โรคตาในผู้สูงอายุ ความเสื่อมที่ต้องเตรียมรับมือ

7 นาทีในการอ่าน
โรคตาในผู้สูงอายุ ความเสื่อมที่ต้องเตรียมรับมือ

อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายจะเกิดการเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น รวมทั้งดวงตาของเรา ดวงตามักเริ่มเสื่อมตามอายุตั้งแต่วัยผู้ใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากขึ้นจะพบความเสื่อมและโรคตาได้มากตามวัย จึงควรระวังใส่ใจรักษาสุขภาพตา ตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จะได้ทราบภาวะของตา ถ้าพบความผิดปกติในช่วงแรกจะได้ป้องกันรักษาอย่างเหมาะสม หรือชะลอความเสื่อม ป้องกันการสูญเสียดวงตาอย่างถาวรได้ 


โรคและปัญหาทางตาของผู้สูงวัย
 

โรคและปัญหาทางตาที่มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ มีดังนี้

1) สายตาสูงวัยหรือสายตายาวตามอายุ

สายตาสูงวัย หรือสายตายาวตามอายุ (Presbyopia) คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าเป็นสายตายาว แต่แท้จริงเป็นการเสื่อมสภาพตามอายุ เกิดกับทุกคนที่อายุประมาณ 40 ปีขึ้นไปจากการที่เลนส์แก้วตาขาดความยืดหยุ่น กล้ามเนื้อในตาที่ช่วยปรับกำลังของตาในการมองใกล้ทำงานแย่ลง ทำให้ต้องใส่แว่นตาเวลามองใกล้ เพื่อปรับเปลี่ยนกำลังรวมแสงให้เพิ่มขึ้นเมื่ออยากมองใกล้

สายตาสูงวัยเกิดได้กับทุกคน ทั้งกับคนที่เดิมสายตาปกติ สายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง แก้ไขโดยการใช้เลนส์ที่มีกำลังรวมแสงมากขึ้น ในผู้มีสายตาปกติ แต่มีสายตาสูงวัยเมื่ออายุมากขึ้น แก้โดยใส่แว่นสำหรับการมองใกล้ (มองไกลไม่ต้องใส่) หรือจะใส่เลนส์ชัดหลายระยะ เพื่อการมองเห็นได้ทั้งไกลและใกล้ ในผู้ที่มีสายตาสั้น ยาว เอียงอยู่เดิมแล้วมีสายตาสูงวัย จะต้องมีการปรับค่าแว่น จากเดิมก่อนมีสายตาสูงวัย จะมีแว่นอันเดียว มองไกลได้ และเพ่งมองใกล้ได้เอง พอมีสายตาสูงวัย ต้องเปลี่ยนเป็นแว่นหลายระยะ (Progressive Glasses) หรือ 2 ระยะ (Bifocal Glasses) เพื่อให้มองได้ทั้งไกลและใกล้ หรือเดิมใส่คอนแทคเลนส์แก้สายตาสั้น ยาว เอียง มองได้ชัดทั้งไกลและใกล้ เมื่อมีสายตาสูงวัยร่วมด้วย ถ้าจะมองใกล้จะต้องใส่แว่นสายตายาว (กำลังเป็นบวก) เพื่อให้มองใกล้ได้ หรือต้องมีการปรับค่าคอนแทคเลนส์ หรือเปลี่ยนชนิดคอนแทคเลนส์เป็นชัดหลายระยะ หรืออาจแก้ไขด้วย FemtoLASIK แก้สายตายาวตามอายุ (FemtoLASIK with presbyond) ถ้าไม่อยากใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : สายตายาวตามวัยแก้ได้ด้วย FemtoLASIK Presbyond 


2) ต้อกระจก (Cataract) 

ต้อกระจก (Cataract) เกิดขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้เลนส์แก้วตาแข็งและขุ่นขึ้น สายตาจึงมัวลง จะเร็วหรือช้า มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระดับและตำแหน่งของความขุ่นฝ้าในเนื้อเลนส์ ถ้าเป็นต้อกระจกบริเวณขอบรอบนอก ผู้ป่วยจะยังมีสายตาที่คมชัดเป็นปกติ แต่ถ้าเป็นบริเวณตรงกลางเนื้อเลนส์จะรบกวนสายตามาก อาการที่พบได้บ่อยของต้อกระจก ได้แก่ สายตามัวหรือเห็นภาพซ้อน จะมัวเหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง ตาสู้แสงไม่ได้ ทำให้มีปัญหาในการขับขี่ยานพาหนะโดยเฉพาะกลางคืน เห็นสีผิดไปจากเดิม ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อย ๆ ต้อกระจกบางชนิดทำให้สายตาสั้นมากขึ้นมาก ๆ ได้

ต้อกระจกส่วนใหญ่ที่เกิดตามวัยจะเป็นมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น สายตาจะมัวลงเรื่อย ๆ การผ่าตัดสลายต้อกระจกเป็นวิธีการรักษา จะทำเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้สายตาของผู้ป่วย ปัจจุบันการผ่าตัดใช้เครื่องสลายต้อ แผลผ่าตัดเล็ก ผ่าตัดรวดเร็วโดยใช้ยาชาเฉพาะที่ และไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล หลังสลายต้อแพทย์จะใช้เลนส์แก้วตาเทียมแทนที่ ซึ่งเลนส์มีหลายแบบให้เลือกตามความต้องการในการใช้งานของแต่ละบุคคล

ถ้าต้อกระจกสุกแล้วจำเป็นต้องผ่าตัดโดยเร็ว เพราะถ้าปล่อยไว้นอกจากจะเกิดอาการปวดตาอย่างรุนแรงแล้ว อาจเกิดต้อหินแทรกซ้อนได้ ปัจจุบันแนะนำให้ตรวจตาเป็นระยะ ๆ เมื่อเข้าสู่วัยที่มากขึ้น ทำให้รักษาได้ทันท่วงที หรือตั้งแต่เป็นระยะแรก ไม่ต้องรอต้อสุกจนเกิดปัญหารุนแรง

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : 
ต้อกระจก สาเหตุ และปัจจัยสำคัญที่ควรระวัง
การผ่าตัดรักษาต้อกระจกและเลนส์แก้วตาเทียมชนิดต่าง ๆ


3) ต้อหิน 

ต้อหิน (Glaucoma) เกิดจากความเสื่อมของเส้นประสาทตา ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด ส่วนใหญ่มีความดันลูกตาสูง ซึ่งอาการที่สามารถสังเกตได้ คือ หากเป็นต้อหินแบบเฉียบพลัน จะปวดตา ตามัวลง และเห็นรุ้งรอบดวงไฟ อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยได้ เนื่องจากความดันตาสูงมาก ในกรณีที่เป็นต้อหินชนิดรุนแรงเฉียบพลัน รักษาโดยการใช้ยาหยอดตาและยารับประทานเพื่อลดความดันในลูกตา บางรายจำเป็นต้องรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์และการผ่าตัด ความน่าสนใจของโรคต้อหิน คือ ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยไม่มีอาการเลย เหมือนภัยเงียบค่อย ๆ ทำลายเส้นประสาท โดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า ต้อหินเฉียบพลันพบบ่อยในคนเอเชียและปัจจุบันพบในคนอายุน้อย (เช่น เริ่มตั้งแต่อายุ 30 กว่า ๆ) เพิ่มมากขึ้น และพบมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : ตรวจเช็กต้อหินก่อนรู้ตัวเมื่อสาย 


4) น้ำวุ้นตาเสื่อม 

น้ำวุ้นตาเสื่อม (Vitreous Floaters) เกิดจากวุ้นตาที่มีลักษณะเป็นเจลหนืดใสเหมือนวุ้นอยู่ภายในส่วนหลังของลูกตาโดยอยู่ติดกับจอประสาทตาที่ล้อมรอบมันอยู่เสื่อมลง เมื่อวุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) น้ำวุ้นในตามีการเปลี่ยนสภาพ บางส่วนจะกลายเป็นของเหลวและบางส่วนจับเป็นก้อนหรือเป็นเส้นเหมือนหยากไย่ และวุ้นตาอาจจะหดตัวลอกออกจากผิวจอประสาทตา ทำให้มองเห็นเป็นเงาดำ จุดเล็ก ๆ เส้น ๆ วง ๆ หรือเส้นหยากไย่ลอยไปลอยมา ขยับไปมาได้ตามการกลอกตา หรือมีแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูป ความน่าสนใจคือสาเหตุของโรคมักเกิดจากความเสื่อมตามวัย พบมากในคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และกลุ่มสายตาสั้น แต่ปัจจุบันผู้ที่เป็นโรคนี้อายุน้อยลงเรื่อย ๆ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่เข้ารับการรักษาอาจร้ายแรงถึงขั้นจอประสาทตาฉีกขาด หลุดลอก และสูญเสียการมองเห็นถาวรได้ ดังนั้นจึงควรตรวจคัดกรองเมื่อมีอาการดังกล่าว และจำเป็นต้องได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์โดยเร็วว่ามีจอประสาทตาฉีกขาด หรือเป็นรู หรือหลุดลอกหรือไม่ ถ้ามีต้องรักษาต่อไป เช่น ถ้ามีรอยฉีกหรือรูที่จอตาจะรักษาด้วยการใช้เลเซอร์ แต่ถ้าพบมีจอตาหลุดลอกก็ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด


โรคตาในผู้สูงอายุ ความเสื่อมที่ต้องเตรียมรับมือ

5) จุดรับภาพเสื่อมตามวัย 

จุดรับภาพเสื่อมตามวัย (Age – Related Macular Degeneration : AMD) เกิดจากจุดรับภาพบริเวณกลางจอประสาทตาเสื่อม มักเป็นไปตามวัย พบมากในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีความร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น อาการที่สังเกตได้คือ มองภาพไม่ชัด มองเห็นบิดเบี้ยว ตาพร่ามัว มีจุดดำหรือเงาตรงกลางภาพ ซึ่งจอประสาทตาเสื่อมเป็นโรคที่ต้องรีบทำการรักษากับจักษุแพทย์โดยเร็วเพื่อรักษาและช่วยควบคุมไม่ให้การมองเห็นแย่ลงจนรบกวนคุณภาพชีวิต ที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาจอประสาทตาเสื่อมให้หายขาด การป้องกันดูแลที่ดีที่สุดคือ การตรวจคัดกรองและรักษาดูแลดวงตา เลี่ยงแดดจ้า ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ จะช่วยชะลอความเสื่อมที่อาจเกิดขึ้นได้ 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : จอตาเสื่อมในผู้สูงวัย 


6) เบาหวานขึ้นตา 

เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากโรคเบาหวาน พบในผู้ป่วยเบาหวาน โดยมีสาเหตุจากการที่น้ำตาลในเลือดสูง ทำให้หลอดเลือดและระบบประสาทเสื่อมลง ส่งผลให้ชั้นจอประสาทในลูกตาเกิดความเสื่อม ถ้าทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ตามัวและตาบอดได้ ความน่าสนใจของโรคนี้คือ ผู้ป่วยเบาหวานบางคนไม่เคยตรวจตาจึงไม่ทราบว่าการมองเห็นแต่ละข้างเป็นอย่างไร เพราะโดยรวม 2 ข้างยังมองยังเห็นอยู่ แต่อาจมีด้านหนึ่งที่แย่กว่าแล้ว และบางคนรู้สึกว่ามองเห็นโดยรวมยังปกติจึงไม่มาพบจักษุแพทย์ ทำให้บางครั้งรักษาช้าเกินไปและตาบอดได้ในที่สุด (โดยทั่วไปผู้ป่วยเบาหวานต้องตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง หรือบ่อยกว่านั้นถ้าเริ่มมีเบาหวานขึ้นตา) ซึ่งการตรวจคัดกรองและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รวมถึงควบคุมโรคเบาหวานให้ดีจะช่วยลดความเสียหายและความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้กับตาและอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งเบาหวานขึ้นตามีความรุนแรงแตกต่างกัน ถ้าเริ่มเข้าขั้นรุนแรง จักษุแพทย์สามารถยิงเลเซอร์ช่วยชะลอปัญหาเบาหวานขึ้นตาได้ หรืออาจมีการฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตาเพื่อรักษาจุดรับภาพบวมจากเบาหวานขึ้นตาได้ การรักษาขึ้นอยู่กับระยะความรุนแรงของโรค ถ้าเป็นมากมีเลือดออกหรือจอตาหลุดลอกอาจต้องผ่าตัด


7) ตาแห้ง

ตาแห้ง (Dry Eyes) เป็นโรคตาที่พบได้บ่อยในกลุ่มสูงวัยและในวัยทำงาน มีอาการไม่สบายตา ระคายเคือง เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในตา แสบตาหรืออาจน้ำตาไหลมากได้ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การทำงานผิดปกติของต่อมไขมันที่เปลือกตา (Meibomian Gland Dysfunction) การใส่คอนแทคเลนส์ การใช้หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์นาน ๆ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือโรคและการรับประทานยาบางชนิด พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย หากปล่อยไว้ไม่ได้รักษาอาจทำให้การมองเห็นมัวลง มีการอักเสบของเยื่อบุตาหรือกระจกตา สามารถตรวจวินิจฉัยได้โดยการตรวจตาอย่างละเอียดจากจักษุแพทย์ รวมทั้งอาจมีวัดปริมาณและคุณภาพของน้ำตา การรักษาตาแห้งขึ้นกับสาเหตุ มักต้องใช้น้ำตาเทียมร่วมด้วย ปรับพฤติกรรมการใช้งาน หรือประคบอุ่น นวด และทำความสะอาดเปลือกตากรณีมีเปลือกตาผิดปกติ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : ต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน หนึ่งในตัวการโรคตาแห้ง 


8) ต้อเนื้อ ต้อลม

ต้อเนื้อ (Pterygium) คือ ความเสื่อมสภาพของเยื่อบุตา ทำให้มีเนื้อเยื่อผิดปกติเป็นเยื่อสีแดงยื่นเข้าไปในตาดำเป็นรูปสามเหลี่ยม ค่อย ๆ ลุกลาม ถ้าเป็นมากใกล้หรือบังปิดรูม่านตา การมองเห็นจะผิดปกติ มีสายตาเอียงมากขึ้นหรือตามัวลงมาก ต้อเนื้อพบบริเวณหัวตามากกว่าหางตา โรคนี้มีความสัมพันธ์กับแสงแดด แสงอัลตราไวโอเลต ทำให้เยื่อบุตาเสื่อมสภาพลง พบบ่อยในเขตร้อนและผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง พบเจอทั้งแสงแดด ลม ฝุ่น ควัน ทราย พบมากในผู้ที่มีอายุ 30 – 35 ปี ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นคือ ตาแดง ระคายเคือง ไม่สบายตา ถ้าเป็นมากจะเห็นภาพไม่ชัด 

ส่วนต้อลม (Pinguecula) คือ การเสื่อมสภาพเช่นเดียวกับต้อเนื้อ แต่ยังไม่ลุกลามเข้าตาดำเป็นอยู่บริเวณเยื่อบุตาเท่านั้น จึงมีอาการแค่ระคายเคือง แต่ตาไม่มัวลง ถ้าเป็นรุนแรงยื่นเข้าตาดำจะกลายเป็นต้อเนื้อ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : ต้อเนื้อ 


โรคตาในผู้สูงอายุ ความเสื่อมที่ต้องเตรียมรับมือ

โรคตาต่าง ๆ ที่กล่าวมาเป็นโรคที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุได้เสมอ การตรวจคัดกรองความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคตาช่วยให้ดูแลรักษาได้ทันท่วงทีและป้องกันการสูญเสียดวงตา โดยเฉพาะผู้สูงวัยแนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคตาเป็นประจำทุกปีเพื่อดูว่ามีภาวะผิดปกติที่ควรรักษาหรือไม่ ซึ่งการตรวจคัดกรองดวงตา ไม่เพียงช่วยให้ค้นพบความผิดปกติของดวงตาในระยะเริ่มแรก แต่ยังช่วยให้ค้นพบโรคเกี่ยวกับดวงตาในขณะที่ยังไม่แสดงอาการ โดยเฉพาะในผู้สูงวัยที่ต้องพบกับความเสื่อมของตาตามวัย 


นอกจากนี้ในคนทุกช่วงวัยอาจมีความผิดปกติทางตาแตกต่างกัน เช่น ปัญหาสายตาในเด็ก ตาเข ตาเหล่ หรือในวัยเรียนวัยทำงาน เช่น สายตาล้า  ตาแห้ง หรือการมองเห็นผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น ยาว เอียง หรือในกลุ่มอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปก็จะมีสายตายาวตามอายุ (Presbyopia) การดูแลสุขภาพตาและตรวจตาเป็นระยะ ทำให้รู้ก่อนและแก้ไขปัญหาก่อนจะสายเกินไป ช่วยให้มองเห็นโลกได้ชัดเจนไปอีกนาน


 

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ

จันทร์-ศุกร์ 08.00 - 19.00 น.

เสาร์ 08.00 - 17.00 น

อาทิตย์ 08.00 - 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด