การออกกำลังกายสำหรับบางคนและอีกหลายคนไม่ใช่เรื่องสนุก โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่จำเป็นต้องออกกำลังกายเพื่อควบคุมน้ำตาล การมองหารูปแบบการออกกำลังที่ช่วยเพิ่มความสนุกอย่างลีลาศ ไม่เพียงแต่ช่วยบำบัดฟื้นฟูร่างกาย ยังส่งเสริมสุขภาพกาย ใจ ชีวิต และสังคมให้กับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 คือผู้ป่วยที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน เน้นการควบคุมอาหารและหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
“การมองหารูปแบบการออกกำลังที่ช่วยเพิ่มความสนุกอย่างลีลาศ ไม่เพียงช่วยบำบัดฟื้นฟูร่างกาย ยังส่งเสริมสุขภาพกาย ใจ ชีวิต และสังคมให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ดี”
ประเภทของลีลาศ
ปัจจุบันลีลาศเป็นหนึ่งในกิจกรรมการออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมในวงกว้างและนำมาใช้เพื่อบำบัด ฟื้นฟู และส่งเสริมสุขภาพในบางโรค หนึ่งในนั้นคือโรคเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน แต่เน้นการควบคุมอาหารและหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ความน่าสนใจของลีลาศคือ ไม่ได้มีแต่จังหวะเร็วเพียงอย่างเดียว แต่มีทั้งช้าและเร็ว แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1) แบบบอลรูม (Ballroom) จังหวะค่อนข้างช้า ปรับจังหวะได้ตามความชำนาญ สามารถเต้นช้า ๆ ต่อเนื่องได้เป็นเวลานาน มีการดึงน้ำตาลและไขมันไปเผาผลาญตามหลักการออกกำลังกายในระดับกลาง เหมาะกับผู้มีภาวะเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นอย่างมาก เช่น จังหวะวอลซ์ จังหวะสโลว์ฟอกซ์ทรอท เป็นต้น
2) แบบละตินอเมริกา (Latin America) จังหวะค่อนข้างเร็ว แสดงความแข็งแรงของร่างกาย เหมาะกับผู้ที่ชอบเคลื่อนไหวแบบรวดเร็ว เช่น จังหวะชะ ชะ ช่า จังหวะไจว์ฟ เป็นต้น
ประโยชน์ของลีลาศ
การออกกำลังกายด้วยลีลาศเต็มไปด้วยประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่
- ช่วยเผาผลาญน้ำตาลและไขมัน
- ลดความดันโลหิต
- เพิ่มไขมันดี (HDL) ลดไขมันร้าย (LDL) ลดไตรกลีเซอไรด์
- น้ำหนักลด รูปร่างท่าทางสง่างาม
- เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ
- เพิ่มสมรรถภาพการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด
- ลดความเสี่ยงในการหกล้ม
- ห่างไกลซึมเศร้า สร้างสัมพันธ์อันดีในครอบครัว
- พบเจอเพื่อนใหม่ มีสังคมใหญ่กว่าเดิม
“ควรเตรียมขนมหรือน้ำหวานไว้สักเล็กน้อย เผื่อมีอาการน้ำตาลตกในขณะเต้นลีลาศ”
เริ่มลีลาลีลาศ
การเริ่มต้นเต้นลีลาศไม่ใช่เรื่องยาก เพียงเข้าไปปรึกษาผู้รู้เกี่ยวกับจังหวะและรูปแบบที่เหมาะกับร่างกายของตนเอง จากนั้นเตรียมชุดให้พร้อม ใส่รองเท้าผ้าใบคู่โปรด เท่านี้ก็เริ่มลงสนามลีลาศได้ทันที มีข้อแนะนำว่า ช่วงแรกควรเต้นลีลาศกับผู้รู้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องจนเกิดความเคยชิน หลังจากนั้นสามารถเต้นที่บ้านและสอนคนในครอบครัวได้เอง สำหรับหลายคนที่กังวลเกี่ยวกับน้ำหนักตัว มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Diabetology and Metabolic Syndrome ถึงการออกกำลังกายในผู้ที่มีน้ำหนักมากเกือบ 100 กิโลกรัมที่ลดน้ำหนักลงมาได้พบว่า น้ำหนักตัวไม่ได้เป็นข้อจำกัดใหญ่แต่อย่างใด เพราะฉะนั้นสบายใจและลุกขึ้นมาลีลาศได้แบบไม่ต้องกังวล
“ไม่ว่าจะมีร่างกายที่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอคือหัวใจสำคัญของการดูแลสุขภาพที่ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ฟิตแอนด์เฟิร์มในทุกช่วงวัย”
ผู้ที่เริ่มสนใจในการลีลาศเพื่อส่งเสริมสุขภาพให้ตัวเองสามารถมาพูดคุยกับคุณนรัฐ ปัญญาศักดิ์ นักกายภาพบำบัดที่มีดีกรีเป็นนักกีฬาลีลาศ Class C ได้ที่สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกายกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร. 0 2310 3989
“อยากสร้างเสริมสุขภาพด้วยลีลาศ ปรึกษาสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย BASEM โรงพยาบาลกรุงเทพ”
ข้อมูล : คุณอธิพล เมธาทิพย์และคุณนรัฐ ปัญญาศักดิ์ นักกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬาประจำสถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ