การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะกีฬาวอลเลย์บอลที่ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาอาชีพหรือคนทั่วไปก็มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บได้ เพราะฉะนั้นการรู้ทันอาการบาดเจ็บที่พบบ่อยจากการเล่นกีฬาวอลเลย์บอลย่อมช่วยเพิ่มความระมัดระวังและรับมือได้ทันท่วงทีหากเกิดการบาดเจ็บโดยไม่คาดคิด
บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬามี 3 ประเภท คือ
- การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาแบ่งตามระยะเวลาที่เกิด ได้แก่
- การบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน ทันทีทันใด ระยะเวลาไม่เกิน 3 สัปดาห์
- การบาดเจ็บแบบกึ่งเฉียบพลัน ระยะเวลา 3 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 3 เดือน
- การบาดเจ็บเรื้อรัง เป็นการบาดเจ็บต่อเนื่อง มีระยะเวลาเกิน 3 เดือนขึ้นไปเป็นแล้วไม่หาย
- การบาดเจ็บที่เกิดจากแรงกระแทกโดยตรง เรียกว่า การบาดเจ็บรุนแรง (Macro Trauma) เช่น ข้อเท้าแพลง ข้อเคลื่อน กระดูกหัก เป็นต้น
- การบาดเจ็บแบบซ้ำ ๆ แต่ไม่รุนแรง เรียกว่า การบาดเจ็บเล็กน้อย (Micro Trauma) เป็นน้อย ๆ ซ้ำ ๆ หรือการใช้งานกล้ามเนื้อมากเกินไป (Overuse Injury) กลุ่มนี้จะค่อนข้างเรื้อรัง
รูปแบบการบาดเจ็บจากวอลเลย์บอล
รูปแบบการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาของนักกีฬาวอลเลย์บอล มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Timisoara Physical Education and Rehabilitation Journal ซึ่งรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 1984 – 2015 ได้สรุป 5 การบาดเจ็บที่พบบ่อยจากการเล่นกีฬาวอลเลย์บอล ได้แก่
- ข้อเท้าแพลง (Ankle Sprain) เป็นการบาดเจ็บที่พบบ่อยที่สุดในนักกีฬาวอลเลย์บอล พบได้ประมาณ 32% โดยส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณหน้าเน็ตระหว่างการตบเมื่อลูกอยู่เหนือศีรษะอย่างรุนแรง (Spike) หรือการสกัดกั้น (Blogging) โดยจะเกิดในจังหวะการลงพื้นที่มักลงพื้นโดยเหยียบเท้าของคู่ต่อสู้ที่ล้ำเส้นกลางของสนามวอลเลย์บอลเข้ามา หรืออาจจะเหยียบเท้าของเพื่อนร่วมทีมด้วยกันเอง ทำให้เกิดข้อเท้าแพลงได้
- เส้นเอ็นรอบเข่าเคล็ด (Knee Sprain & Strain) พบได้ประมาณ 17% เป็นการอักเสบแบบเรื้อรังของเอ็นลูกสะบ้าเข่าอักเสบ มีงานวิจัยที่น่าสนใจในการเก็บข้อมูลนักวอลเลย์บอลระดับทีมชาติพบว่า นักวอลเลย์บอลทีมชาติที่เล่นมาแล้ว 10 ปี กระโดดไปแล้ว 2 ล้านครั้ง เฉลี่ยใน 1 วัน กระโดดประมาณวันละ 500 ครั้ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เกิดการบาดเจ็บบริเวณขา
- การเคล็ดเคลื่อนของข้อต่อนิ้วมือ (Fingers Joint Sprain) พบได้ประมาณ 13% จากการกระโดดรับลูกตบที่มีความเร็วมากกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รวมถึงบอลจากการจัมป์เสิร์ฟ ถ้านิ้วมือไม่แข็งแรงจะเกิดการเคล็ดขัดยอกได้ หรือบางคนเกิดการเคลื่อน ฉีกขาด ผิดรูปได้ ซึ่งอาจพบในคนที่เพิ่งเริ่มเล่นวอลเลย์บอลใหม่ ๆ มากกว่าในมืออาชีพ ดังนั้นนักกีฬาวอลเลย์บอลที่เล่นกันหนัก ๆ จะต้องเซฟนิ้วอย่างดีเพื่อป้องกันการเคลื่อน โดยต้องใช้เทปพันแบบที่ไม่ใช่ผ้ายืดและฝึกกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของนิ้วมือให้แข็งแรง เพื่อรับแรงกดของลูกบอลที่มีความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไปให้ได้
- ปวดหลังส่วนล่าง (Lower Back Pain) พบได้ประมาณ 12% อาจร้ายแรงถึงขั้นกระดูกสันหลังร้าว อาจมีการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังมาก โดยเฉพาะตัวเซ็ต (Setter) ในทีมวอลเลย์บอลที่มีการเคลื่อนไหวของหลังบ่อยและมีอาการแอ่น เนื่องจากต้องเซ็ตหลายทิศทาง และตัวตบ (Spiker) ที่ต้องกระโดดแอ่นหลังบ่อย ๆ อาจทำให้กระดูกขยับและพับชนกันได้ หรืออาจเกิดจากการล้มกระแทกพื้นในสนามก็ได้เช่นกัน
- เส้นเอ็นไหล่อักเสบหรือฉีกขาด (Shoulder Strain & Sprain) พบได้ประมาณ 12% เพราะกีฬาวอลเลย์บอลเป็นกีฬาที่ใช้แขนใช้มือตบ ใน 1 ฤดูกาลแข่งขัน ซึ่งใช้เวลาแข่งขันประมาณ 2 – 3 เดือนจะมีการตบโดยตัวตบ (Spiker) ด้วยแขนขวาหรือแขนซ้ายตามที่ถนัดจำนวน 40,000 ครั้งต่อฤดูกาลแข่งขัน ซึ่งถ้าไม่แข็งแรงพอหรือเส้นเอ็นรอบ ๆ หัวไหล่มีการบาดเจ็บและจำเป็นต้องตบซ้ำ ๆ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือฉีกขาด และนำมาซึ่งความไม่มั่นคงของข้อหัวไหล่ได้
รักษาการบาดเจ็บจากวอลเลย์บอล
สำหรับการรักษาอาการบาดเจ็บจากวอลเลย์บอลนั้นจะรักษาตามความรุนแรง โดยแบ่งออกเป็น
- บาดเจ็บเล็กน้อย (Mild Degree) อาจแค่ประคบเย็น ให้พัก รับประทานยา
- บาดเจ็บปานกลาง (Moderate Degree) ทำกายภาพบำบัด พักซ้อม
- บาดเจ็บรุนแรง (Severe Degree) ถึงขั้นฉีกขาดหรือเล่นไม่ได้เลย อาจต้องพิจารณาตรวจเพิ่มเติม อาทิ ตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อเช็กว่าเอ็นฉีกหรือมีปัญหาอะไรในข้อไหม อาจต้องทำ MRI เพื่อให้ได้รายละเอียดที่มากขึ้น เพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย และพิจารณารักษาโดยการผ่าตัดต่อไป
ปฐมพยาบาลเบื้องต้นในผู้บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นในผู้บาดเจ็บจากการเล่นกีฬาสามารถใช้หลักการ Price ประกอบไปด้วย
- P (Protection) ป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำ ได้แก่ เฝือกอ่อน ไม้เท้า เป็นต้น
- R (Rest) พักในส่วนที่บาดเจ็บไม่ให้เกิดการบาดเจ็บมากขึ้น
- I (Ice) ใช้น้ำแข็งประคบ เพื่อลดบวม ลดการอักเสบ ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ
- C (Compression) การรัดด้วยผ้ายืดเพื่อไม่ให้เกิดการบวม
- E (Elevation) ยกบริเวณที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อลดบวมของบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ
ปฐมพยาบาลเบื้องต้นในนักกีฬาอาชีพ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นในนักกีฬาอาชีพ ปัจจุบันมีหลักการใหม่ที่มีชื่อว่า Police ประกอบไปด้วย
- P (Protection) ป้องกันส่วนที่ได้รับบาดเจ็บไม่ให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มหรือบาดเจ็บซ้ำ
- O/L (Optimal Loading) การพิจารณาอนุญาตให้นักกีฬาออกกำลังกายด้วยการขยับหรือลงน้ำหนักในบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บให้พอดีไม่มากเกินไปจนเกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมเนื้อเยื่อให้สมบูรณ์และแข็งแรง โดยจะต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา แพทย์กระดูกและข้อ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และนักกายภาพบำบัดที่มีความชำนาญ เพื่อวางแผนร่วมกันในการดูแลรักษา ทั้งนี้อาจมีการใช้ยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ การใช้เลเซอร์ การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อให้หายจากอาการบาดเจ็บโดยเร็วที่สุด
- I (Ice) การประคบเย็นเพื่อลดอาการบวม อักเสบ ไม่ควรวางถุงน้ำแข็งสัมผัสผิวหนังโดยตรง ป้องกัน Ice Burn
- C (Compression) การรัดด้วยผ้ายืดเพื่อลดบวม
- E (Elevation) ยกบริเวณที่บาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อลดบวม
อย่างไรก็ตามวิธีป้องกันการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาแนะนำให้ตรวจร่างกายประจำปีวอร์มร่างกายก่อนและหลังออกกำลังกายหากมีอาการบาดเจ็บแนะนำให้รีบพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด