ภาวะคลอดก่อนกำหนดเป็นปัญหาทั่วโลก โดยมักมีสาเหตุมาจากคุณแม่ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก การติดเชื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์สามารถป้องกันได้ด้วยการรู้เท่าทันความเสี่ยงและดูแลครรภ์อย่างถูกวิธี เพื่อให้เจ้าตัวเล็กลืมตาดูโลกอย่างสมบูรณ์
คุณแม่ตั้งครรภ์เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด
- คุณแม่ที่ไม่ได้ตรวจสุขภาพหรือไม่รู้ว่าตนเองมีโรคประจำตัวมาก่อน ควรตรวจตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์เพื่อหาความเสี่ยงและดำเนินการป้องกันความเสี่ยงได้ตามมาตรฐาน
- คุณแม่ที่มีโรคประจำตัวหรือมีความเสี่ยงอยู่ก่อนแล้วต้องประเมินว่าส่งผลต่อทารกในครรภ์หรือไม่อย่างไร รวมถึงการปรับเปลี่ยนชนิดยาที่รับประทาน การดูแลรักษาระหว่างการตั้งครรภ์และเตรียมการคลอดอย่างเหมาะสม
- คุณแม่ที่มีความผิดปกติของมดลูกหรือปากมดลูก อย่างพังผืดมดลูก เนื้องอกมดลูก รวมถึงได้รับการผ่าตัดบริเวณปากมดลูกมาก่อนจะมีความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด
- คุณแม่ที่มีความเสี่ยงจากรกหรือเด็กในครรภ์ เช่น แม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ แม่ตั้งครรภ์ที่รกฝังตัวไม่ดี เสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษและรกลอกตัวก่อนกำหนด หรือในกลุ่มที่รกเกาะแน่นเกินไป ทำให้มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด กลุ่มนี้อาจต้องใช้แพทย์หลากหลายสาขาที่มีความชำนาญเพื่อวางแผนในการทำคลอด ส่วนใหญ่มักต้องผ่าคลอดเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารก
- หากคุณแม่ตั้งครรภ์เคยคลอดก่อนกำหนดในท้องแรก ท้องที่สองอาจเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้ จึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีเพื่อรับยาและอาจใช้อุปกรณ์ในการป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนดตามที่แพทย์แนะนำ
โรคประจำตัวแม่ตั้งครรภ์
โรคประจำตัวของแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงกับเจ้าตัวเล็กในครรภ์ คือโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะเมแทบอลิกซินโดรม เช่น โรคความดันโลหิตสูง, โรคอ้วน, เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น ส่วนที่พบได้แต่ไม่มาก เช่น มะเร็งเต้านม, มะเร็งปากมดลูก, เนื้องอกรังไข่, โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE), โรคไทรอยด์, โรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร, โรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีโรคประจำตัวจำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยสูติ – นรีแพทย์และ MFM แพทย์ชำนาญเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
การแกว่งของหัวใจทารกในครรภ์
ปกติทารกในครรภ์จะมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยในเด็กปกติจะมีอัตราการเต้นของหัวใจสม่ำเสมอ คือ 110 – 160 ครั้งต่อนาที ประกอบกับมีการแกว่งคือภาวะการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ หากเด็กมีภาวะขาดออกซิเจน ภาวะโตช้าในครรภ์ หรือมีความผิดปกติบางอย่าง การทำงานของระบบประสาทจะลดลงจนเห็นสัญญาณหัวใจราบเรียบหรือเต้นช้าลง ถ้ารู้สึกว่าทารกดิ้นน้อยลง ควรมาตรวจเพิ่มเติมโดยเร็วที่สุด
MFM ผู้ช่วยดูแลครรภ์
MFM หรือ Maternal Fetal Medicine เป็นแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ซึ่งจะเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของคุณแม่ในการตรวจวินิจฉัยและตรวจติดตามความผิดปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ร่วมกับสูติ – นรีแพทย์ตลอดการตั้งครรภ์ เพื่อประเมินความเสี่ยงที่พบและดูแลอย่างทันท่วงที
อัลตราซาวนด์กับคุณแม่ตั้งครรภ์
การอัลตราซาวนด์มีความคมชัดสูง ช่วยในการตรวจวินิจฉัย คัดกรองความเสี่ยง และความผิดปกติของทารกในครรภ์ โดยแพทย์อาจพิจารณาการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ การเจาะน้ำคร่ำ การเจาะสายสะดือ การตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซม ยีน พันธุกรรม การนำเลือดทารกในครรภ์ไปตรวจหาเชื้ออื่น ๆ ที่ปนเปื้อน เป็นต้น ซึ่งการอัลตราซาวนด์ไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์อย่างที่คุณแม่ส่วนใหญ่กังวล เพราะเป็นคลื่นเสียงความถี่สูงต่างจากการเอกซเรย์ที่อาจมีผลกระทบต่อเด็กในครรภ์ได้
เจาะน้ำคร่ำกับคุณแม่ตั้งครรภ์
การเจาะน้ำคร่ำในหญิงตั้งครรภ์สามารถบอกความผิดปกติของโครโมโซมทารก, ตรวจหาโรคธาลัสซีเมีย, ตรวจหาการติดเชื้อของทารกในครรภ์ นอกจากนี้การเจาะน้ำคร่ำยังสามารถรักษาโรคบางอย่างของทารกในครรภ์ได้ เช่น การฉีดยาไทรอยด์เข้าไปในน้ำคร่ำเพื่อรักษาภาวะไทรอยด์ต่ำของทารกในครรภ์
ดูแลแม่ตั้งครรภ์เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด
หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีภาวะเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดควรต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ประกอบไปด้วย
- พบสูติ – นรีแพทย์และแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (MFM) บ่อยกว่าปกติคือทุก 1 – 2 สัปดาห์
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ลดความเสี่ยงภาวะคลอดก่อนกำหนด อาทิ ความเครียด การทำงานหนัก การยืนหรือเดินนาน ๆ การพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายให้เหมาะสม เสี่ยงการเดินทางบ่อยเพราะอาจติดเชื้อได้ง่าย ฯลฯ
ออกกำลังกายให้ถูกช่วยคุณแม่คลอดง่าย
การออกกำลังกายในคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วยลดความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทำให้ปอดและหัวใจคุณแม่ทำงานได้ดี ยิ่งในคุณแม่ที่วางแผนคลอดธรรมชาติต้องใช้กำลังของปอดและหัวใจในการเบ่งคลอด คุณแม่จึงควรออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
หลักการออกกำลังกายในคุณแม่ตั้งครรภ์คือ
- ไม่ออกกำลังกายหนักจนเกินไป เหนื่อยในระดับที่ยังพูดกับคนใกล้ตัวได้ เพราะการออกกำลังกายหนักเกินไป ทารกในครรภ์อาจขาดออกซิเจนได้
- เน้นการออกกำลังกายร่างกายช่วงบน เพราะการออกกำลังกายร่างกายช่วงล่างมากเกินไป อาจเป็นการเบ่งหรือเร่งให้คลอดก่อนกำหนดได้
- ออกกำลังกายในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก อุณหภูมิไม่ร้อนจัดจนเกินไป เพราะความร้อนจะส่งผลให้เด็กในท้องหัวใจเต้นผิดจังหวะ เสี่ยงต่อภาวะคลอดก่อนกำหนดได้
- จิบน้ำตลอดเวลาระหว่างการออกกำลังกาย เพราะถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ขาดน้ำ ทารกจะขาดน้ำไปด้วย
- คุณแม่ที่เล่นโยคะหรือเวทเทรนนิ่งก่อนตั้งครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์สมดุลจะเสียไปจากท้องที่โตขึ้น ฮอร์โมนการตั้งครรภ์ส่งผลต่อกระดูกและกล้ามเนื้อ ทำให้กระดูกข้อต่อต่าง ๆ หลวมขึ้น เพราะฉะนั้นความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะบาดเจ็บจึงสูงมากกว่าปกติ ควรเลือกโยคะที่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์หรือลดระดับความหนักของเวทเทรนนิ่ง
อย่างไรก็ตามในคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาของการตั้งครรภ์นอกจากการฝากครรภ์กับโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานและทีมแพทย์เฉพาะทางการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เฝ้าติดตามและระมัดระวังเป็นพิเศษจนถึงวันที่เจ้าตัวเล็กลืมตาออกมาดูโลกจะช่วยให้สุขภาพคุณแม่และคุณลูกแข็งแรงไปด้วยกัน