ศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลกรุงเทพให้ความสำคัญกับกระบวนการการดูแลรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ก่อนผ่าตัดจนถึงหลังผ่าตัด เพื่อให้ผู้ป่วยแข็งแรงพร้อมที่จะเข้ารับการผ่าตัดรักษา ลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด และช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวภายหลังการผ่าตัดได้อย่างรวดเร็วที่สุด กับโปรแกรมฟื้นตัวไวหลังผ่าตัด ERAS : Enhanced Recovery After Surgery โปรแกรมมาตรฐานสากลที่ช่วยให้การผ่าตัดฟื้นตัวไว กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น
โปรแกรมฟื้นตัวไวหลังผ่าตัด ERAS : Enhanced Recovery After Surgery
โปรแกรมฟื้นตัวไวหลังผ่าตัด ERAS: Enhanced Recovery After Surgery เป็นโปรแกรมที่ออกแบบเฉพาะเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ก่อนผ่าตัด ระหว่างผ่าตัด และหลังผ่าตัด เพื่อส่งเสริมให้การฟื้นตัวหลังผ่าตัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยลดภาวะเครียดจากการผ่าตัด จัดการความปวดอย่างเหมาะสม ดูแลการรับประทานอาหารและเคลื่อนไหวตั้งแต่เริ่มแรกเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล ซึ่งการดูแลด้วยโปรแกรม ERAS จะถูกปรับให้เข้ากับผู้ป่วยแต่ละคน โดยมีทีมสหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary Team) เช่น แพทย์สาขาต่าง ๆ พยาบาล เภสัชกร ทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู นักโภชนาการ รวมทั้ง ผู้ป่วยและญาติมีส่วนร่วมออกแบบการรักษาตั้งแต่ต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาให้หายโดยเร็วที่สุด
1) ก่อนผ่าตัด
- ซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด และตรวจพิเศษเพิ่มเติมในรายที่จำเป็น โดยมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดอย่างครบถ้วน โดยทีมศัลยแพทย์และพยาบาลเฉพาะทาง
- ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อายุมาก มีโรคประจำตัวหลายโรคจะมีการประชุมแพทย์เพื่อออกแบบการผ่าตัด รวมทั้งประเมินและรักษาภาวะเสี่ยงก่อนผ่าตัด เช่น การแก้ไขภาวะซีด, ภาวะโภชนาการ, หยุดสูบบุหรี่, การควบคุมระดับน้ำตาล และการควบคุมน้ำหนัก เป็นต้น
- ประเมินความพร้อมก่อนผ่าตัด โดยทีมอายุรแพทย์
- ประเมินวิธีระงับปวดและเทคนิคการดมยาสลบโดยทีมวิสัญญีแพทย์
- ฝึกออกกำลังกาย การหายใจ การไอหรือกระแอม การจัดท่าทางที่ถูกต้อง เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ หลังผ่าตัด โดยทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู
- ทบทวนรายการยากลุ่มเสี่ยงโดยเภสัชกร
- ดูแลโภชนบำบัดก่อนผ่าตัด
- ผู้ป่วยอดอาหารน้อยที่สุดก่อนผ่าตัดเท่าที่จำเป็น เพื่อให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานอยู่ในภาวะที่พร้อมที่สุดตั้งแต่ก่อนการผ่าตัด และลดการตอบสนองต่อการบาดเจ็บในช่วงระหว่างผ่าตัดให้มากที่สุด
- แพทย์และทีมงานให้คำปรึกษา พร้อมแนะนำการปฏิบัติตนให้ผู้ป่วยและครอบครัวเข้าใจตั้งแต่ก่อนผ่าตัด เพื่อ ปรับแผนการรักษาให้เหมาะสม เกิดผลการรักษาที่ดีและยั่งยืน
2) ระหว่างผ่าตัด
- วางแผนการผ่าตัดอย่างละเอียด
- เทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว
- ใช้เทคโนโลยีการผ่าตัดขั้นสูง เพื่อให้การผ่าตัดราบรื่น เสียเลือดน้อย เช่น การใช้เทคโนโลยีผ่าตัดความคมชัดสูงแบบ 4K หรือการฉีดสี Indocyanine Green (ICG) เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียง
- แพทย์วิสัญญีมีการวางแผนร่วมกันเพื่อลดอาการปวดอย่างเต็มที่
- มีการใช้หลายเทคนิคร่วมกัน เพื่อลดผลข้างเคียงจากยาสลบและใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีนน้อยลง
- การป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัด
- การควบคุมอุณหภูมิในขณะผ่าตัด และการให้สารน้ำอย่างเหมาะสม
3) หลังผ่าตัด
- โปรแกรมจัดการความปวด และฝึกเทคนิคผ่อนคลายเพื่อลดความตึงเครียด
- ป้องกันและรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนด้วยยาที่ทันสมัย
- รับประทานอาหารได้ตั้งแต่ระยะแรก เพื่อให้ลำไส้มีการเคลื่อนตัว ป้องกันภาวะท้องผูก ช่วยให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวได้ดี รับประทานอาหารและกลับบ้านได้เร็วขึ้น โดยมีนักโภชนาการดูแลและตอบคำถามอย่างใกล้ชิด
- ทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูแนะนำโปรแกรมฟื้นฟูร่างกายและช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายตั้งแต่วันแรกหลังผ่าตัด เพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำและภาวะแทรกซ้อนทางระบบการหายใจ โดยนักกายภาพบำบัดคอยดูแลและให้คำแนะนำตลอดการพักฟื้นที่โรงพยาบาล จนเมื่อกลับบ้านพยาบาลจะทำการนัดพบแพทย์และให้ช่องทางติดต่อในกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้คำแนะนำและประเมินสภาพแวดล้อมภายในบ้าน
- เภสัชกรทบทวนและแนะนำยาที่ได้รับกลับบ้านทั้งหมด
- พยาบาลเฉพาะทางให้คำปรึกษาและติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องหลังจากผู้ป่วยกลับบ้าน
การบูรณาการการรักษาโดยทีมสหสาขาวิชาชีพช่วยให้ผลการรักษาได้มาตรฐานเหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย นอกจากนี้เมื่อผู้ป่วยกลับบ้านแล้วยังมีทีมที่คอยช่วยเหลือหลังผ่าตัดจนกว่าจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ นอกจากนี้ทุกเดือนจะมีการตรวจสอบมาตรฐานเพื่อพัฒนาการรักษาและโปรแกรม ERAS ให้ดียิ่งขึ้นตามแนวทางปฏิบัติสากล เพื่อให้ผู้ป่วยมั่นใจได้ว่าผลการรักษาจะประสบความสำเร็จ สามารถฟื้นตัวกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วที่สุด