ปัจจุบันการส่งตรวจทางรังสีวิทยาของช่องท้องเพิ่มขึ้นมาก โดยมีข้อบ่งชี้ต่าง ๆ ของการส่งตรวจที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการตรวจประจำปีเพื่อตรวจดูร่างกายว่ามีความผิดปกติหรือไม่ อย่างไรก็ตามการตรวจพบก้อนที่ตับอ่อนมักสร้างความกังวลไม่มากก็น้อยเมื่อรับทราบผลและมีคำถามต่าง ๆ ตามมามากมาย เพราะฉะนั้นการทำความเข้าใจก้อนที่ตับอ่อนจะช่วยให้เข้าใจแนวทางการรักษาที่เหมาะสม
ชนิดของก้อนที่ตับอ่อน
ก้อนที่ตับอ่อนสามารถแบ่งได้เป็นลักษณะของก้อนเนื้อ (Solid) และถุงน้ำ (Cyst) โดยส่วนใหญ่มักได้คำวินิจฉัยเบื้องต้นจากการส่งตรวจอัลตราซาวนด์ (Ultrasonography) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
- ก้อนเนื้อ (Solid) ถ้าพบลักษณะเป็นก้อนเนื้อ (Solid) อาจต้องวินิจฉัยแยกโรคจากกลุ่มที่เป็นภาวะเนื้อดี (Benign) ออกจากภาวะเนื้อร้ายหรือมะเร็ง (Cancer) โดยพบโรคต่าง ๆ ได้แก่ ภาวะที่พบก้อนจากตับอ่อนอักเสบ ก้อนที่เกิดกลุ่มเซลล์ชนิด Endocrine หรือ Pancreatic Neuroendocrine Tumor (PNET) โดยกลุ่ม PNET สามารถตรวจพบโรคต่าง ๆ ได้ตั้งแต่เนื้องอกชนิดดีจนถึงชนิดร้ายแรง ภาวะม้ามที่พบนอกตำแหน่ง (Accessory Spleen) และมะเร็งตับอ่อน (Pancreatic Cancer)
- ถุงน้ำ (Cyst) ถ้าพบลักษณะเป็นถุงน้ำ (Cyst) แนะนำให้ดูจากลักษณะของถุงน้ำที่ตรวจพบเพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคในเบื้องต้น อย่างไรก็ตามอาจต้องมีการส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น การทำอัลตราซาวนด์ผ่านทางเดินอาหาร (Endoscopic Ultrasound หรือ EUS) หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของช่องท้อง (Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI/MRCP) เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคถุงน้ำที่ตับอ่อนได้ชัดเจนเพิ่มขึ้น โดยโรคในกลุ่มถุงน้ำที่ตรวจพบเป็นภาวะดีและไม่เปลี่ยนเป็นเนื้อร้าย เช่น Serous Cystadenoma (SCA) และถุงน้ำที่เกิดตามหลักภาวะตับอ่อนอักเสบ (Pancreatic Pseudocyst) และอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มถุงน้ำที่มีโอกาสเป็นเนื้อร้าย โดยอาจพบได้ตั้งแต่ลักษณะดีจนถึงเป็นเนื้อร้าย เช่น Intraductal Papillary Mucinous Neoplasm (IPMN), Mucinous Cystic Neoplasm (MCN) และ Solid Pseudopapillary Epithelial Neoplasia (SPEN)
วิธีปฏิบัติเมื่อตรวจพบก้อนที่ตับอ่อน
ในกรณีที่ตรวจพบก้อนที่ตับอ่อนจากการตรวจร่างกายทั่วไปและไม่มีอาการ ควรรับฟังรายละเอียดเบื้องต้นจากแพทย์ที่ส่งตรวจและปรึกษาถึงแนวทางการส่งต่อเพื่อพบศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านโรคตับ ตับอ่อน และทางเดินน้ำดีเพื่อรับฟังคำอธิบายของโรค การวินิจฉัย และแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ในกรณีที่มีอาการ โดยทั่วไปอายุรแพทย์ทางเดินอาหารหรือศัลยแพทย์เฉพาะทางมักเป็นแพทย์ที่ดูแลโดยตรงและให้คำแนะนำถึงแนวทางการรักษาโรคที่เหมาะสมต่อไป
โอกาสของการเป็นมะเร็งเมื่อพบก้อนที่ตับอ่อน
การตรวจพบก้อนที่ตับอ่อนไม่ได้เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งเสมอไป โดยทั่วไปผู้ป่วยมักกังวลว่าจะเป็นเนื้อร้าย เพราะฉะนั้นผู้ป่วยควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้ทราบถึงการวินิจฉัยโรคว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ รวมถึงแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ มีปัจจัยที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้น เช่น เพศ อายุ อาการต่าง ๆ รวมถึงลักษณะของก้อนหรือถุงน้ำที่ตรวจพบจากทางรังสีวิทยา
การรักษาก้อนที่ตับอ่อน
โดยทั่วไปการรักษาก้อนที่ตับอ่อนจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและอาการของผู้ป่วย ได้แก่
- ถ้าเป็นก้อนที่ตับอ่อนชนิดดีและไม่มีอาการ อาจพิจารณารักษาโดยวิธีสังเกตอาการและไม่ต้องผ่าตัด โดยอาจนัดพบและตรวจทางรังสีวิทยาทุก 6 – 12 เดือนเพื่อดูอาการและการดำเนินโรค
- ถ้าเป็นก้อนที่ตับอ่อนชนิดดีแต่มีอาการแสดง ให้พิจารณาจากอาการที่ผิดปกติที่ตรวจพบ เช่น ถ้ามีภาวะตัวตาเหลือง (Jaundice) อาจพิจารณารักษาโดยการส่องกล้องและใส่ท่อระบายน้ำดี (Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography หรือ ERCP) และไม่ต้องผ่าตัดรักษา แต่ถ้าพบเป็นโรคที่มีโอกาสกลายเป็นเนื้อร้ายอาจพิจารณาผ่าตัดรักษา
- ถ้าเป็นถุงน้ำชนิดใหญ่ที่เกิดจากภาวะตับอ่อนอักเสบและมีอาการจากการกดเบียดอวัยวะข้างเคียง อาจพิจารณารักษาโดยวิธีส่องกล้องและทำทางระบายผ่านทางกระเพาะอาหารหรือผ่าตัดรักษาในกรณีที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ได้
- ถ้าเป็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำที่มีโอกาสเป็นเนื้อร้ายหรือตรวจพบเป็นเนื้อร้าย แนะนำให้ผ่าตัดรักษา (Pancreatic Resection หรือ Pancreatectomy) ถ้ายังสามารถผ่าตัดได้เพื่อหวังผลหายขาด (Curative Management)
ผ่าตัดก้อนที่ตับอ่อนกับความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน
การผ่าตัดตับอ่อน (Pancreatic Resection หรือ Pancreatectomy) แบ่งได้เป็น 2 ส่วน โดยขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ตรวจพบก้อนและสงสัยว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ โดยแบ่งเป็นบริเวณหัวของตับอ่อนหรือ Pancreatic Head (Pancreaticoduodenectomy; PD) และบริเวณลำตัวและหางของตับอ่อนหรือ Pancreatic Body and Tail (Distal Pancreatectomy; DP)
การผ่าตัดที่บริเวณ Pancreatic Head มีความซับซ้อน เนื่องจากมีลำไส้เล็กส่วนต้นและท่อน้ำดีส่วนปลายอยู่ที่บริเวณนี้ ทำให้การผ่าตัดชนิดนี้ใช้เวลาค่อนข้างนาน เนื่องจากมีการตัด (Resection) และการมีการต่อ (Anastomosis) ของตับอ่อน ทางเดินน้ำดี และทางเดินอาหาร โดยทั่วไปการผ่าตัดตับอ่อนสามารถพบภาวะแทรกซ้อนได้ร้อยละ 10 – 40 โดยขึ้นกับชนิดของภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อย่างไรก็ตามอัตราการเสียชีวิตจากการผ่าตัดตับอ่อนในปัจจุบันพบเพียงร้อยละ 1 – 5
ถ้าพบก้อนที่ Pancreatic Body and Tail อาจทำการผ่าตัดได้ง่ายกว่า แต่พบมีภาวะแทรกซ้อนของการรั่วจากตับอ่อนได้สูงกว่าการผ่าตัดที่บริเวณ Pancreatic Head และอาจตรวจพบภาวะเบาหวานหลังผ่าตัดได้
การผ่าตัดเปิดและผ่าตัดผ่านกล้องของก้อนที่ตับอ่อน
วิธีการผ่าตัดตับอ่อนแบ่งได้เป็น การผ่าตัดเปิด (Open Pancreatectomy) และการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Pancreatectomy) โดยการเลือกวิธีการรักษาอาจพิจารณาจากตำแหน่งของก้อน
ถ้าเป็นการผ่าตัดก้อนที่ Pancreatic Body and Tail แนะนำให้พิจารณาผ่าตัด Laparoscopic Distal Pancreatectomy ยกเว้นมีข้อห้าม แต่ถ้าพบก้อนที่ Pancreatic Head ในปัจจุบันแนะนำให้ผ่าตัดเปิดเป็นวิธีมาตรฐาน แต่อาจพิจารณาผ่าตัด Laparoscopic Pancreaticoduodenectomy ได้ ถ้าศัลยแพทย์มีประสบการณ์ อย่างไรก็ตามการผ่าตัดผ่านกล้องจะใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดนานกว่าผ่าตัดเปิด เนื่องจากมีความยากและความซับซ้อนของการผ่าตัด