มารู้จักภาวะสายตาผิดปกติ
การที่คนเรามีสายตาปกติ เป็นผลของการที่แสงโฟกัสผ่านกระจกตา (Cornea) และเลนส์แก้วตา (Crystalline Lens) ลงพอดีที่จอประสาทตา (Retina) ทำให้ภาพที่เรามองเห็นมีความคมชัด แต่ถ้ากำลังการรวมแสง (Refractive Power) ของตาไม่พอดีกับความยาวลูกตา เป็นผลให้การ รวมแสงของตาตกไม่พอดีที่จอประสาทตา เกิดภาวะสายตาผิดปกติ (Refractive Errors) ซึ่งอาจแยกประเภทได้ดังนี้
1. สายตาสั้น (Near-sightedness หรือ Myopia)
สายตาสั้นเกิดจากกำลังการรวมแสงของตามากเกินไป เมื่อเทียบกับความยาวของลูกตา อาจเกิดจากการที่กระจกตาโค้งมากเกินไป หรือขนาดลูกตายาวเกินไป เมื่อมองวัตถุที่อยู่ไกล แสงรวมก่อนถึงจอประสาทตา ทำให้มองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลไม่ชัดเจน แต่จะมองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ได้ชัดเจนกว่า
การแก้ไข ทำได้โดยใช้เลนส์เว้าเพื่อลดกำลังการรวมแสงที่มากเกินไป เพื่อให้ภาพไปตกพอดีที่จอประสาทตา
2. สายตายาวโดยกำเนิด (Far-sightedness หรือ Hyperopia)
สายตายาวโดยกำเนิดเกิดจากกำลังการรวมแสงของตาน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับความยาวของลูกตา อาจเกิดจากการที่กระจกตาแบนเกินไป หรือขนาดลูกตาสั้นเกินไป การรวมแสงจึงไปตกอยู่หลังจอประสาทตา ทำให้มองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลและใกล้ไม่ชัดเจน
การแก้ไข ทำได้โดยใช้เลนส์นูน เพื่อเพิ่มกำลังการรวมแสงเพื่อให้ภาพไปตกพอดีที่จอประสาทตา
3. สายตาเอียง (Astigmatism)
สายตาเอียงเกิดจากกำลังการรวมแสงของตาในแนวต่าง ๆ ไม่เท่ากัน มักเกิดจากกระจกตาไม่กลม เปรียบได้กับผิวความโค้งด้านข้างของไข่ หรือลูกรักบี้ มักเกิดร่วมกับภาวะสายตาสั้นหรือยาวโดยกำเนิด ทำให้เห็นภาพซ้อนได้
การแก้ไข ใช้ Cylindrical Lens ซึ่งเป็นเลนส์พิเศษที่สามารถแก้การรวมแสงในแต่ละแนวได้ต่างกัน
4. สายตายาวตามอายุ (Presbyopia)
เกิดจากความเสื่อมของกล้ามเนื้อตาที่ใช้ในการมองใกล้เสื่อมลงเมื่ออายุมากขึ้น เลนส์แก้วตาจึงไม่สามารถปรับโฟกัสในการมองระยะใกล้ได้ ภาวะนี้พบในคนอายุ 40 ปีขี้นไปและจะยาวมากขึ้นตามอายุ โดยต่างจากสายตายาวโดยกำเนิดตรงที่ สายตายาวตามอายุจะมีปัญหาในการมองใกล้เท่านั้น
การแก้ไข ใช้เลนส์นูนแก้ไข โดยจะใช้เฉพาะเวลาที่มองใกล้