เพราะเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดเกิดขึ้นได้แบบไม่คาดคิด ดังนั้นการรู้เท่าทันเมื่อเกิดอุบัติเหตุบริเวณหัวเข่าด้วยการสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นและรู้เท่าทันเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดย่อมช่วยให้เข้าใจและคลายความกังวล
เอ็นไขว้หน้าคืออะไร
เอ็นไขว้หน้า (Anterior Cruciate Ligament – ACL) เป็นเอ็นบริเวณเข่าที่ไขว้กัน มีหน้าที่ช่วยล็อกและป้องกันไม่ให้เข่าหมุน ทำให้เข่ามีความมั่นคงในการเคลื่อนไหว เมื่อเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดจะเกิดอาการเจ็บเข่า เข่าบวม เมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน แม้เข่าจะเริ่มหายเจ็บ แต่จะยังรู้สึกเข่าหลวม โดยสังเกตได้จากการเดิน หากเดินตรงแล้วเปลี่ยนทิศทางแบบกะทันหันหรือเดินซิกแซกจะรู้สึกเหมือนเข่าจะหลุด เพราะหัวเข่าไม่มีเอ็นไขว้หน้าช่วยล็อกไว้
อุบัติเหตุเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดเป็นอย่างไร
จากสถิติทางการแพทย์พบว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุมีการบิดของหัวเข่าแล้วเข่าบวมทันที มีเสียงดัง “ป๊อป” ประมาณ 85% วินิจฉัยได้ว่าเป็นเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด จำเป็นจะต้องไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์จะตรวจเช็กว่าหัวเข่าหลวมหรือไม่ ถ้าเข่าหลวมก็มีโอกาสที่เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด ต้องมีการทำ MRI เพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียด รวมถึงต้องตรวจเช็กหมอนรองกระดูกเข่าว่าฉีกขาดหรือไม่ด้วย เนื่องจากเป็นความบาดเจ็บที่มักจะพบร่วมกัน
การผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดดีไหม
ในอดีตการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดและหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาดจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดใหญ่แบบเปิดแผล แต่ในปัจจุบันการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดและหมอนรองกระดูกฉีกขาด นอกจากช่วยให้แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวได้ไว ยังให้ผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ ประสบความสำเร็จสูงในการผ่าตัด ที่สำคัญช่วยป้องกันความเสื่อมของหัวเข่าในอนาคต จึงแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทาง
สิ่งสำคัญก่อนการผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดคืออะไร
ก่อนการผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดจะมุ่งเน้นใน 2 ส่วนหลักคือ การเคลื่อนไหวของเข่า นั่นคือเข่าควรจะต้องยุบบวมจนเหยียดตรงได้สุดและสามารถงอเข่าได้สุดเสียก่อนจึงจะผ่าตัด และอีกส่วนคือเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยใช้หลักเวชศาสตร์ฟื้นฟู ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ควรทำควบคู่กันก่อนผ่าตัด เพื่อให้ผลการผ่าตัดเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จนในที่สุดเอ็นที่ใส่เข้าไปสร้างเป็นเอ็นไขว้หน้าใหม่ก็จะเชื่อมติดเข้ากับกระดูกจนเป็นเอ็นไขว้หน้าเข่าตามธรรมชาติ
ระยะเวลาในการรักษานานแค่ไหน
การรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง ผู้ป่วยจะสามารถงอเข่าได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรกและฟื้นตัวอย่างรวดเร็วด้วยการทำกายภาพบำบัด อาจจำเป็นต้องใช้ไม้ค้ำยันช่วยประมาณ 3 – 4 สัปดาห์ และหากเย็บซ่อมหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาดร่วมด้วย อาจจำเป็นต้องใช้ไม้ค้ำยันช่วยประมาณ 4 – 6 สัปดาห์หลังการผ่าตัด เนื่องจากหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาดที่เย็บซ่อมแล้วต้องรอการสมานให้ติดกันตามเวลา
การดูแลหลังผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดสำคัญแค่ไหน
หลังผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดการทำกายภาพบำบัดสำคัญมากโดยใน 3 เดือนแรกจะต้องพบแพทย์ตามนัดหมายและแนะนำทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ ประมาณ 1 – 2 ครั้งต่อสัปดาห์ หลังจากนั้นสามารถ ตรวจเช็กกับแพทย์และรับโปรแกรมการทำกายภาพบำบัดไปทำด้วยตนเองที่บ้านได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคน โดยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางเป็นสำคัญ เพราะหากละเลยการกายภาพหลังผ่าตัดจะทำให้เข่าติด งอเข่าได้ไม่สุด และกล้ามเนื้ออาจฝ่อและลีบมากกว่าเข่าข้างที่เป็นปกติ
ด้วยความชำนาญของแพทย์เฉพาะทางและเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งช่วยให้ผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดและหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาดประสบผลสำเร็จในการรักษาซึ่งสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกายกรุงเทพ (Bangkok Academy of Sports and Exercise Medicine) โรงพยาบาลกรุงเทพพร้อมให้การดูแลรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีและกลับมาเล่นกีฬาได้อีกครั้ง เพราะความสำเร็จในการรักษาของเรากับผู้ป่วยคือความสำเร็จเดียวกัน