การรักษาด้วยคลื่นวิทยุ
การรักษาด้วยคลื่นวิทยุเป็นการรักษาโดยการใช้คลื่นวิทยุปล่อยเข้าไปในบริเวณเนื้อเยื่อที่อุดกั้นทางเดินหายใจ พลังงานจากคลื่นวิทยุจะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนที่ควบคุมอุณหภูมิไว้ ไม่ให้สูงมากนัก ความร้อนที่ไม่สูงมากนี้จะไม่ทำลายเซลล์หรือเนื้อเยื่อ แต่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโปรตีน มีผลทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่ต้องการเกิดการหดตัวลง ด้วยหลักการนี้จึงนำมาใช้ในการรักษาอาการกรน ซึ่งมักจะมีสาเหตุมาจากการที่มีเนื้อเยื่อในช่องทางเดินหายใจที่ใหญ่หรือหนาตัวมากกว่าปกติ ทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น เสียงกรน และภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับหายไป
สำหรับอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดคลื่นวิทยุเป็นอุปกรณ์ที่มีการใช้รักษาโรคต่าง ๆ มานานมากกว่า 30 ปี โดยใช้ในการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งไม่พบว่ามีผลเสียใด ๆ จากการใช้เครื่องมือดังกล่าว จึงมั่นใจได้ว่า การนำเครื่องมือนี้มาใช้ในการรักษาอาการกรนจะไม่ทำให้เกิดผลเสียใด ๆ ต่อร่างกาย
ข้อดีของการรักษาด้วยคลื่นวิทยุ
-
รักษาได้ทั้งเสียงกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
-
ใช้วิธีฉีดยาชาเฉพาะที่ ไม่ต้องดมยาสลบ จึงไม่มีความเสี่ยงในการดมยาสลบ
-
ไม่เจ็บ อาจมีเพียงอาการระคายคอ คัดจมูกบ้าง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ทำการรักษา
-
ใช้เวลาในการทำประมาณ 30 นาที เสร็จแล้วกลับบ้านได้ทันที ยกเว้นการทำบริเวณโคนลิ้น อาจจำเป็นต้องสังเกตอาการประมาณ 1 คืน
- อัตราการได้ผลอยู่ในเกณฑ์ดี คือประมาณ 75 – 85%
ข้อจำกัดของการรักษาด้วยคลื่นวิทยุ
-
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยคลื่นวิทยุประมาณ 2 ครั้ง อาการต่าง ๆ จึงจะดีขึ้น โดยมีระยะเวลาห่างกันแต่ละครั้ง ประมาณ 6 – 8 สัปดาห์
-
ผลการรักษาจะค่อย ๆ ดีขึ้นทีละน้อย โดยเริ่มรู้สึกดีขึ้นหลังทำ ประมาณ 4 สัปดาห์ และอาการจะดีขึ้นเรื่อย ๆ จนได้ผลสูงสุดที่ 6 – 8 สัปดาห์
-
นอกจากการใช้คลื่นวิทยุในการรักษาโรคนอนกรนแล้ว อุปกรณ์ชนิดนี้ยังสามารถใช้รักษาโรคโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดจากภูมิแพ้ หรืออื่น ๆ ที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อยากินได้อีกด้วย