ตรวจหาโรคปอดระยะแรกเริ่ม

2 นาทีในการอ่าน
ตรวจหาโรคปอดระยะแรกเริ่ม

โรคระบบทางเดินหายใจและโรคปอดเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด ทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ และเป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการตายของประชากรโลกสูงมาก อยู่ในอันดับต้น ๆ นอกจากนั้นยังเป็นโรคที่ต้องให้การรักษาอาการป่วยเรื้อรัง เนื่องจากปอดพิการ ทำให้มีอาการเหนื่อย หอบ หายใจลำบาก 


หน้าที่ของปอด

ร่างกายต้องใช้ออกซิเจนเพื่อการดำรงชีวิต ออกซิเจนที่มีอยู่ในอากาศจะเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจเข้าไป ออกซิเจนจะไหลผ่าน จมูก ลำคอ หลอดลม เข้าไปถึงปอด และซึมเข้าสู่กระแสเลือด ที่ไหลมายังปอด เพื่อนำไปเลี้ยงร่างกาย นอกจากนั้นเลือดยังนำของเสียที่ร่างกายสร้างขึ้น คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มายังปอด และขับถ่ายทิ้งไปทางลมหายใจออก การแลกเปลี่ยนก๊าซทั้งสองต้องอาศัยปอดที่ทำงานได้ตามปกติ ถ้าปอดพิการทำงานไม่ได้ตามปกติ จะทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก เพราะต้องออกแรงหายใจเพิ่มขึ้น เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนให้พอใช้ และในที่สุดอาจตายได้จากการที่ร่างกายขาดออกซิเจนหรือจากคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือด ซึ่งทำให้มีภาวะกรดเกิน เพราะหายใจได้ไม่พอ ระบบทางเดินหายใจและปอดเป็นอวัยวะที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคและเสื่อมสมรรถภาพ


ปอดเสื่อมได้

ระบบทางเดินหายใจและปอดก็เหมือนอวัยวะอื่น ๆ คือ มีการเสื่อมลงตามอายุขัย ปกติเราหายใจเข้าออกครั้งละประมาณ 300 – 500 ลบ.ซม. หายใจนาทีละ 10 – 20 ครั้ง หรือนาทีละ 5 – 10 ลิตร ประมาณว่า เราหายใจเข้าออกวันละ 8,000 – 12,000 ลิตร หากอากาศที่เราหายใจเข้าไปไม่บริสุทธิ์ ที่เรียกว่ามี มลภาวะเป็นพิษ ในอากาศมีสารและก๊าซที่เป็นอันตรายต่อทางเดินหายใจ อีกทั้งการสูบบุหรี่ การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภทก็ทำให้มีมลภาวะเป็นพิษเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการอักเสบ ทางเดินหายใจและปอดเสื่อมเร็วกว่าที่ควร หรือทำให้เกิดมะเร็ง โดยเฉพาะในปอด นอกจากนั้นในอากาศยังมีเชื้อโรค เชื้อไวรัส และเชื้ออื่น ๆ ที่เมื่อหายใจเข้าไป ทำให้เกิดโรคในปอดที่พบบ่อย คือ เชื้อวัณโรค


อาการโรคปอด

  • เหนื่อยง่าย
  • ไอแห้ง ๆ
  • ไอมีเสมหะ
  • ไอเป็นเลือด
  • เจ็บหน้าอก 
แต่บ่อยครั้งที่โรคปอดจะไม่แสดงอาการ แต่เมื่อแสดงอาการก็อาจสายเกินไป อาจรักษาไม่หายขาด หรือแม้ว่าจะหาย แต่มีการทำลายเนื้อปอดมาก ทำให้มีอาการปอดพิการได้ โดยเฉพาะถ้ารักษาช้าไป หรือรักษาไม่ถูกวิธี ถึงแม้จะหายจากโรคก็ต้องทนทุกข์ทรมานจากการที่ปอดทำหน้าที่ได้ไม่เพียงพอ โรคปอดเรื้อรังที่เมื่อเป็นแล้วมักไม่มีอาการในระยะแรก แต่เมื่อมีอาการก็มักจะสายเกินไปที่จะรักษาให้หายขาดได้ หรือให้ปอดกลับมาทำงานได้ตามปกติ

โรคปอดที่พบบ่อย

  1. วัณโรค (Tuberculosis)

  2. หลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมปอดโป่งพอง (Chronic ฺBronchitis and Emphysema หรือ COPD)

  3. มะเร็งในปอด (Lung Cancer)

  4. โรคหอบหืด (Bronchial Asthma)


ใครควรตรวจโรคปอด

  1. ผู้ที่มีอาการทางระบบหายใจ ได้แก่ 

    • ผู้ที่มีอาการไอเรื้อรัง โดยเฉพาะไอมีเสมหะ ไอมีเลือดออกมาด้วย

    • เหนื่อยง่าย โดยเฉพาะตรวจทางหัวใจแล้วปกติ หรือหายใจมีเสียงหืด

    • เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะหายใจแล้วเจ็บมากขึ้น

  2. ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง ได้แก่ 

    • ผู้ที่สูบบุหรี่ ใช้ยาเสพติด 

    • ทำงานในโรงงานที่มีมลภาวะ มีควัน มีก๊าซเคมีที่เป็นพิษต่อทางเดินหายใจ 

    • ทำงานในเหมืองแร่ โรงโม่หิน โรงผลิตซีเมนต์ 

    • ทำงานในบรรยากาศที่อาจมีการเปื้อนปนหายใจเอาสารกัมมันตภาพเข้าไป

    • โรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องใช้สารแอสเบสตอส (Asbestos Fiber) เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ตู้เย็น ฯลฯ

    • ผู้ได้รับการรักษาโดยการฉายแสงบริเวณทรวงอก

    • ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันการติดเชื้อต่ำ

    • ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคที่อยู่ในระยะติดต่อ

ในผู้สูงอายุก็สามารถตรวจได้ เพราะมะเร็งปอดพบได้ในคนที่ไม่สูบบุหรี่หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ และโอกาสหายขาดจะมีมากกว่าเมื่อพบโรคขณะที่ยังไม่มีอาการ

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์โรคปอด และระบบทางเดินหายใจ

ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการทุกวัน 8.00-16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด