ข้อควรปฏิบัติในการรับบริการธาราบำบัด
ธาราบำบัดกับกายภาพบำบัด
ธาราบำบัดเป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาทางกายภาพบำบัด โดยใช้น้ำเป็นสื่อกลางในการรักษา เนื่องจากน้ำมีคุณสมบัติทางกายภาพที่ช่วยดูแลรักษาผู้ป่วย ได้แก่
- แรงลอยตัวของน้ำ ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวในน้ำได้อย่างอิสระ ลดแรงกระทำต่อข้อต่อต่าง ๆ ลดอัตราการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายได้ดีกว่าบนบก
- แรงดันของน้ำ ทำให้สามารถลดอาการบวมตามรยางค์ต่าง ๆ ได้
- แรงหนืดของน้ำ ใช้เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพิ่มความทนทานของร่างกายได้
- น้ำเป็นสื่อนำความร้อนเย็นได้ดี เมื่อใช้น้ำอุ่นรักษาทางธาราบำบัด ช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต ทำให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดอาการเกร็ง และอาการปวดต่าง ๆ ลงได้
กลุ่มที่เหมาะกับธาราบำบัด
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบโครงร่างกล้ามเนื้อ เช่น ผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลัง ผู้ป่วยก่อนและหลังผ่าตัด ผู้ป่วยกระดูกหัก
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางระบบหัวใจและทรวงอก เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางระบบประสาท เช่น ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ผู้ป่วยพาร์กินสัน
- หญิงตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ตั้งแต่ 1 – 6 เดือน)
เตรียมตัวก่อนรับบริการธาราบำบัด
- เปลี่ยนเสื้อผ้าและทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสบู่ก่อนลงสระธาราบำบัดทุกครั้ง โดยชุดที่สวมใส่ควรเป็นผ้าที่ไม่ซับน้ำ สะดวกต่อการเคลื่อนไหว เช่น ชุดว่ายน้ำ เสื้อยืด กางเกงขาสั้น เป็นต้น
- การรักษาโดยวิธีธาราบำบัดใช้เวลาครั้งละประมาณ 45 นาที โดยควรทำหลังจากการรับประทานอาหารอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการจุกเสียด คลื่นไส้ อาเจียน และไม่ควรห่างเกิน 3 ชั่วโมงหลังมื้ออาหารเพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ส่งผลให้หน้ามืดหรือเป็นลมได้
- กรณีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้หรือช่วยเหลือตนเองได้น้อย ต้องมีญาติที่ดูแลประจำใกล้ชิดหรือผู้ติดตาม ผู้ช่วยเหลือมาดูแลด้วยทุกครั้งเพื่อช่วยในการอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า
- แจ้งนักกายภาพบำบัดทันทีหากมีอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ เจ็บหน้าอก เหนื่อยมาก เวียนศีรษะ หรือปวดท้องถ่าย ฯลฯ
- ห้ามปัสสาวะลงในสระหรือในห้องอาบน้ำ ญาติผู้ป่วยหรือผู้ช่วยเหลือสามารถเข้ามารอด้านในบริเวณสระได้ไม่เกิน 1 – 2 ท่าน ห้ามตะโกนเสียงดัง ห้ามนำเด็กเข้ามาภายในบริเวณสระธาราบำบัด เนื่องจากอาจเกิดอันตรายได้
ข้อห้ามการทำธาราบำบัด
- ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะและอุจจาระได้
- ท้องเสียหรืออุจจาระร่วง
- กระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ
- มีแผลเปิด
- โรคติดเชื้อทางผิวหนัง
ข้อควรระวังธาราบำบัด
- ภาวะทางระบบหัวใจไม่คงที่
- ความดันโลหิตสูง / ต่ำผิดปกติ
- โรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน
- มีประจำเดือน
- การรับความรู้สึกเปลี่ยนแปลง
- การมองเห็นบกพร่อง
- การได้ยินบกพร่อง
- ภาวะบกพร่องทางปัญญา
สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพ
ชั้น 3 อาคารเวชศาสตร์ฟื้นฟู (อาคาร R)
เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.
โทร. 0 2310 3031
Add line : https://lin.ee/Y67spls