ดูดไขมันเฉพาะส่วน กำจัดส่วนเกิน พร้อมอวดหุ่นเป๊ะ

3 นาทีในการอ่าน
ดูดไขมันเฉพาะส่วน  กำจัดส่วนเกิน พร้อมอวดหุ่นเป๊ะ

การดูดไขมันเป็นวิธีกำจัดไขมันที่รวดเร็ว ช่วยแก้ปัญหารูปร่างให้เข้าที่ เสริมสร้างบุคลิกภาพ เพิ่มความมั่นใจในการแต่งตัว แต่ไขมันในบางตำแหน่งไม่สามารถลดลงได้ จึงควรปรึกษาศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางอย่างใกล้ชิด เพื่อเลือกวิธีการที่เหมาะสม ลดความกังวลใจ ภาวะแทรกซ้อนต่ำ และได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ


รู้จักการดูดไขมัน

การดูดไขมัน (Liposuction) เป็นการใช้เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายท่อยาวใส่เข้าไปใต้ผิวหนังเพื่อดูดไขมันส่วนเกินออกมาจากบริเวณต่าง ๆ ได้แก่ หน้าท้อง สะโพก ต้นขา ต้นแขน คอ ก้น เป็นต้น ทำให้ลดจำนวนไขมันบริเวณส่วนต่าง ๆ ที่สะสมเฉพาะที่ลงได้ แต่การดูดไขมันไม่สามารถแก้ปัญหาผิวเปลือกส้มจากเซลลูไลท์ได้ และสิ่งที่ต้องรู้คือการดูดไขมันไม่สามารถดูดปริมาณมาก ๆ ในครั้งเดียวกัน เพราะอาจมีความเสี่ยงในการเสียเลือดมาก ซึ่งศัลยแพทย์จะให้การรักษาและคำแนะนำอย่างใกล้ชิด


ดูดไขมันเหมาะกับใคร

  • ผู้ที่ไม่ได้อ้วนทั้งตัว
  • ผู้ที่ไม่ได้มีน้ำหนักเกินปกติมาก
  • ผู้ที่มีการสะสมของไขมันเฉพาะที่
  • ผู้ที่มีไขมันสะสมและลดลงไม่ได้ด้วยการออกกำลังกายและควบคุมอาหาร
  • ผู้ที่ผิวหนังยืดหยุ่นดี หลังจากดูดไขมันผิวจะเรียบสวยหย่อนน้อย

ผ่าตัดดูดไขมัน

ในการผ่าตัดดูดไขมันศัลยแพทย์จะทำเครื่องหมายบนร่างกายในตำแหน่งที่ต้องการดูดไขมันออก หลังจากนั้นจึงทำการเจาะรอยเล็กบริเวณผิวหนัง ขนาดประมาณ 0.5 – 1 เซนติเมตร แล้วใส่ท่อเรียวยาวขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 – 5 มิลลิเมตรที่จะดูดไขมันเข้าไป ซึ่งท่อนี้จะต่อกับเครื่องปั๊มสุญญากาศหรือเครื่องอัลตราซาวนด์ โดยปริมาณไขมันที่ออกมาจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งและปริมาณไขมันที่สะสม อาจจะเสียเลือดบ้างเล็กน้อย หลังผ่าตัดศัลยแพทย์จะใช้ผ้าพันหรือผ้ารัดบริเวณที่ดูดไขมัน


เครื่องมือดูดไขมัน

สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการดูดไขมัน มี 2 แบบคือ

  1. เครื่อง VASER ใช้ Ultrasonic Energy สลายไขมัน
  2. เครื่อง Body Tite เครื่องมือที่ใช้ Radio Wave Energy เพื่อสลายไขมันแล้วจึงดูดไขมัน

ทั้งสองเครื่องนี้ดูดไขมันได้ง่าย ไม่เป็นอันตรายต่อเส้นเลือดหรือเส้นประสาท ช่วยกระชับผิว โดยศัลยแพทย์จะวางแผนและเลือกรูปแบบการรักษาที่เหมาะสม


ความเสี่ยงที่อาจพบ

  • ผิวไม่เรียบคล้ายเป็นคลื่น
  • ชาบริเวณแผลผ่าตัด
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการนำไขมันออกปริมาณมากเกินไป
  • ปวดแผล สามารถทานยาแก้ปวดได้
  • ติดเชื้อหรือมีภาวะเลือดออกที่แผลผ่าตัด ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น โรคประจำตัว, การทานยา ฯลฯ

ดูดไขมันเฉพาะส่วน กำจัดส่วนเกิน พร้อมอวดหุ่นเป๊ะ
เตรียมตัวก่อนดูดไขมัน

1) แจ้งข้อมูลสุขภาพกับแพทย์อย่างละเอียด ได้แก่

  • ปัญหาสุขภาพ
  • โรคร้ายแรง / โรคประจำตัว
  • ประวัติการผ่าตัดและการได้ยาระงับความรู้สึก
  • ฟันโยก ฟันปลอม และปัญหาเกี่ยวกับฟัน
  • การแพ้ยา / แพ้อาหาร
  • อื่น ๆ

2) ในกรณีมีภาวะเสี่ยงหรือโรคประจำตัวจะมีการเตรียมพร้อมร่างกายสำหรับการผ่าตัดและวางยาสลบ ได้แก่

  • การเอกซเรย์
  • การตรวจเลือด
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • การปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรม

3) งดใช้ยา ยาบำรุง สมุนไพรบางชนิดที่อาจมีผลกับการผ่าตัด ก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 7 วัน และนำยาประจำตัวและยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่รับประทานมาโรงพยาบาลเพื่อแจ้งแพทย์ในวันผ่าตัด เช่น

  • ยาแก้ปวด
  • ยาแอสไพริน
  • วิตามินดี วิตามินซี วิตามินเอ
  • น้ำมันตับปลา
  • อื่น ๆ

4) ควรงดสูบบุหรี่ ก่อนการผ่าตัดประมาณ 6 สัปดาห์ เพื่อป้องกันภาวะเนื้อเยื่อขาดเลือดมาเลี้ยง ทำให้เนื้อเยื่อตายได้ ถ้าสูบบุหรี่จัดต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบทันที และควรงดสูบบุหรี่หลังผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์

5) หยุดดื่มสุรา ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด และควรหยุดดื่มสุราหลังผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์

6) อาบน้ำชำระร่างกายและสระผมให้สะอาด

7) ห้ามทาเล็บ

8) ในกรณีดมยาสลบ งดน้ำและอาหารก่อนผ่าตัดตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการสูดสำลักน้ำย่อยหรือเศษอาหารจากกระเพาะอาหารเข้าไปสู่ปอดระหว่างการได้รับยาระงับความรู้สึก

9) เตรียมเสื้อหลวม เพื่อให้สวมสะดวกในวันผ่าตัดและไม่ถูกแผลขณะถอดเปลี่ยนเสื้อผ้า

10) ถ้าเป็นผู้หญิง หลีกเลี่ยงช่วงมีประจำเดือน


ดูแลหลังดูดไขมัน

  1. หลังผ่าตัดภายใน 24 – 48 ชั่วโมง จะรู้สึกปวดแสบร้อน บวม และมีรอยเขียวช้ำที่ผิวหนังบริเวณผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะให้รับประทานยาบรรเทาอาการปวดและประคบเย็นหลังผ่าตัด รวมถึงใส่ชุดรัดรูปเพื่อการกระชับ (Pressure Garment)
  2. ประมาณ 1 เดือน ควรใช้ผ้ายืดพันรัดหรือชุดรัดรูปเพื่อการกระชับในบริเวณที่ทำการรักษา เพื่อช่วยกระชับกล้ามเนื้อและลดอาการบวม โดยอาการบวมจะดีขึ้นภายใน 1 เดือน และผิวหนังบริเวณที่ดูดไขมันลักษณะเป็นลูกคลื่นจะยุบเข้าที่ประมาณ 3 – 6 เดือน ขึ้นอยู่กับการรักษาของแพทย์และคำแนะนำในการใช้ผ้ายืดพันรัดหรือชุดซัพพอร์ต
  3. ประมาณวันที่ 3 หลังผ่าตัด หากแผลแห้งดี ไม่มีอาการปวด บวม แดง ร้อนที่แผล สามารถอาบน้ำได้ โดยต้องซับแผลให้แห้ง ทาแป้งได้ในบริเวณที่รู้สึกคัน แต่ห้ามทาที่บริเวณแผล
  4. แพทย์จะนัดตัดไหมเมื่อครบประมาณ 1 สัปดาห์ ห้ามทายาป้องกันการเกิดแผลเป็นนูน แต่ใช้ถูนวดเบา ๆ ที่ฟกช้ำได้
  5. หลังการรักษา 1 เดือน ควรงดออกกำลังกาย
  6. ในระยะยาวจำเป็นต้องควบคุมอาหารและออกกำลังกายสม่ำเสมอ มิเช่นนั้นรูปร่างจะกลับไปผิดสัดส่วนเช่นเดิม


อย่างไรก็ตามเมื่อดูดไขมันแล้วจะต้องออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อกระชับและควบคุมอาหารเพื่อรักษาผลลัพธ์ที่ได้ให้นานที่สุด นอกจากนี้สิ่งที่ต้องรู้คือ การดูดไขมันจะได้ผลดีในกรณีที่ไม่มีผิวหนังหย่อนคล้อย ถ้ามีผิวหนังหย่อนคล้อย เช่น ผนังหน้าท้องที่เคยตั้งครรภ์ ลดน้ำหนักมาแล้วหลายสิบกิโลกรัม จะต้องดูดไขมันร่วมกับการศัลยกรรมยกกระชับหน้าท้อง ซึ่งมีทั้งยกกระชับบางส่วน (Lipectomy) และยกกระชับทั้งหน้าท้อง (Tummy Tuck) เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ

 

ข้อมูลโดย

Doctor Image
พญ. เล็ก กาญจนโกมุท

ศัลยศาสตร์ตกแต่ง

พญ. เล็ก กาญจนโกมุท

ศัลยศาสตร์ตกแต่ง

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์ศัลยกรรมตกแต่ง โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด