ถามตอบเรื่องตับที่คุณอยากรู้

5 นาทีในการอ่าน
ถามตอบเรื่องตับที่คุณอยากรู้

มีหลายเรื่องเกี่ยวกับตับที่ควรรู้และเข้าใจให้ถูกต้องเพื่อจะได้ใส่ใจดูแลตับอย่างถูกวิธี หากตับเกิดปัญหาสามารถรักษาได้ทันเวลา กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

1) โรคตับชนิดใด หากเป็นแล้วเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

โรคตับที่เมื่อเป็นแล้วเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ได้แก่ตับแข็งระยะสุดท้าย ตับวายรุนแรงเฉียบพลัน และมะเร็งต้บ 

โดยมีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์และป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบ เพราะตับจะอักเสบทีละน้อยเป็นเวลานาน พัฒนากลายเป็นตับแข็ง เซลล์ตับทำงานได้น้อยลง 

ตับวายรุนแรงเฉียบพลัน จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น เก็บสมุนไพรมารับประทานเอง ซึ่งอาจมีสารพิษต่อตับที่ค่อนข้างรุนแรง รวมถึงการติดเชื้อไวรัสตับชนิดเอและบีในวัยผู้ใหญ่ และมะเร็งตับจากสาเหตุต่าง นั้นล้วนมีอัตราเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที


2) อาการตัวเหลือง ตาเหลืองกำลังบ่งบอกว่าตับผิดปกติอย่างไร

อาการตัวเหลือง ตาเหลืองบ่งบอกว่าตับกำลังผิดปกติได้ 2 ภาวะคือ 

  1. โรคที่เกิดจากตับขับน้ำดีได้ลดลง เช่น ผู้ป่วยตับแข็งระยะท้าย ๆ ตับทำงานได้ไม่ดี ทำให้มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องมาน หรือมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง รวมทั้งผู้ป่วยที่ได้รับสารอาหารทางหลอดเลือดเป็นเวลานาน ตับจึงทำหน้าที่ลดลง 
  2. โรคที่เกิดจากการอุดกั้นของทางเดินน้ำดีจนต้องเข้ารับการผ่าตัด เช่น นิ่วในท่อน้ำดี มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งตับอ่อนส่วนต้น รวมถึงภาวะท่อน้ำดีโป่งพองแต่กำเนิดก็ทำให้มีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองได้เช่นกัน ดังนั้นสาเหตุที่ทำให้ตัวเหลือง ตาเหลืองมีมากมาย ควรต้องพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมและพิจารณาว่าต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหรือรักษาด้วยยา อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.bangkokhospital.com/content/obstructive-jaundice

3) นิ่วในถุงน้ำดีและติ่งเนื้อในถุงน้ำดีต่างกันอย่างไร

นิ่วในถุงน้ำดี และติ่งเนื้อในถุงน้ำดี  มีความแตกต่างกันคือ นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากการตกตะกอนของหินปูนหรือคอเลสเตอรอลในน้ำดี หากมีอาการต้องรีบรักษาทันทีเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ส่วนติ่งเนื้อในถุงน้ำดี ส่วนใหญ่เป็นเนื้อดีที่ไม่ต้องรักษา แพทย์จะให้เริ่มรักษาต่อเมื่อติ่งเนื้อมีขนาดตั้งแต่ 1 เซนติเมตรขึ้นไป เพราะมีความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปเป็นมะเร็งหรือมีเซลล์มะเร็งซ่อนอยู่ โดยการรักษานิ่วในถุงน้ำดีและติ่งเนื้อในถุงน้ำดีที่ดีที่สุดคือ การผ่าตัดถุงน้ำดี ซึ่งไม่ต้องกังวลเพราะแม้จะผ่าตัดถุงน้ำดีออกไปแล้วก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เนื่องจากอวัยวะที่ผลิตน้ำดีคือตับ ถุงน้ำดีเป็นที่พักน้ำดีเท่านั้น 


4) ไขมันพอกตับร้ายแรงแค่ไหน

ไขมันพอกตับเป็นอาการที่บ่งบอกว่าร่างกายมีไขมันมากเกินไป สามารถรักษาได้ด้วยการปรับพฤติกรรม ได้แก่ ควบคุมอาหาร ออกกำลังกายในระดับความเหนื่อยที่สามารถพูดเป็นประโยคได้ ครั้งละ 30 – 45 นาที อย่างน้อย  2 – 3 วันต่อสัปดาห์ และตรวจเช็กสุขภาพตับเป็นประจำทุกปี ไขมันเกาะตับเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย หากร่างกายมีไขมันพอกตับมากเกินไปอาจนำไปสู่โรคมะเร็งตับได้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bangkokhospital.com/content/fatty-liver


5) จุดในตับอันตรายแค่ไหน

จุดในตับที่พบส่วนใหญ่มักเป็นเนื้อดีที่ไม่จำเป็นต้องทำการรักษา แต่ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งการตรวจดังกล่าวมีความชัดเจนสูงและหากก้อนที่พบมีขนาดเล็กแนะนำให้ตรวจติดตามทุก 4 – 6 เดือน อย่างน้อย 2 ปี เมื่อก้อนไม่มีการเปลี่ยนแปลงขนาดไปจากเดิมก็จะสามารถกลับมาตรวจเช็กสุขภาพตับปีละครั้งได้ตามปกติ


6) ปานแดงในตับพัฒนาเป็นมะเร็งตับได้หรือไม่

ส่วนใหญ่ปานแดงในตับที่พบมักเป็นก้อนเนื้อดีมีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งตับได้น้อยมากและมีโอกาสแตกน้อยมากจึงแทบไม่จำเป็นต้องรักษาแต่หากปานแดงในตับไปกดเบียดอวัยวะใกล้เคียงจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาทันทีจึงแนะนำให้ตรวจเช็กสุขภาพตับกับแพทย์เฉพาะทางเป็นประจำทุกปี


7) ผู้ป่วยที่สามารถเข้ารับการผ่าตัดตับได้

  • ผู้ป่วยที่พบก้อนเพียงก้อนเดียว และตับสามารถทำงานได้ดี ทำงานได้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ถ้าตับทำงานได้ไม่ดีหรือเหลือเนื้อตับน้อยเกินไป ผ่าตัดตับแล้วผู้ป่วยอาจเสียชีวิตหลังผ่าตัดได้ 
  • ผู้ป่วยที่พบก้อนจำนวนไม่มาก คือ (น้อยกว่า 3 ก้อน) เมื่อทำการผ่าตัดก้อนออกแล้วยังคงเหลือเนื้อตับที่สามารถทำงานได้เพียงพอ
  • ผู้ป่วยมะเร็งที่มะเร็งยังไม่มีการกระจายไปอวัยวะอื่น เพราะหากกระจายไปแล้ว การผ่าตัดไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น 

ถามตอบเรื่องตับที่คุณอยากรู้

8) มะเร็งตับมีโอกาสหายขาดหรือไม่

มีผู้ป่วยมะเร็งตับเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่พบว่าอยู่ในระยะที่สามารถผ่าตัดรักษาตับได้  และแม้จะผ่าตัดรักษาจนหายดีแล้ว มะเร็งตับสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้และมะเร็งตับส่วนใหญ่พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง การรักษามะเร็งตับโดยการผ่าตัดตับเป็นวิธีการรักษาเดียวที่สามารถหวังผลการหายขาดจากโรคและเพิ่มอัตราการรอดชีวิตที่ยืนยาวได้ 


9) ข้อจำกัดในการผ่าตัดรักษามะเร็งตับด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนตับ

การผ่าตัดรักษามะเร็งตับหากผ่าตัดสำเร็จผู้ป่วยมีโอกาสมีชีวิตอยู่ต่อได้นานประมาณ 10 ปีหรือมากกว่านั้น แต่มีข้อจำกัดคือ ผู้ป่วยต้องรอผู้บริจาคตับที่เข้ากันได้ ซึ่งอาจใช้เวลานาน นอกจากนี้ผู้ป่วยที่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้จะต้องเป็นผู้ป่วยที่เหมาะสม นั่นคือมีมะเร็งเพียง 1 ก้อนขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตร หากมีมะเร็งหลายก้อน ไม่ควรเกิน 3 ก้อน และแต่ละก้อนขนาดไม่เกิน 3 เซนติเมตร ไม่มีการกระจายของมะเร็งไปที่อื่น ซึ่งการผ่าตัดมีความซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูงมาก และหลังผ่าตัดผู้ป่วยต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต 


10) ทำไมมะเร็งตับเป็นแล้วอยู่ต่อได้อีกไม่นาน

ผู้ป่วยมะเร็งตับส่วนมากไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยที่แสดงอาการมักเป็นในระยะที่มะเร็งแพร่กระจายแล้ว ทำให้ไม่สามารถผ่าตัดรักษาได้ ซึ่งจะมีอัตราการรอดชีวิตอยู่ที่ 3 – 6 เดือน หากป่วยมะเร็งตับร่วมกับตับแข็งอัตราการรอดชีวิตจะอยู่ที่ 1 – 3 เดือน ดังนั้นการตรวจคัดกรองในผู้ที่มีความเสี่ยงมะเร็งจึงมีความสำคัญมาก เพราะหากเจอตั้งแต่ระยะเริ่มต้นผู้ป่วยมีโอกาสหวังผลหายขาดได้ 


11) ตับงอกได้จริงไหม

มีความเข้าใจผิดว่าตับสามารถงอกใหม่จนเหมือนเดิมได้ แต่ความจริงแล้วแม้ตับจะเป็นอวัยวะเดียวในร่างกายที่เซลล์ตับสามารถงอกใหม่ได้ แต่เมื่องอกใหม่แล้วตับจะไม่เหมือนเดิม เพียงแต่มีขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตตามปกติในชีวิตประจำวัน 


12) ฟ้าทะลายโจรมีผลต่อตับหรือไม่

ยาทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นแผนไทยหรือแผนปัจจุบันหากรับประทานมากเกินไปย่อมมีอันตรายต่อตับ ดังนั้นไม่ว่าจะรับประทานยาชนิดใดควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้นเพื่อจะได้ควบคุมชนิดและขนาดยาที่เหมาะสม สำหรับฟ้าทะลายโจรหากรับประทานใบสด ๆ ที่สกัดมาโดยไม่มีการชั่ง ตวง วัด อาจทำให้ตับอักเสบรุนแรงได้ จึงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน


13) ไวน์ดื่มแล้วมีผลต่อตับหรือไม่

หลายคนมักเข้าใจผิดว่าไวน์ส่งผลต่อตับเล็กน้อยหรือไม่ส่งผลต่อตับเหมือนกับเบียร์และเหล้าแต่ความจริงแล้วเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดล้วนมีผลทำให้ค่าตับอักเสบสูงขึ้นได้ซึ่งขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละบุคคลยกตัวอย่างหากดื่มเบียร์กระป๋องติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 10 ปีมีโอกาสเป็นตับแข็งได้


14) ใครหรือช่วงอายุใดควรตรวจเช็กสุขภาพตับ

แนะนำให้ผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปและผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภาวะตับแข็ง ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี เข้ารับการตรวจเช็กสุขภาพตับเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ในผู้ที่มีประวัติครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งตับหรือผู้ที่มีความเสี่ยงมะเร็งตับควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับร่วมด้วย การตรวจเช็กสุขภาพตับมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจการทำงานของตับ โดยจะตรวจดูค่าการอักเสบของตับเป็นหลัก รวมทั้งตรวจเช็กพังผืดในตับที่จะนำไปสู่ภาวะตับแข็ง 


15) โปรแกรมฟื้นตัวไวหลังผ่าตัด ERAS ดีอย่างไร

โปรแกรม ERAS: Enhanced Recovery After Surgery Program มีประโยชน์กับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดตับ เพราะสามารถวางแผนการรักษาได้ตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ระหว่างผ่าตัด และหลังผ่าตัด โดยทีมแพทย์เฉพาะทาง พยาบาล และสหสาขาวิชาชีพที่มีความชำนาญ ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนขณะผ่าตัด ให้ผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว และกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างมีคุณภาพ สนใจคลิก https://www.bangkokhospital.com/page/be-stong-for-surgery

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์ศัลยกรรม

ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

ทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด