การผ่าตัดมดลูกเป็นการผ่าตัดในสตรีที่พบมากเป็นอันดับแรก รองจากการผ่าตัดคลอด โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้ารับการรักษามักเกิดจากสาเหตุเนื้องอกมดลูกที่ในบางกรณีมีอาการเลือดประจำเดือนออกมาก ปวดท้องน้อย ซีด ปัสสาวะบ่อย อีกทั้งในกรณีเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งจะมีอาการคล้ายเนื้องอกมดลูก ทั้งหมดนี้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างมากส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายตัดสินใจผ่าตัดมดลูก
อาการเนื้องอกมดลูก
อาการที่สามารถสังเกตได้ คือ
- ประจำเดือนมากและปวดมากจนผิดปกติ
- ประจำเดือนมาตรงรอบแต่มากขึ้นจนผิดสังเกต เช่น จาก 3 วันเป็น 5 วัน ฯลฯ
- มีก้อนเลือดออกมาก
- ปัสสาวะบ่อยมากหรือบางคนปัสสาวะไม่ออก
- ท้องผูก เพราะเนื้องอกกดทับลำไส้ตรง
- เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
- ปวดท้องน้อย
ตำแหน่งเนื้องอกมดลูก
ผู้หญิงส่วนใหญ่มักตรวจพบเนื้องอกมดลูกในช่วงอายุประมาณ 30 – 50 ปี โดยตำแหน่งเนื้องอกที่พบแบ่งเป็น 4 ตำแหน่ง ได้แก่
- ในกล้ามเนื้อมดลูก
- ใต้เยื่อหุ้มกล้ามเนื้อมดลูก (ผิวด้านนอกของมดลูก)
- ภายในโพรงมดลูก
- ปากมดลูก
ตำแหน่งเนื้องอกที่อันตรายที่สุดคือ ในโพรงมดลูก เพราะมีโอกาสทำให้เลือดออกมากได้ ส่วนเนื้องอกภายนอกมดลูกอันตรายน้อยที่สุด
การตรวจวินิจฉัย
ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดมดลูก แพทย์จะวินิจฉัยจาก
- อาการที่รบกวนการใช้ชีวิตของผู้ป่วย เช่น เลือดออกมากจนซีดและต้องให้เลือดช่วย ฯลฯ
- เนื้องอกมีอัตราการเติบโตเร็วผิดปกติ
วิธีการผ่าตัดมดลูก
การผ่าตัดมดลูกในปัจจุบันมีทั้งหมด 4 วิธี ได้แก่
- การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด (Vaginal Hysterectomy) เจ็บน้อย ไม่มีแผล
- การผ่าตัดมดลูกผ่านการส่องกล้องช่องท้อง (Laparoscopic Hysterectomy) เจ็บแผลน้อย มีแผลเล็ก ๆ บริเวณหน้าท้องประมาณ 3 – 4 แผล ขึ้นอยู่กับขนาดเลนส์ที่ใช้ผ่าตัด
- การผ่าตัดมดลูกผ่านทางหน้าท้องแบบแผลเล็ก (Minilaparotomy Hysterectomy) แผลจากการเปิดเล็กกว่าหรือเท่ากับ 6 เซนติเมตร
- การผ่าตัดมดลูกผ่านทางหน้าท้อง (Abdominal Hysterectomy) แผลจะค่อนข้างใหญ่
ผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด (Vaginal Hysterectomy)
การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด (Vaginal Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดเอามดลูกออกจากร่างกายโดยไม่มีแผลภายนอกร่างกาย นับเป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยและไม่ต้องกังวลกับรอยแผลเป็น
การพิจารณาผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด
การพิจารณาผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดในกรณีที่ไม่ใช่มะเร็ง ประกอบด้วย
- ความปลอดภัย (Safety) กระบวนการและอุปกรณ์ผ่าตัดต้องปลอดภัยได้มาตรฐาน
- การบาดเจ็บ (Invasiveness) การผ่าตัดที่ผู้ป่วยบาดเจ็บน้อย พักฟื้นในโรงพยาบาลไม่นาน
- ค่าใช้จ่าย (Price) ราคากับการรักษา
- ความสวยงาม (Cosmetic) ปราศจากรอยแผล
ข้อดีของการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด
- เจ็บน้อย การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดมีแผลเดียว คนไข้จึงเจ็บน้อยลงเมื่อเทียบกับการผ่าตัดส่องกล้องแบบหลายแผล
- ไร้รอยแผล แผลจะอยู่ในสะดือแผลเดียว หลังผ่าประมาณ 5 สัปดาห์ แผลจะหายสนิทและแทบมองไม่เห็นรอยแผล
- ฟื้นตัวไว พักฟื้นประมาณ 1 – 3 วัน แล้วกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ
- ปลอดภัยสูง ทุกขั้นตอนมีแพทย์ผู้ชำนาญการดูแลใกล้ชิด โดยเฉพาะการตรวจก่อนผ่าตัดอย่างละเอียดตามมาตรฐานการตรวจภายในภายใต้ยาระงับความรู้สึก (EUA-Examination Under Anesthesia) ช่วยให้แพทย์ได้ข้อมูลของผู้ป่วยอย่างละเอียดก่อนทำการผ่าตัด
จากงานวิจัยของ Cochrane Collaboration องค์กรที่ทำการศึกษาทางการแพทย์ ซึ่งข้อมูลน่าเชื่อถือเป็นอันดับ 1 ข้อมูลล่าสุดปี 2015 พบว่า การผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอดให้ผลดีกว่าในทุกตัวชี้วัดและมีข้อแนะนำให้เลือกวิธีนี้เป็นอันดับแรกในการพิจารณาผ่าตัดมดลูกในกรณีที่ไม่ใช่มะเร็ง
ข้อจำกัดของการผ่าตัดมดลูกผ่านทางช่องคลอด
- ผู้ป่วยมีขนาดมดลูกใหญ่เกิน 1,500 กรัม
- ผู้ป่วยผ่านการผ่าตัดหลายครั้งหรือมีพังผืดหนาในอุ้งเชิงกราน
- ผู้ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่หรือมะเร็งมดลูกหรือปากมดลูก
- ขณะทำการผ่าตัดแพทย์ไม่สามารถเข้าถึงเส้นเลือดที่มาเลี้ยงมดลูกได้
- ทักษะและความชำนาญของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดคือหัวใจสำคัญที่ช่วยให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่นทุกขั้นตอน โดยเฉพาะอาการบาดเจ็บน้อยและความสวยงามของแผล
ผ่าแล้วจะเป็นได้อีกไหม
สำหรับการผ่าตัดมดลูกเมื่อผ่าแล้วจะไม่กลับมาเป็นอีก แต่ถ้าผ่าตัดเอาแค่เนื้องอกออก (เก็บมดลูกไว้) มีการศึกษาพบว่าภายใน 5 ปี มีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้ 30% และผู้ที่มีเนื้องอกหลาย ๆ ก้อนมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำมากกว่าผู้ที่พบเพียงก้อนเดียว แต่ผู้ที่กลับมาเป็นซ้ำแล้วต้องมาผ่าตัดมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น