ทารกแรกเกิดกับเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้

4 นาทีในการอ่าน
ทารกแรกเกิดกับเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้

เมื่อเจ้าตัวน้อยลืมตาดูโลก แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นและปรับตัวให้เข้ากับโลกใบใหม่ จึงควรรู้เรื่องสำคัญของทารกแรกเกิดที่ไม่ควรละเลย เพื่อให้พัฒนาการสมบูรณ์สมวัย


ทำไมต้องตรวจคัดกรองทารกแรกเกิด

การตรวจคัดกรองทารกแรกเกิด (Newborn Screening) มีความสำคัญและทารกแรกเกิดต้องได้รับการตรวจทุกคน เพื่อค้นหาโรคที่มีปัญหาแต่สามารถรักษาได้ ในอดีตจะตรวจเพียง 2 โรคคือ ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนและภาวะฟีนิลคีโตนูเรีย แต่ปัจจุบันสามารถตรวจได้ถึง 40 โรค โดยตรวจเมื่อทารกอายุ 48 – 72 ชั่วโมง ใช้เลือดเพียงแค่ 4 – 6 หยด หากผิดปกติแล้วรีบรักษา ทารกจะมีพัฒนาการที่ดีและเติบโตอย่างมีคุณภาพ


เมื่อตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดแล้วผิดปกติทำอย่างไร

หากผลตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดออกมาว่าทารกแรกเกิดมีความผิดปกติ เจ้าตัวน้อยจะต้องเข้ารับการตรวจเลือดอีกครั้งเพื่อวางแผนการรักษา ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อแก้ไขในสิ่งที่ผิดปกติให้กลับมาเป็นปกติ หากรู้เร็วย่อมช่วยเพิ่มโอกาสรักษาให้หายได้ อีกทั้งช่วยลดความรุนแรงของโรคได้


หน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติคืออะไร

หน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ (NICU) โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมดูแลทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 28 วันหลังคลอด โดยทารกที่ต้องได้รับการดูแลคือ ทารกที่คลอดก่อนกำหนด มีอายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ หรือทารกที่คลอดตามกำหนด แต่มีปัญหาเรื่องหัวใจ ลำไส้ การหายใจเร็ว หายใจเหนื่อย รวมถึงทารกที่คลอดออกมาแล้วต้องผ่าตัดตั้งแต่แรกเกิด ไปจนถึงการดูแล MOBILE NICU การเคลื่อนย้ายทารกแรกเกิดวิกฤติบนรถพยาบาลหรือบนเครื่องบิน โดยมีทีมแพทย์สหสาขา พร้อมพยาบาลทารกแรกเกิดพร้อมให้การดูแลตลอด 24 ชั่วโมง


ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนตั้งแต่เกิดควบคุมได้หรือไม่

ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด (Congenital Hypothyroidism :CHT) ไม่สามารถควบคุมได้แต่รักษาได้ โนทารกแรกเกิดมีสาเหตุจากความผิดปกติของต่อมฮอร์โมนและการขาดสารไอโอดีนของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ เมื่อตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดแล้วพบว่ามีภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนต้องรักษาก่อนอายุ 3 เดือน เพื่อให้พัฒนาการกลับมาเป็นปกติ หากรักษาช้ากว่านี้อาจเกิดความพิการทางระบบประสาทและปัญญาอ่อนได้


โรคทางพันธุกรรมเมตาบอลิกรุนแรงหรือไม่

โรคทางพันธุกรรมเมตาบอลิก เป็นกลุ่มโรคพันธุกรรมที่มักพบซ้ำในครอบครัวเดียวกัน แม้พบได้ไม่มากนัก แต่ไม่สามารถป้องกันได้ ส่งผลให้พัฒนาการล่าช้า เกิดความพิการรุนแรงในทารก การตรวจคัดกรองโรคในทารกแรกเกิดจะช่วยให้สามารถตรวจพบและรักษาได้เร็ว ช่วยลดความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตได้


ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดพบได้บ่อยแค่ไหน

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด พบบ่อยจากการที่ร่างกายมีสารสีเหลืองชื่อบิลิรูบินในกระแสเลือดมากกว่าปกติ มีสาเหตุจากทารกมีความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงมากกว่าและภาวะตัวเหลืองผิดปกติ เช่น ภาวะหมู่เลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ ฯลฯ ต้องรีบรักษาโดยเร็วก่อนมีปัญหาดูดนมไม่ดี เกร็ง ชักได้ 


ทารกแรกเกิดกับเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ 

ทำไมทารกแรกเกิดบางคนต้องอยู่ในตู้อบ 

ทารกแรกเกิดที่จำเป็นต้องอยู่ในตู้อบ คือ มีอายุครรภ์น้อยกว่า 36 สัปดาห์ หรือมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,700 กรัม ร่างกายไม่สามารถปรับอุณหภูมิตัวเองได้ หรือทารกป่วยที่ต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด การเข้าตู้อบจะควบคุมอุณหภูมิของทารกให้คงที่เหมือนอยู่ในท้องแม่ เมื่อทารกมีความพร้อม อุณหภูมิทารกเป็นไปตามปกติ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนสามารถออกจากตู้อบได้


ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ทารกแรกเกิดวิกฤติ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ทารกแรกเกิดวิกฤติ มีทั้งปัจจัยเสี่ยงจากมารดา เช่น เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, น้ำเดินก่อนคลอดนานกว่า 18 ชั่วโมง, รกเกาะต่ำ, เลือดออก เป็นต้น และปัจจัยเสี่ยงจากทารก เช่น ครรภ์แฝด, คลอดก่อนกำหนด เป็นต้น รวมถึงการติดเชื้อขณะตั้งครรภ์และสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งในทารกแรกเกิด ยังไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายตัวเองได้ ในทารกแรกเกิดถึง 1 เดือน อุณหภูมิที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่อุณหภูมิห้องคือ 25 องศาเซลเซียส เพราะการห่อตัวหรือการโอบกอดไม่ร้อนเกินไป หากทารกแรกเกิดหนาวเกินไปจะต้องดึงพลังงานเมตาบอลิซึมมาเผาผลาญพลังงานความร้อน ส่งผลต่อพัฒนาการเติบโตได้ จึงไม่ควรให้อยู่ในห้องที่หนาวเกินไป และคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรห่อตัวลูกหนาเกินไป เพราะอาจทำให้เป็นไข้ ตัวร้อน ไม่สบายได้ 


คุณพ่อคุณแม่เยี่ยมลูกในห้องดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ (NICU) ได้ไหม

สำหรับหน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ (NICU) โรงพยาบาลกรุงเทพ คุณพ่อคุณแม่สามารถเข้าไปเยี่ยมเจ้าตัวเล็กได้ เพราะการที่ทารกอยู่ในตู้อบเหมือนอยู่ในท้องคุณแม่ เมื่อคุณพ่อคุณแม่สัมผัส กระซิบ พูดคุย อุ้ม ทำให้ลูกได้รับความรัก ความอบอุ่น มีพัฒนาการที่ดี 


ลดความเสี่ยงทารกแรกเกิดวิกฤติ

การลดความเสี่ยงทารกแรกเกิดวิกฤติ คุณแม่ควรฝากครรภ์กับสูตินรีแพทย์ที่มีความชำนาญในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีการดูแลครรภ์และตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หลังคลอดเสริมด้วยพยาบาลนมแม่ที่ช่วยดูแลคุณแม่ให้นมลูกหลังคลอดได้ถูกต้อง หากเกิดปัญหาหรือมีความผิดปกติให้รีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด


ทารกแรกเกิดกับเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ 

นมแม่สำคัญกับทารกแรกเกิดอย่างไร

นมแม่ สำคัญกับทารกแรกเกิดมากที่สุด เพราะมีสารอาหารครบถ้วน หากทารกแรกเกิดได้รับนมแม่จะมีภูมิคุ้มกันที่ดี สุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วยบ่อย ได้สัมผัสความรักความอบอุ่นจากคุณแม่ มีพัฒนาการเร็วตั้งแต่แรกคลอด เพราะการกระตุ้นพัฒนาการด้วยสายใยแห่งความรักเป็นเรื่องที่ดีที่สุด จึงควรเลี้ยงเจ้าตัวเล็กด้วยนมแม่ 6 เดือนแรกหลังคลอด 


แพทย์ผู้ชำนาญด้านทารกแรกเกิดวิกฤติ 

พญ.อรวรรณ อิทธิโสภณกุล กุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด หน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ โรงพยาบาลกรุงเทพ 

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษาทารกแรกเกิดวิกฤติ

หน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมดูแลทารกแรกเกิดตลอด 24 ชั่วโมง ร่วมกับสูติแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม แจ้งรายละเอียดครบทุกขั้นตอน ประสานงานอย่างเป็นระบบในการรับและดูแลผู้ป่วยต่อจากโรงพยาบาลอื่น ๆ เพื่อให้คุณแม่และเจ้าตัวน้อยสุขภาพแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ข้อมูลโดย

Doctor Image
พญ. อรวรรณ อิทธิโสภณกุล

กุมารเวชศาสตร์

กุมารเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
พญ. อรวรรณ อิทธิโสภณกุล

กุมารเวชศาสตร์

กุมารเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด
Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล