ปัญหาความหย่อนคล้อยและไขมันส่วนเกินรอบดวงตา ไม่ว่าจะเป็นหนังตาตก หนังตาปรือ เปลือกตาหย่อน มีถุงไขมันใต้ตา ชั้นตาหายไม่เท่ากัน ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้สูญเสียความมั่นใจ ดังนั้นการผ่าตัดตกแต่งหนังตาบนและหนังตาล่างจึงช่วยแก้ไขปรับสมดุลดวงตาให้ดูสวยสดใสอ่อนเยาว์ เสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีให้มั่นใจได้อีกครั้ง
การผ่าตัดหนังตาบน
การผ่าตัดหนังตาบน (Upper Blepharoplasty) เป็นการผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาของหนังตาบน โดยวิธีการจะเริ่มจากกำหนดตำแหน่งที่จะเป็นแนวชั้นของตาที่เหมาะสมและดูสวยงาม ซึ่งในผู้ที่มีชั้นเหมาะสมแล้วจะใช้แนวชั้นเดิม ตัดเฉพาะผิวหนังส่วนเกินและไขมันออกเท่านั้น หรือบางรายสร้างชั้นใหม่ที่เหมาะสม เมื่อได้ตำแหน่งแนวของชั้นแล้ว แพทย์จะประมาณขนาดของผิวหนังส่วนเกินที่ต้องตัดออก หากหนังส่วนเกินมีมากโดยเฉพาะบริเวณหางตา แนวแผลจะยาวออกมาทางด้านข้างเพื่อเก็บผิวหนังส่วนเกินให้หมดจะได้รูปตาที่สวยงาม จากนั้นแพทย์จะเริ่มฉีดยาชาเฉพาะที่ในบริเวณที่จะทำการผ่าตัด เมื่อยาชาเริ่มออกฤทธิ์แพทย์จะทำการผ่าตัดโดยกรีดบริเวณแนวที่กำหนด ตัดผิวหนังและไขมันส่วนเกินออก จากนั้นเย็บกำหนดชั้นตามที่ต้องการและเย็บปิดบาดแผลที่ผิวหนัง
ผู้ที่เหมาะกับการผ่าตัดหนังตาบน
- เปลือกตาบนไม่มีชั้นตาชัดเจน (ไม่มีชั้นตาหรือชั้นตาหลบในมองไม่เห็นขนตา) ชั้นตา 2 ข้างไม่เท่ากัน
- เปลือกตาอูม (มีถุงไขมันใต้เปลือกตา) และไม่มีชั้นตา
- เปลือกตาบนมีหนังตาหย่อนห้อยลงมาปิดดวงตา โดยเฉพาะหางตา ทำให้ลักษณะตาเป็นรูปสามเหลี่ยม มีผลทำให้ลานสายตาแคบคือ การมองภาพที่อยู่ด้านบนและด้านข้างแคบลง เวลามีเหงื่อจะไหลเข้าตาทำให้แสบตา
- ขนตาบนแยงตา ทำให้เยื่อตาอักเสบ เคืองตาตลอดเวลา และมีน้ำตาไหลซึม
ความเสี่ยงที่อาจพบในผู้ผ่าตัดหนังตาบน
- เปลือกตาบนอาจบวมนาน มีรอยช้ำ แต่ส่วนใหญ่อาการดีขึ้นหลังผ่าตัดประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ และเข้าที่ใน
1 – 2 เดือน แพทย์จะแนะนำให้ประคบเย็นหลังผ่าตัด ประมาณ 24 – 72 ชั่วโมง - ชั้นตาไม่เท่ากันหรือสวยไม่ถูกใจ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดหลังจากยุบบวมเป็นที่เรียบร้อย ประมาณ 3 เดือน เพื่อให้ศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดเป็นผู้พิจารณาความสมควรในการแก้ไข
- อาจมองเห็นภาพซ้อน ซึ่งเกิดจากการฉีดยาชาหรือบวม แต่จะหายไปหลังยาชาหมดฤทธิ์หรือหายบวม
การผ่าตัดหนังตาล่าง
การผ่าตัดหนังตาล่าง (Lower Blepharoplasty) เป็นวิธีการแก้ลักษณะของเปลือกตาล่างที่เป็นปัญหา โดยปกติหนังตาล่างป่องนูนและมีการเพิ่มโตขึ้นของไขมันบริเวณใต้ดวงตา ซึ่งจะถูกกั้นไว้ด้วยกล้ามเนื้อเปลือกตาที่แข็งแรง ทำให้ดูเรียบตึง แต่เมื่อเกิดความเครียด ขาดการดูแล อายุที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ไขมันส่วนนี้ค่อย ๆ นูนป่องออกมาทีละน้อย และเห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ วิธีที่ดีที่สุดที่จะลดถุงไขมันใต้ตาได้ คือ การผ่าตัดเอาส่วนเกินไขมันใต้ตาออกหรือย้ายไขมันไปไว้บริเวณที่เป็นร่องลึกเพื่อให้เรียบเสมอกัน และแก้ไขความหย่อนยานของผิวหนังกล้ามเนื้อเปลือกตาล่าง การดูดไขมันใต้ตาไม่สามารถทำได้ เนื่องจากอยู่ใกล้อวัยวะที่สำคัญคือดวงตา การผ่าตัดหนังตาล่างไม่สามารถแก้ไขปัญหาริ้วรอย หนังตา และหางตาได้ แต่จะผ่าตัดกระชับกล้ามเนื้อรอบตาล่างให้ตึง เพื่อให้ดวงตาดูอ่อนเยาว์และป้องกันภาวะขนตาม้วนเข้า
ผู้ที่เหมาะกับการผ่าตัดหนังตาล่าง
- เปลือกตาล่างนูนยื่นออกมาจากการที่มีถุงไขมันใต้ตาล่างยื่นหย่อนออกมาจากภาวะพันธุกรรมหรือวัยสูงอายุ
- เปลือกตาล่างมีรอยย่นยับ มีรอยจีบของหนังตา เวลายิ้มขอบหนังตาล่างจะนูนป่องออกมา และมีรอยย่นเป็นจีบหรือเป็นแฉกออกจากหางตาล่าง
ความเสี่ยงที่อาจพบในผู้ผ่าตัดหนังตาล่าง
- มองเห็นภาพซ้อนได้จากการฉีดยาชาหรือบวม แต่จะหายได้เองหลังยาชาหมดฤทธิ์
- เปลือกตาล่างอาจบวมนาน มีรอยช้ำหรือมีอาการปวด แต่ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นหลังผ่าตัดประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ และเข้าที่ในเวลา 1 – 2 เดือน โดยมากแพทย์จะแนะนำให้มีการประคบเย็นหลังผ่าตัด ประมาณ 24 – 72 ชั่วโมง
- เปลือกตาล่างอ้าออกหรือเปลือกตาล่างไม่ได้ประกบติดเยื่อบุตา ทำให้หลับตาไม่สนิท อาจเกิดจากการบวมหลงเหลืออยู่ โดยมากแพทย์จะรอให้ยุบประมาณ 3 เดือน หากยังมีอาการควรสอบถามแพทย์ที่ทำการรักษาอย่างใกล้ชิด
- ตาแห้งหรือรู้สึกเหมือนมีทรายอยู่ในตา จึงปล่อยน้ำตาออกมา ทำให้นัยน์ตาฉ่ำเยิ้มและมองอะไรไม่ชัด เกิดจากการตัดผิวหนังไขมันส่วนเกินบริเวณเปลือกตาล่างออกมากเกินไป ทำให้เปลือกตาล่างหดตัวลง อาการนี้มักจะเกิดไม่นานและจะกลับเป็นปกติภายในเวลาไม่กี่วันหรือเป็นอาทิตย์ ควรปรึกษาแพทย์ทันทีถ้ามีอาการ
เตรียมตัวก่อนผ่าตัดหนังตาบนล่าง
1) แจ้งข้อมูลสุขภาพกับแพทย์อย่างละเอียด ได้แก่
- ปัญหาสุขภาพ
- โรคร้ายแรง / โรคประจำตัว
- ประวัติการผ่าตัดและการได้ยาระงับความรู้สึก
- ฟันโยก ฟันปลอม และปัญหาเกี่ยวกับฟัน
- การแพ้ยา / แพ้อาหาร
- อื่น ๆ
2) ในกรณีดมยาสลบ มีภาวะเสี่ยง หรือโรคประจำตัว จะมีการเตรียมพร้อมร่างกายสำหรับการผ่าตัดและดมยาสลบ ได้แก่
- การเอกซเรย์
- การตรวจเลือด
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- การปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรม
3) งดใช้ยา ยาบำรุง สมุนไพรบางชนิดที่อาจมีผลกับการผ่าตัด ก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 7 วัน และนำยาประจำตัวและยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่รับประทานมาโรงพยาบาลเพื่อแจ้งแพทย์ในวันผ่าตัด เช่น
- ยาแก้ปวด
- ยาแอสไพริน
- วิตามินดี วิตามินซี วิตามินเอ
- น้ำมันตับปลา
- สาหร่ายทะเล (omega 3)
- อื่น ๆ
4) ควรงดสูบบุหรี่ ก่อนการผ่าตัดประมาณ 6 สัปดาห์ เพื่อป้องกันภาวะเนื้อเยื่อขาดเลือดมาเลี้ยง ทำให้เนื้อเยื่อตายได้ ถ้าสูบบุหรี่จัดต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบทันที และควรงดสูบบุหรี่หลังผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์
5) หยุดดื่มสุรา ภายใน 24 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด และควรหยุดดื่มสุราหลังผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์
6) อาบน้ำชำระร่างกายและสระผมให้สะอาด
7) ห้ามใช้เครื่องสำอางบริเวณหนังตาและผิวหนังรอบดวงตาหลังผ่าตัด 1 สัปดาห์
8) ในกรณีดมยาสลบ งดน้ำและอาหารก่อนผ่าตัดตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการสูดสำลักน้ำย่อยหรือเศษอาหารจากกระเพาะอาหารเข้าไปสู่ปอดระหว่างการได้รับยาระงับความรู้สึก
9) หลังผ่าตัด 1 สัปดาห์ควรใส่แว่นตากันแดด เพื่อความสบายตาในการมอง
10) มีคนสนิทมาด้วย เพื่อพากลับบ้าน เพราะหลังผ่าตัดจะใช้สายตาไม่สะดวก ไม่ควรกลับบ้านตามลำพัง
ดูแลหลังผ่าตัดหนังตาบนล่าง
- หลังผ่าตัดภายใน 24 – 72 ชั่วโมง นอนยกศีรษะสูง ประคบเย็นบริเวณดวงตาทั้งสองข้างเพื่อลดอาการบวม
- งดใช้สายตาในช่วงแรก ๆ เพราะการใช้สายตา อย่างการดูทีวีหรือการอ่านหนังสือ ต้องกะพริบตาและเปลือกตาเคลื่อนไหวตลอดเวลา ทำให้แผลอักเสบและหายช้า
- ใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำเกลือ เช็ดคราบเลือด และสิ่งสกปรกออกอย่างเบามือ วันละ 2 – 3 ครั้ง เช็ดได้บ่อย ๆ เมื่อสกปรก
- หลังผ่าตัด 5 – 7 วัน แพทย์จะนัดติดตามอาการและตัดไหม หลังตัดไหมแล้วแผลจะบวมอยู่ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ จากนั้นแผลจะหายเป็นปกติ ดูเป็นธรรมชาติประมาณ 1 เดือน
- หลังผ่าตัด 7 วัน ห้ามทานอาหารเผ็ดจัด เพราะจะทำให้เหงื่อออกมาก แผลเปียก ความดันเลือดสูงขึ้น อาจทำให้เลือดออกจากแผล
- หลังผ่าตัด 2 สัปดาห์ ต้องงดสุราและบุหรี่ เพราะมีผลกับการหายของแผลผ่าตัด งดการทำงานหรือการออกกำลังกายที่รุนแรง สามารถแต่งหน้าและแต่งแต้มดวงตาได้ตามปกติ
- หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับแผล ได้แก่ ตาแดงมาก เคืองตา แผลแยก ต้องมาพบแพทย์ทันที
- ทานยาตามที่แพทย์สั่ง ถ้ามีอาการแพ้ยา เช่น คัน มีผื่นแดง คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก ให้หยุดทานทันทีและรีบมาพบแพทย์
- กรณีที่ใส่คอนแทคเลนส์ให้เปลี่ยนไปสวมแว่นตาในช่วงสัปดาห์แรกหลังผ่าตัด หรือจนกว่าจะหายบวม ห้ามดึงเปลือกตาเพื่อใส่คอนแทคเลนส์เด็ดขาด เพราะแผลผ่าตัดอาจแยกจากกันได้ หลังผ่าตัดครบ 14 วัน สามารถกลับมาใส่คอนแทคเลนส์ได้ตามปกติ
- ห้ามขยี้ตารุนแรงหลังผ่าตัด 2 เดือน
- หากมีอาการปวดแผล สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้
การผ่าตัดหนังตาบนและหนังตาล่างต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ของศัลยแพทย์เป็นสำคัญและการรักษากับโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย ย่อมช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ