ผ่าตัดเสริมเอ็นด้านนอกเข่าร่วมกับการผ่าตัดซ่อมเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

2 นาทีในการอ่าน
ผ่าตัดเสริมเอ็นด้านนอกเข่าร่วมกับการผ่าตัดซ่อมเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

การบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในนักกีฬาที่ต้องใช้เข่าในการเคลื่อนไหว และเปลี่ยนทิศทางอยู่เสมอ เมื่อเกิดอุบัติเหตุเข่าบิดและมีเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในข้อเข่า ส่งผลให้ไม่สามารถใช้งานเข่าในการเล่นกีฬาได้ปกติ อีกทั้งยังทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อส่วนอื่น ๆ ในข้อเข่าตามมา เช่น หมอนรองกระดูกเข่าฉีก ผิวข้อกระดูกอ่อนแตก และส่งผลให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควร จึงจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดซ่อมสร้างเอ็นไขว้หน้าเข่า โดยเฉพาะในนักกีฬา ซึ่งการส่องกล้องผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าช่วยให้กลับมาเล่นกีฬาในระดับสูงได้ 


ในปัจจุบันแพทย์อาจพิจารณาแนะนำการผ่าตัดเสริมเอ็นด้านนอกเข่าคล้ายการคาดเข็มขัดเพิ่มเติมให้ข้อเข่า (Lateral Extra – Articular Tenodesis: LET / Anterolateral Ligament Reconstruction: ALL – R) ร่วมกับการผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าในคนไข้บางราย เพื่อลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บซ้ำของนักกีฬาในอนาคต


ผ่าตัดเสริมเอ็นด้านนอกเข่าเหมาะกับใคร

แพทย์อาจพิจารณาแนะนำการผ่าตัดเสริมเอ็นด้านนอกเข่าในข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้

  • ภาวะข้อหลวม เอ็นข้อต่อหย่อน (Generalized Laxity)
  • ตรวจพบข้อเข่าบิดหลวมรุนแรง (High – Grade Pivot Shift)
  • ตรวจพบภาวะเข่าแอ่นมาก (Knee Hyperextension)
  • ตรวจภาพถ่ายรังสีพบมุมของกระดูกหน้าแข้งชันผิดปกติ (Increase Posterior Tibial Slope)
  • นักกีฬาอายุน้อยที่จำเป็นต้องกลับไปเล่นกีฬาที่มีการบิดหมุนข้อเข่า (Young Athletes Returning to a Pivoting Sport)
  • การผ่าตัดซ่อมสร้างเอ็นไขว้หน้าขาดซ้ำ (Revision ACL Reconstruction)

ผ่าตัดเสริมเอ็นด้านนอกเข่าร่วมกับรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

ข้อดีของการผ่าตัดเสริมเอ็นด้านนอกเข่า

จากการศึกษาพบว่ากลุ่มเอ็นด้านนอกเข่า (Anterolateral Complex) มีส่วนสำคัญต่อความมั่นคงของข้อเข่า โดยเฉพาะการป้องกันการบิดหมุนเข่า และมักพบการบาดเจ็บร่วมกับภาวะเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดเป็นประจำ

เมื่อผ่าตัดเสริมเอ็นด้านนอกเข่าร่วมกับการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้า งานวิจัยพบว่าสามารถช่วยเพิ่มความมั่นคงในข้อเข่าและลดแรงกระทำต่อเอ็นไขว้หน้าที่ผ่าตัดได้ และจากการศึกษาในผู้ป่วยอายุน้อยที่มีความเสี่ยงในการบาดเจ็บซ้ำของเอ็นไขว้หน้าเข่ามาก พบว่าเมื่อผ่าตัดเสริมเอ็นด้านนอกเข่าร่วมด้วยจะช่วยลดโอกาสการฉีกขาดซ้ำหลังผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าได้ถึง 3 เท่า

ทั้งนี้แนวทางการฟื้นฟูและกายภาพบำบัดหลังการผ่าตัดนั้นไม่แตกต่างกัน โดยทีมสหวิชาชีพด้านเวชศาสตร์กีฬาจะร่วมกันออกแบบโปรแกรมฟื้นฟูที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยหลังการผ่าตัด เพื่อการกลับมาเล่นกีฬาอย่างปลอดภัย


สิ่งที่ต้องรู้เมื่อผ่าตัดเสริมเอ็นด้านนอกเข่า

  • การผ่าตัดใช้เวลานานขึ้นและจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พิเศษเพิ่มเติม
  • มีแผลเพิ่มเติมด้านนอกเข่า
  • ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบ เช่น ภาวะเลือดคั่งใต้ผิวหนัง หรือ Over Constraint จากการยึดเอ็นด้านนอกผิดตำแหน่ง หรือตึงมากเกินไป


อย่างไรก็ตามทั้งการรักษาแบบไม่ผ่าตัด การผ่าตัดส่องกล้องสร้างเอ็นไขว้หน้าเข่า และการเสริมเอ็นด้านนอกเข่าเพิ่มเติม มุ่งเน้นผลการรักษาที่ดีที่สุดต่อผู้ป่วยและนักกีฬาตามมาตรฐานศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า (FIFA Medical Centre of Excellence) โดยแพทย์เวชศาสตร์การกีฬาเฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่าจะนำปัจจัยหลากหลายของผู้ป่วยมาร่วมพิจารณาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อให้กลับมาเล่นกีฬาได้เต็มศักยภาพอีกครั้ง

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. ภคภณ อิสรไกรศีล

ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์

นพ. ภคภณ อิสรไกรศีล

ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด