ไวรัส RSV พบในเด็กเป็นส่วนใหญ่ แต่ผู้สูงวัยก็สามารถติดเชื้อ RSV ได้เช่นกัน ที่น่ากังวลคือ RSV เมื่อเป็นแล้วไม่มียารักษา ต้องรักษาตามอาการเท่านั้น หากผู้สูงอายุติดเชื้อ RSV จึงมีความเสี่ยงที่จะพบภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าวัยอื่น การฉีดวัคซีนป้องกัน RSV ในผู้สูงวัยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย
RSV คืออะไร
ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) คือไวรัสที่เป็นต้นเหตุของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ติดต่อผ่านการหายใจและสัมผัสสารคัดหลั่ง ส่วนใหญ่พบในทารกและเด็กเล็ก อาการที่พบส่วนใหญ่ไม่รุนแรงสามารถหายได้เองภายใน 1 – 2 สัปดาห์ แต่ในผู้สูงอายุการติดเชื้อ RSV สามารถเกิดขึ้นได้และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น รวมถึงมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าเด็กเนื่องจากอาจมีโรคประจำตัวหรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดังนั้นผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่มีภาวะเรื้อรังควรฉีดวัคซีนป้องกัน RSV เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรค
ทำไมผู้สูงวัยถึงติดเชื้อ RSV
ในผู้สูงอายุสาเหตุการติดเชื้อ RSV มักมาจากภูมิคุ้มกันที่เสื่อมลงตามธรรมชาติ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย การมีโรคประจำตัวเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคปอด โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง เมื่อได้รับเชื้อ RSV มีโอกาสที่จะรุนแรงมากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความสามารถในการป้องกันและตอบสนองต่อเชื้อโรคลดลง ส่งผลให้การทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่สำคัญต่อการกำจัดเชื้อไวรัสด้อยประสิทธิภาพลง ทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมการติดเชื้อได้อย่างเหมาะสม
RSV ในผู้สูงวัยอาการเป็นอย่างไร
- ไข้
- ไอแห้ง ไอเรื้อรัง
- คัดจมูก น้ำมูกไหล
- หอบเหนื่อย อ่อนแรง เหนื่อยล้า
- หายใจถี่ หายใจเสียงหวีด
- เบื่ออาหาร
- เพ้อ สับสน
RSV ในผู้สูงวัยรักษาได้อย่างไร
การรักษา RSV ไม่มียารักษาเฉพาะโรค เน้นใช้การรักษาตามอาการเป็นหลัก ในกรณีที่อาการไม่รุนแรงแพทย์จะให้ยาลดไข้ ยาละลายเสมหะ พักผ่อนให้เต็มที่ แต่หากอาการรุนแรง เช่น ไข้ไม่ลด หายใจลำบาก หายใจเร็ว ซึมลง ต้องรีบมาพบแพทย์ทันที เพราะอาจต้องให้ออกซิเจนและพักรักษาที่โรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
ภาวะแทรกซ้อนของ RSV ในผู้สูงวัย
หากผู้สูงวัยติดเชื้อ RSV อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนและรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบได้คือ ปอดอักเสบ ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น
วัคซีนป้องกัน RSV ในผู้สูงวัยดีอย่างไร
วัคซีนป้องกันไวรัส RSV มีประโยชน์อย่างมากในผู้สูงอายุ ได้แก่
- กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส RSV 80% – 90%
- ลดความรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัส RSV 94.1%
- ลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคติดเชื้อไวรัส RSV 50% – 60%
- ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัส RSV 30% – 40%
วัคซีนป้องกัน RSV ในผู้สูงวัยต้องฉีดกี่เข็ม
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส RSV ในผู้สูงอายุ ฉีด 1 เข็ม โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพียงครั้งเดียว
อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนป้องกัน RSV ในผู้สูงวัย
- ปวด บวม แดง คัน
- ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น
- รู้สึกไม่สบายตัว เหนื่อย ไม่มีแรง
- ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ
- คลื่นไส้ อาเจียน
***ทั้งนี้หลังฉีดวัคซีนหากมีอาการรุนแรงควรปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด
ฉีดวัคซีนป้องกัน RSV ร่วมกับวัคซีนอื่นในวันเดียวกันได้ไหม
ในกรณีที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนอื่นร่วมด้วยกับวัคซีนป้องกัน RSV สามารถฉีดได้แต่ต้องเป็นคนละตำแหน่ง และควรปรึกษาแพทย์ก่อนทำการฉีดวัคซีนอย่างละเอียด
ป้องกัน RSV ได้อย่างไร
- ล้างมือให้บ่อยด้วยสบู่
- เลี่ยงสัมผัสตา จมูก ปากด้วยมือที่ไม่สะอาด
- สวมหน้ากากอนามัยเมื่อป่วยหรืออยู่ในที่คนเยอะ
- ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
- ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย
- ฉีดวัคซีนป้องกัน RSV
- รับประทานอาหารครบ 5 หมู่
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต้องดูแลควบคุมโรคให้ดี
โรงพยาบาลที่พร้อมให้บริการฉีดวัคซีนป้องกัน RSV
คลินิกวัคซีน โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้บริการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน ลดความเสี่ยง และลดความรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัส RSV โดยมีแพทย์เฉพาะทางพร้อมทีมสหสาขาวิชาชีพคอยดูแลอย่างใกล้ชิด
แพทย์ที่ชำนาญด้านการรักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV
นพ.ชยพล ชีถนอม อายุรแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
แพ็กเกจวัคซีน RSV สำหรับผู้สูงวัย
แพ็กเกจวัคซีน RSV สำหรับผู้สูงอายุ ราคา 8,900 บาท