เทคนิคป้องกันภูมิแพ้และหอบหืดในเด็ก

4 นาทีในการอ่าน
เทคนิคป้องกันภูมิแพ้และหอบหืดในเด็ก

เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคภูมิแพ้และโรคหอบหืดในเด็กนั้นมีแนวโน้มมาจากพันธุกรรม ดังนั้นพ่อหรือแม่หรือทั้งพ่อและแม่ที่เป็นโรคภูมิแพ้มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้บุตรมีอาการของโรคภูมิแพ้ได้ แต่ยังโชคดีที่มีกระบวนการช่วยชะลอเวลาหรือป้องกันการเกิดอาการโรคภูมิแพ้หรือโรคหอบหืดในเด็กได้ถ้ารู้เท่าทัน

 

รู้ระวังป้องกันการแพ้อาหาร

โรคภูมิแพ้อาหารอาจส่งผลให้เกิดปัญหา เช่น ผิวหนังอักเสบ ไปจนถึงอาการแพ้ที่คุกคามต่อชีวิตได้ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ควรรู้ให้ทันเพื่อระวังป้องกันการแพ้อาหารให้กับเจ้าตัวเล็ก ได้แก่

  • ทารกที่มีพี่น้องหรือพ่อแม่ที่มีอาการแพ้อาหารมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแพ้อาหารได้ โดยจะแสดงอาการของโรคต่าง ๆ อาทิ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
  • ไม่ควรจํากัดการบริโภคอาหารที่มีสารก่อภูมิแพ้ในช่วงระหว่างคุณแม่ตั้งครรภ์และระหว่างให้นมบุตรเพื่อป้องกันการแพ้อาหารของเด็ก เพราะจากข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า การหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อภูมิแพ้ในช่วงตั้งครรภ์และระหว่างให้นมบุตรไม่ช่วยป้องกันการเกิดอาการแพ้อาหารของเด็ก
  • รู้จักอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่ ถั่วลิสง ถั่วยืนต้น นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง แป้ง สาลี อาหารทะเล เป็นต้น ซึ่งควรค่อย ๆ ให้อาหารกับเจ้าตัวเล็กทีละอย่าง ในช่วง 4 – 6 เดือนแรก เมื่อเจ้าตัวเล็กสามารถรับอาหาร
    ได้แล้ว ค่อย ๆ ให้อาหารประเภทปลาและถั่ว เพราะหากชะลอการให้อาหารประเภทนี้กับทารกช้าเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะพัฒนาโรคภูมิแพ้ได้
  • การให้นมแม่ช่วง 4 – 6 เดือนแรกหลังคลอดเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับทารกได้ ในขณะเดียวกันก็ช่วยชะลอเวลาหรือป้องกันการเกิดโรคผิวหนังอักเสบ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เสียงวี้ดที่เกิดจากการตีบของหลอดลม และการแพ้นมวัว ซึ่งโอกาสที่นมแม่จะกระตุ้นให้เด็กเกิดอาการแพ้เป็นไปได้ยาก เพราะนมแม่ง่ายต่อการย่อยสลายและยังช่วยป้องกันการติดเชื้อในปอดที่กระตุ้นให้เกิดโรคหอบหืดได้ในระยะยาว
  • ทารกที่มีความเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้อาหารและแม่ไม่สามารถให้นมเองได้ แนะนําให้ใช้นมผงสำหรับทารกประเภทไฮโดรไลซ์ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา นมนี้เป็นนมใช้สำหรับทารกที่จะเป็นหรือเป็นภูมิแพ้แล้ว (Hypoallergenic) ที่ใช้แทนนมวัวและนมถั่วเหลือง เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังและแพ้นมได้
  • เสริมผักผลไม้และธัญพืชสำหรับทารกระหว่าง 4 – 6 เดือน โดยสิ่งที่ควรเสริมคือ ผลไม้ (แอปเปิล ลูกแพร์ กล้วย) ผัก (ผักสีเขียว มันหวาน ฟักทอง และแครอท) และธัญพืช (ข้าวหรือข้าวโอ๊ต) เลือกทีละอย่างสลับกันไป และให้ได้ทุก ๆ 3 – 5 วันตามความเหมาะสมเพื่อเสริมความพร้อมในการพัฒนาของทารก วิธีนี้ช่วยให้พ่อแม่หรือพี่เลี้ยงสามารถระบุประเภทของอาหารและหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้อาหารได้
  • ปรึกษาแพทย์ทันทีหากเกิดอาการแพ้ เช่น โรคผิวหนังอักเสบชนิดปานกลางจนถึงชนิดรุนแรง หรือทารกที่มีพี่น้องแพ้ถั่วลิสง 

***ไม่ควรงดอาหาร TOP 5 หรือ TOP 8 เอง โดยยังไม่ได้รับการตรวจยืนยันว่าแพ้จริงหรือไม่ เพราะการงดจะมีผลต่อคุณภาพน้ำนมแม่และส่งผลถึงการเจริญเติบโตของลูกน้อย


เทคนิคป้องกันภูมิแพ้และหอบหืดในเด็ก
รู้ระวังป้องกันภูมิแพ้สิ่งแวดล้อมและหอบหืด

เนื่องจากสสารในอากาศบางชนิดอาจทําให้เกิดอาการแพ้หรือโรคหอบหืดได้ ดังนั้นลดการสัมผัสโดยตรงกับสารก่อภูมิแพ้บางชนิดในช่วงแรกของชีวิตอาจช่วยชะลอเวลาหรือป้องกันอาการแพ้หรืออาการโรคหอบหืดได้ ดังนี้

1. ไรฝุ่น

มีการวิจัยที่บ่งบอกว่า อาการแพ้หรือโรคหอบหืดนั้นเกิดจากไรฝุ่น หากทราบว่าทารกมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคภูมิแพ้ ควรมีวิธีควบคุมไรฝุ่น อาทิ

  • หุ้มหมอนและที่นอนโดยใช้ผ้าที่มีซิปชนิดป้องกันโรคภูมิแพ้
  • นำเครื่องนอนมาซักด้วยน้ำร้อนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  • ควบคุมความชื้นภายในห้องให้ต่ำกว่า 50%
  • ควรนำพรมและเฟอร์นิเจอร์ออกจากห้องนอนของทารก

2. สัตว์เลี้ยงและอื่น ๆ

ความเชื่อมโยงระหว่างการคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงในวัยเด็กกับพัฒนาการของโรคภูมิแพ้และโรคหอบหืดนั้นค่อนข้างซับซ้อนและมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องพิจารณา ก่อนหน้านี้เคยมีหลักฐานชี้ชัดว่า เด็กที่สัมผัสกับสัตว์เลี้ยงมีแนวโน้มที่จะพัฒนาอาการโรคภูมิแพ้และโรคหอบหืดได้ แต่จากผลวิจัยล่าสุดแสดงให้เห็นว่า การใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแมวและสุนัขอาจป้องกันเด็กจากการพัฒนาอาการโรคภูมิแพ้และโรคหอบหืด งานวิจัยใหม่ ๆ ยังแสดงให้เห็นว่า เด็กที่โตในฟาร์มเลี้ยงสัตว์จะเกิดอาการโรคภูมิแพ้และโรคหอบหืดน้อยกว่าเด็กทั่วไป

3. ควันบุหรี่

สิ่งสําคัญที่สุดคือ ไม่ควรให้ทารกได้รับควันบุหรี่ทั้งช่วงก่อนคลอดและหลังคลอด รวมถึงการสูบบุหรี่ในระหว่างตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กมีภาวะหายใจเสียงวี้ด และการที่เด็กได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่นเป็นการกระตุ้นการพัฒนาของโรคหอบหืดและโรคทางเดินหายใจเรื้อรังประเภทอื่น ๆ


ทดสอบโรคภูมิแพ้

การทดสอบโรคภูมิแพ้โดยทั่วไปมีประสิทธิภาพสูง ทดสอบได้กับเด็กทุกเพศทุกวัย เมื่อผนวกกับความรู้ของแพทย์ผู้ชำนาญการด้านภูมิแพ้จะทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถบอกว่าได้ว่าแพ้อะไรไม่แพ้อะไร

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเจ้าตัวเล็กหายใจมีเสียงวี้ดเมื่ออยู่ที่บ้านและไม่ทราบสาเหตุอาจไม่จําเป็นต้องกําจัดแมวที่บ้าน หากผลการทดสอบโรคภูมิแพ้ของเจ้าตัวเล็กแสดงให้เห็นว่าแพ้ไรฝุ่นไม่ใช่แพ้แมว ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคภูมิแพ้สามารถพัฒนาแผนการรักษาเพื่อจัดการหรือขจัดอาการแพ้ของเจ้าตัวเล็กได้


หากเชื่อว่าเจ้าตัวเล็กมีอาการแพ้หรือโรคหอบหืด สิ่งสําคัญคือ การได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์เฉพาะทาง อย่างแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคภูมิแพ้และหอบหืด ซึ่งสามารถวินิจฉัยและรักษาโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืดและโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันได้ 

REF:
https://www.aaaai.org/conditions-and-treatments/library/allergy-library/prevention-of-allergies-and-asthma-in-children

 

ข้อมูลโดย

Doctor Image
พญ. ลินน่า งามตระกูลพานิช

กุมารเวชศาสตร์

พญ. ลินน่า งามตระกูลพานิช

กุมารเวชศาสตร์

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์โรคภูมิแพ้ และหอบหืด

ชั้น 3 อาคาร A โรงพยาบาลกรุงเทพ

วันจันทร์-พฤหัส และอาทิตย์ เวลา 8.00-17.00 น.

วันศุกร์-เสาร์  เวลา 8.00-16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด