โดยทั่วไปการติดเชื้อในร่างกายสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ แม้กระทั่งบริเวณทวารหนัก เช่น ฝีบริเวณทวารหนัก หรือฝีคัณฑสูตร (Anorectal Abscess หรือ Fistula – In – Ano) การติดเชื้อนี้มักทำให้มีอาการเจ็บปวด หรือบวมบริเวณแก้มก้นด้านใน หรือบริเวณรอบ ๆ ทวารหนัก ผู้ป่วยมักอาการดีขึ้นหากได้รับการวินิจฉัยทันท่วงที และได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจละเลยหรือทิ้งไว้ไม่รักษา ซึ่งอาจส่งผลให้อาการเรื้อรัง และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน
ทำความรู้จักกับฝีคัณฑสูตร
ระบบทางเดินอาหารของร่างกายเป็นระบบที่ซับซ้อน นอกจากอวัยวะสำคัญ ๆ แล้วร่างกายยังประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อและเส้นประสาทที่ไวต่อความเจ็บปวด กระบวนการย่อย และดูดซึมอาหารในระบบทางเดินอาหารจะสิ้นสุดลงโดยการรวบรวมของเสีย หลังจากน้ำและแร่ธาตุถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเกิดขึ้นที่บริเวณลำไส้ตรง และของเสียดังกล่าวจะถูกขับออกจากร่างกายผ่านทางทวารหนัก
ลำไส้ตรง (Rectum) คือ บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่ต่อกับทวารหนัก (Anal Canal) ลำไส้ตรงมีหน้าที่เก็บของเสียก่อนที่จะขับออกเป็นอุจจาระทางทวารหนัก บริเวณทวารหนักจะมีกล้ามเนื้อหูรูด (Anal Sphincters) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อลาย ทำหน้าที่ในการหดและคลายตัวเพื่อควบคุมการขับถ่ายให้เป็นปกติ
บริเวณทวารหนักประกอบด้วยต่อมที่มีหน้าที่ผลิตมูก (Anal Gland) ซึ่งจะช่วยหล่อลื่นให้อุจจาระสามารถผ่านออกทางทวารหนัก (Anal Canal) ได้โดยสะดวก และหากต่อมที่ผลิตมูก (Anal Gland) นี้เกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรียที่แฝงอยู่ในอุจจาระ จะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อลุกลาม และกลายเป็นฝีบริเวณทวารหนักได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวด บวม และแดงตรงบริเวณแก้มก้นด้านใน หรือรอบ ๆ ทวารหนัก
ชนิดของฝีบริเวณก้นหรือทวารหนัก
หลาย ๆ คนอาจเข้าใจผิดว่าฝีที่ก้น คือ โรคริดสีดวงทวารหนัก ความจริงแล้วสองโรคนี้มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โรคริดสีดวงทวารหนักเกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดดำบริเวณเยื่อบุของทวารหนักและลำไส้ตรงส่วนปลาย อาการหลักของโรคริดสีดวง คือ คลำได้ก้อนบริเวณรูทวารหนักร่วมกับอาการคันและระคายเคืองรอบปากทวารหนัก โดยอาจมีเลือดสดปน หรือตามมาภายหลังการถ่ายอุจจาระ ในขณะที่ฝีที่ก้นเกิดจากการอักเสบและติดเชื้อของต่อมผลิตมูกดังกล่าว ทำให้เกิดอาการปวดและอักเสบบริเวณแก้มก้นด้านใน
โดยการติดเชื้อบริเวณทวารหนักสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ
1) ฝีบริเวณก้นหรือทวารหนัก (Anorectal Abscess) เกิดจากการติดเชื้อแบบเฉียบพลันบริเวณก้นหรือทวารหนัก โดยเป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรียที่แฝงอยู่ในอุจจาระ อาการที่พบโดยทั่วไปได้แก่ ปวด บวม แดงบริเวณทวารหนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาขับถ่าย ทั้งนี้อาการปวดบริเวณทวารหนักมักปวดตลอดเวลา ปวดมากขึ้นหากต้องนั่งทับเป็นเวลานาน ในผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ร่วมกับการมีหนองหรือน้ำเหลืองซึมออกมาได้
2) ฝีคัณฑสูตร (Fistula – In – Ano) โดยทั่วไปมักเกิดขึ้นภายหลังฝีบริเวณก้นหรือทวารหนัก โดยเมื่อเกิดการติดเชื้อและเกิดเป็นฝีขึ้น หนองอาจแตกเองตามกลไกธรรมชาติ หรือการระบายหนองด้วยวิธีผ่าตัด การติดเชื้ออาจก่อให้เกิดทางเชื่อมกันขึ้นระหว่างทวารหนัก (Anal Canal) และผิวหนังข้างทวารหนัก ที่เรียกว่า ฝีคัณฑสูตร (Fistula – In – Ano) โดยทั่วไปผู้ป่วยฝีคัณฑสูตรจะมีการติดเชื้อเรื้อรังบริเวณทวารหนัก ซึ่งจะมีอาการปวด บวม หรือมีหนองไหลบริเวณผิวหนังข้างทวารหนักเป็น ๆ หาย ๆ
อาการที่สังเกตได้
โดยทั่วไปร่างกายมักส่งสัญญาณเพื่อบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น โดยอาการเตือนของฝีที่ก้น คือ
- ปวดที่ก้นทันทีและอาการแย่ลงภายใน 1 – 2 วัน
- ไม่สามารถนั่งได้อย่างสบายโดยที่ไม่รู้สึกเจ็บ ซึ่งอาการปวดอาจแสดงได้หลายรูปแบบ เช่น ปวดตุ้บ ๆ ปวดตลอดเวลา หรือปวดแบบเจ็บแปลบ
- บางรายอาจมีอาการถ่ายอุจจาระลำบากร่วมกับการถ่ายอุจจาระมีเลือดปนหรือปนหนองออกมา บริเวณทวารหนักอาจพบการอักเสบ บวม แดง มีไข้หนาวสั่น หรือปวดบริเวณท้องน้อยได้
การตรวจวินิจฉัยโรค
การตรวจวินิจฉัยฝีบริเวณทวารหนักเริ่มจากการซักประวัติ การตรวจบริเวณทวารหนัก และการตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ฝีบริเวณทวารหนักโดยทั่วไปการวินิจฉัยจะไม่ซับซ้อน ในกรณีที่แพทย์สงสัยภาวะฝีคัณฑสูตรที่เกิดจากการติดเชื้อเรื้อรัง การตรวจทางรังสีวินิจฉัยอาจมีความจำเป็นในผู้ป่วยบางราย เช่น การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงบริเวณทวารหนัก (Transanal Ultrasound) จะช่วยยืนยันการวินิจฉัยโดยเฉพาะในกรณีที่ฝีคัณฑสูตรมีความซับซ้อน
รักษาฝีบริเวณทวารหนัก
ฝีบริเวณทวารหนักที่อยู่ในตำแหน่งไม่ลึกนัก ศัลยแพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยวิธีการผ่าตัดระบายหนองออกโดยให้ยาชาแบบเฉพาะที่ สำหรับกรณีที่ฝีอยู่ลึก การผ่าตัดเพื่อระบายหนองจะทำในห้องผ่าตัดภายใต้การดมยาสลบ ผู้ป่วยต้องนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
หากผลการตรวจวินิจฉัยยืนยันว่าเป็นฝีคัณฑสูตร ศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญจะวางแผนการรักษาตามอาการและลักษณะความรุนแรงของโรค ทั้งนี้เป้าหมายการรักษาคือ กำจัดการติดเชื้อ ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ และเก็บกล้ามเนื้อหูรูดไว้ให้สมบูรณ์ที่สุด การรักษาด้วยการเปิดทางเชื่อมฝีคัณฑสูตร (Fistula Tract) ตลอดแนว (Fistulotomy) เป็นวิธีการผ่าตัดที่นิยมใช้รักษาฝีคัณฑสูตรในอดีต โดยวิธีการรักษาดังกล่าวสามารถลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามการผ่าตัดด้วยวิธีนี้อาจต้องตัดกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก ทำให้เกิดแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ และใช้เวลานานในการฟื้นตัว ที่สำคัญคือการผ่าตัดแบบนี้อาจส่งผลต่อความสามารถในการควบคุมการขับถ่าย เนื่องจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักในระหว่างผ่าตัด
ผ่าตัดฝีคัณฑสูตรด้วยเทคนิค LIFT
ปัจจุบันมีการพัฒนาการผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตร ด้วยเทคนิคใหม่ที่เรียกว่า LIFT (Ligation of Intersphincteric Fistula Tract) ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพและเป็นวิธีผ่าตัดรักษาแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก สงวนกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักไม่ให้กระทบกระเทือนระหว่างการผ่าตัดรักษา โดยศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดในชั้นระหว่างกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักและคล้องเอาทางเชื่อมฝีคัณฑสูตร (Fistula Tract) จากนั้นจะตัดและเย็บปิดทางเชื่อมดังกล่าว ไม่ให้การติดเชื้อเกิดขึ้นได้อีก
ข้อดีของการผ่าตัดด้วยเทคนิค LIFT
- รักษาฝีคัณฑสูตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ไม่พบปัญหาการกลั้นอุจจาระหลังผ่าตัด
- ฟื้นตัวไว
- คืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วย
ฝีที่ก้นอาจเป็นเรื่องกังวลใจของหลาย ๆ คนหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที ดังนั้นหากเกิดอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์และความชำนาญเฉพาะทางด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนักเพื่อวินิจฉัยแยกโรคและทำการรักษาได้อย่างถูกต้องเพื่อคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้ป่วยอีกครั้ง