ถึงเวลาชัตดาวน์ไบโพลาร์ (Bipolar)

2 นาทีในการอ่าน
ถึงเวลาชัตดาวน์ไบโพลาร์ (Bipolar)

หากถูกตั้งคำถามว่าเคยรู้จักโรคอารมณ์แปรปรวนบ้างหรือไม่ หลายคนอาจบอกอย่างติดตลกว่ารู้จัก เพราะเห็นจากคนใกล้ตัวที่มีอาการอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ในความเป็นจริงโรคอารมณ์แปรปรวน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ไบโพลาร์” ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม เพราะโรคนี้เป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่อาจรุนแรงจนถึงขั้นฆ่าตัวตายได้เลยทีเดียว แต่หากรู้จักและเข้าใจโรคนี้ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้เช่นกัน



รู้จักโรคไบโพลาร์

โรคอารมณ์แปรปรวนหรือไบโพลาร์อาจมีปัจจัยมาจากวิกฤติชีวิต เช่น สูญเสียคนที่รัก ตกงาน เจ็บป่วย ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการได้ แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดโรคนี้ เพราะไบโพลาร์เป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลัก เมื่อคนกลุ่มนี้เจอมรสุมชีวิตจะมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าคนทั่ว ๆ ไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มปรากฏอาการเมื่ออายุประมาณ 25 ปีขึ้นไป 

“โรคนี้เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ เช่น ในภาวะซึมเศร้า สารสื่อประสาทที่ชื่อว่า Serotonin ต่ำ ยกตัวอย่างง่าย ๆ สมองเรามี Serotonin เหมือนน้ำอยู่ในภาชนะ ด้านบนมีก๊อกที่ผลิตสารนี้ใส่ภาชนะ แต่อยู่ ๆ ก๊อกนี้เกิดสนิม แถมภาชนะยังรั่วจนน้ำหายไปหมดก็จะเกิดอาการซึมเศร้า ซึ่งรักษาได้โดยการให้ยาเพื่อไปไขก๊อกที่เป็นสนิมให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติและอุดรอยรั่ว โดยทั่วไปการรับประทานยาประมาณ 2 สัปดาห์จะช่วยให้อาการเริ่มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่การเติมน้ำกลับเข้าไปต้องใช้เวลานาน ดังนั้นแม้อาการจะดีขึ้น แต่ก็หยุดยาไม่ได้ ต้องรักษาต่อเนื่อง 2 – 5 ปี แต่ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องครบถ้วน โรคนี้ก็สามารถรักษาหายได้”



อาการไบโพลาร์

อาการคุ้มดีคุ้มร้ายที่แสดงออกให้เห็นคือ ภาวะสองขั้วที่แยกเป็น 

1. ภาวะคุ้มคลั่ง (Manic Episode) จะมีอารมณ์ดี สนุกสนาน คึกคักเกินเหตุ เชื่อมั่นในตัวเองสูง ขยันสุด ๆ ชอบพูด ชอบคุย พูดเสียงดัง บ้าพลัง แต่งตัวสีสันฉูดฉาด ช็อปปิงกระจาย คิดเร็ว ทำเร็ว หรือฉุนเฉียว ก้าวร้าว

2. ภาวะซึมเศร้า (Depressive Episode) จะขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าคิดตัดสินใจ ไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง อ่อนเพลีย ป่วยบ่อย ๆ แต่หาสาเหตุไม่เจอ เก็บตัว ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง หมดหวังกับชีวิต

ผู้ป่วยแต่ละรายอาจเกิดภาวะใดภาวะหนึ่งก่อนก็ได้ เช่น อยู่ ๆ เกิดอาการแมเนีย 2 – 3 สัปดาห์แล้วหาย หลังจากนั้น 10 ปี ถึงมาเป็นอีกครั้งก็ได้ สลับกับช่วงที่ซึมเศร้าเก็บตัว หรือบางรายอาจมีภาวะซึมเศร้าติดต่อกันหลาย ๆ รอบ โดยอาจกลับมาเป็นปกติช่วงสั้น ๆ แล้วสลับมาเป็นแมเนีย โดยอาจสังเกตจากพื้นฐานพฤติกรรม เช่น ถ้าเคยเป็นคนเรียบร้อยมีเหตุผล กลายเป็นคนแต่งตัวเปรี้ยว พูดเก่ง เกรี้ยวกราด หรือจากคนที่พูดเก่ง ชอบทำงาน ชอบสังคม กลายเป็นคนซึมเศร้า ไม่อยากลุกจากที่นอน นอนดูเพดานได้เป็นชั่วโมง ๆ เบื่อสังคม ขาดงานบ่อย ไม่ดูแลตัวเอง หรือป่วยไม่เจอสาเหตุ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าป่วย ควรพาไปพบแพทย์และอย่าคิดว่าเป็นเรื่องปกติ 

 

รักษาไบโพลาร์

ไบโพลาร์สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยมีกุญแจสำคัญที่สุดคือ คนใกล้ชิดและครอบครัว ควรเตรียมตัวให้พร้อมและเข้มแข็ง หรือที่เรียกว่า วัคซีนใจ ด้วยการดูแลให้มีสุขภาพจิตที่ดี ศึกษาข้อมูล เรียนรู้ดูแลกัน และรีบปรึกษาจิตแพทย์ เพราะอาการของโรคนี้ต้องได้รับการรักษาด้วยยาและทำจิตบำบัดควบคู่กัน ซึ่งผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ เพียงแต่สังคมต้องให้โอกาส และสิ่งสำคัญ 3 ประการที่ต้องคำนึงถึงคือ ไบโพลาร์เป็นการป่วย ไม่ใช่นิสัยไม่ดี ไบโพลาร์สามารถรักษาได้ และเมื่อรักษาแล้วสามารถกลับมาเป็นคนดี คนเก่ง และกลับมาดำเนินชีวิตในสังคมอย่างมีความสุขได้

ข้อมูลโดย

Doctor Image
พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์

จิตเวชศาสตร์

พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์

จิตเวชศาสตร์

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล