เรื่องชวนสงสัยของคนอยากมีลูก

3 นาทีในการอ่าน
หรือ
rifm-iconrifm-play-icon
ฟัง AI สรุปให้
เรื่องชวนสงสัยของคนอยากมีลูก

แชร์

เพราะลูกคือของขวัญสำหรับพ่อแม่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนอยากมีลูกจะเต็มไปด้วยคำถามมากมาย การมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องไม่เพียงช่วยให้คลายความกังวล แต่ยังช่วยให้วางแผนมีลูกได้อย่างที่ตั้งใจ

ช่วงอายุกับการมีลูก

ยิ่งอายุเพิ่มขึ้นความเสี่ยงในการมีลูกยิ่งเพิ่มขึ้นซึ่งความเสี่ยงที่พบเพิ่มขึ้นคืออัตราการแท้งบุตรและอัตราการเกิดภาวะดาวน์ซินโดรมดังนั้นช่วงเวลาที่เหมาะกับการมีลูกจึงอยู่ที่อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปจนถึงช่วงอายุ 35 ปี แต่ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้ปัจจุบันมีตัวช่วยเพื่อลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ ดังนั้นแม้คุณแม่จะตั้งครรภ์หลังอายุ 35 ปีก็สามารถคลอดเจ้าตัวเล็กอย่างราบรื่นได้ สิ่งสำคัญคือการมีร่างกายที่แข็งแรงและการยอมรับความเสี่ยงที่อาจพบขณะตั้งครรภ์ ทำให้ปัจจุบันไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็มีโอกาสมีลูกได้ แต่ปัจจัยที่ควรรู้เพิ่มเติมคือ หากคุณแม่มีช็อกโกแลตซีสต์หรือเคยผ่าตัดรังไข่ อาจส่งผลให้ไข่มีจำนวนน้อยกว่าปกติยากต่อการตั้งครรภ์และอาจมีความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ที่มีความชำนาญเพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์


ความเครียดทำให้มีบุตรยาก

ความเครียดส่งผลต่อการมีบุตรโดยเฉพาะในผู้หญิงถ้าหากเครียดมากจะส่งผลให้รังไข่รวนไม่มีไข่ตกโดยสังเกตได้จากประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอทำให้สเปิร์มไม่สามารถเข้าไปได้ตรงวันที่ไข่ตกซึ่งแพทย์มักจะให้รับประทานยากระตุ้นไข่เพื่อให้ไข่ตกสม่ำเสมอ ส่วนฝ่ายชายหากเครียดมากจะส่งผลให้ความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์ลดลง ทำให้มีบุตรยากขึ้น มีงานวิจัยระบุว่า คู่แต่งงานใหม่มีโอกาสตั้งครรภ์มากที่สุด หลังจากแต่งงานแล้ว 6 เดือน หากฝ่ายหญิงยังไม่ตั้งครรภ์โอกาสในการตั้งครรภ์จะลดลงไปเรื่อย ๆ แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโดยเร็ว 


ฝากไข่และแช่แข็งน้ำเชื้อเพื่อมีบุตร

การฝากไข่ (Egg Freezing) และการแช่แข็งน้ำเชื้อ (Sperm Freezing) ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน เพราะเป็นทางเลือกของคนอยากมีลูกในอนาคต แต่ยังไม่มีคู่ แม้จะไม่การันตีว่าการฝากไข่และแช่แข็งน้ำเชื้อจะช่วยให้ตั้งครรภ์ได้อย่างแน่นอน แต่มั่นใจได้ว่าช่วยรักษาความแข็งแรงของไข่และอสุจิในช่วงวัยที่ฝากไว้ได้เป็นอย่างดี หากฝากไข่ไว้เกิน 10 ปี แม้จะใช้งานได้ แต่อาจเสื่อมสภาพลงไปบ้าง ส่วนน้ำเชื้อเก็บไว้เกิน 10 ปีก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด สิ่งที่ควรรู้คือ ไข่ที่ฝากไว้อาจใช้งานไม่ได้ทุกฟอง เพราะไข่ที่ผ่านการแช่แข็งจะมีอัตราการรอดชีวิตหลังละลายอยู่ที่ร้อยละ 80 – 90 นอกจากนี้ความสำเร็จของการตั้งครรภ์ขึ้นอยู่กับคุณภาพของไข่และน้ำเชื้อ รวมถึงอายุและความพร้อมของคุณแม่ด้วย


เรื่องชวนสงสัยของคนอยากมีลูก 

โอกาสแท้งเมื่อตั้งครรภ์

โดยทั่วไปหากคุณแม่จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์จะพบมากที่สุดภายใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ มีการทำวิจัยถึงสาเหตุของการแท้งจากการนำตัวอ่อนไปตรวจพบว่า 70% ของคุณแม่ที่ต้องยุติการตั้งครรภ์มีสาเหตุจากการที่โครโมโซมตัวอ่อนผิดปกติมากที่สุด นอกจากนี้ยิ่งอายุมากโอกาสแท้งยิ่งมากขึ้นเรื่อย ตามอายุที่เพิ่มขึ้น


คู่รักมีบุตรยากจัดการได้

คู่รักที่มีแนวโน้มมีบุตรยากเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย แต่ด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ช่วยสร้างผลสำเร็จในการมีบุตรได้ ซึ่งมีตั้งแต่การตรวจเช็กวันไข่ตกที่แน่นอน ฝ่ายหญิงกินยากระตุ้นไข่แล้วทำการบ้านในวันนั้น หรือการนำน้ำเชื้อของฝ่ายชายมาคัดเลือกสเปิร์มที่แข็งแรงที่สุดแล้วฉีดเข้าไปในโพรงมดลูด รวมถึงการทำเด็กหลอดแก้วที่นำไข่ของฝ่ายหญิงและสเปิร์มของฝ่ายชายมาผสมกันในห้องแล็บแล้วเพาะเลี้ยงจนแข็งแรงก่อนจะนำกลับเข้าสู่ร่างกายฝ่ายหญิง นอกจากนี้การตรวจโครโมโซมสามารถลดอัตราการแท้งบุตรและภาวะดาวน์ซินโดรมได้ ทั้งนี้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการเจริญพันธุ์และรักษาผู้มีบุตรยากเพื่อผลสำเร็จในการมีบุตร


อายุมากแต่อยากมีบุตร

คุณแม่ที่อยากมีเจ้าตัวเล็กตอนอายุมากหรือมีเจ้าตัวเล็กมาแล้วอยากมีเพิ่มตอนที่อายุมากควรต้องปรึกษาแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางด้านการมีบุตร โดยจะต้องเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดตามคำแนะนำของแพทย์ และต้องยอมรับความเสี่ยงในเรื่องของโอกาสแท้งและการเกิดภาวะดาวน์ซินโดรม เพราะเมื่ออายุมากความเสี่ยงจะมากตาม มีข้อมูลระบุว่า เมื่อผู้หญิงอายุ 37 ปีขึ้นไป ประจำเดือนจะมาน้อยลง ไข่จะน้อยลง ฮอร์โมนเพศหญิงลดลง เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง ซึ่งส่งผลให้มีบุตรยากขึ้น และในกรณีที่ฝ่ายชายทำหมันแล้วแต่อยากมีลูก การใช้วิธีทำเด็กหลอดแก้วเท่านั้นมักจะได้ผลดีกว่าการผ่าตัดต่อหมัน

 

อย่างไรก็ตามสามีภรรยาควรวางแผนครอบครัวร่วมกันให้ชัดเจน เพื่อสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ตามที่ตั้งใจ เพราะหากแผนเปลี่ยนไม่เป็นไปตามที่วางไว้จะได้ปรับเปลี่ยนแผนครอบครัวให้ลงตัวกับการใช้ชีวิตคู่

ข้อมูลโดย

Doctor Image
พญ. ปวีณา สารการโกศล

สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
พญ. ปวีณา สารการโกศล

สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
Doctor profileDoctor profile
Doctor Image
นพ. ปภากร มิ่งมิตรพัฒนะกุล

สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
นพ. ปภากร มิ่งมิตรพัฒนะกุล

สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก

ชั้น 5 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

จันทร์ - เสาร์ เวลา 8.00 - 16.00 น.

แชร์

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด