรรมดา เนื่องจากคุณสมบัติพิเศษของการยิงเลเซอร์จะช่วยให้มองเห็นครอบคลุมได้หลายระยะมากขึ้นในตาด้อยที่ถูกยิงเลเซอร์ ทำให้ลดการพึ่งพาแว่นอ่านหนังสือ แต่หลังจากผ่าตัดไปแล้วจะต้องมีการใช้เวลาปรับตัวในการใช้สายตาทั้งสองข้างร่วมกัน สมองจะปรับตัวโดยเฉลี่ยประมาณ 1 สัปดาห์ – 1 เดือนแล้วแต่บุคคล ผลการรักษาจะอยู่ได้เฉลี่ยราว 4 – 5 ปี เหมือนช่วยซื้อเวลาที่เราจะต้องมีแว่นอ่านหนังสือไปได้อีกระยะ ดังนั้นเมื่ออายุมากขึ้น สายตายาวตามอายุมากขึ้น อาจต้องมีการเติมเลเซอร์ถ้ายังต้องการให้อ่านใกล้ได้ชัด
กรณีสายตาสั้นยาวแต่กำเนิด หรือเอียง และมียาวตามอายุร่วมด้วย
เลเซอร์ผ่าตัดแก้ไขทำได้หลายวิธี ขึ้นกับความต้องการ คือ- กรณีสายตายาวแต่กำเนิดร่วมกับยาวตามอายุ
-
กรณีสายตาสั้นและเอียง ร่วมกับยาวตามอายุ
– แก้แบบใช้หลักการ Monovision โดย LASIK, PRK หรือ ReLEx SMILE แก้สายตาข้างตาเด่นให้มองไกล และแก้โดยเหลือค่าสายตาสั้นบางส่วนไว้ในตาด้อย เพื่อให้เก็บไว้อ่านที่ใกล้ได้
– แก้แบบ Full Correction ให้มองไกลชัดทั้ง 2 ตา คือ หลังทำเสร็จจะมองไกลชัดเจน แต่ยังคงต้องใส่แว่นมองใกล้อยู่ เพราะไม่ได้แก้สายตายาวตามอายุ
คำถามน่ารู้คนสายตายาว
ใส่แว่นมองใกล้แล้วจะทำให้สายตายาวเพิ่มขึ้นเร็วขึ้นจริงหรือไม่?
คำตอบ
ไม่จริง สายตายาวตามอายุจะเสื่อมไปตามวัย การใส่แว่นนอกจากไม่ได้ทำให้เกิดสายตายาวที่เพิ่มเร็วมากขึ้นแล้ว กลับทำให้สบายตามากขึ้น กล้ามเนื้อตาไม่ต้องเพ่งมากในขณะที่มองใกล้ ลดอาการตาล้าได้