เทคนิคผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปาก

4 นาทีในการอ่าน
เทคนิคผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปาก

ถ้าพูดถึงโรคของต่อมไร้ท่อที่พบบ่อย ๆ ต่อมไทรอยด์น่าจะเป็นอันดับต้น ๆ ที่ระยะหลังมานี้พบว่าเป็นกันมาก ทั้งไทรอยด์เป็นพิษหรือความผิดปกติที่เกิดจากการมีก้อนที่ต่อมไทรอยด์

 

ต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland) เป็นต่อมไร้ท่อที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายผีเสื้ออยู่ตรงส่วนล่างของกลางลำคอ ทำหน้าที่ผลิตและหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อส่งไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่อยู่ภายใต้การควบคุมของต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) และต่อมไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งโดยปกติร่างกายคนเราจะมีระบบการควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์อย่างดี เพื่อรักษาระดับไทรอยด์ฮอร์โมนให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดเวลา

85% ของโรคต่อมไทรอยด์เกิดขึ้นเองเฉพาะบุคคล มีเพียง 15% ที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือยีนและมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่รู้ตัวว่ามีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์”

 


อาการโรคต่อมไทรอยด์

อาการของโรคต่อมไทรอยด์มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ต่อมไทรอยด์โต แต่ยังทำหน้าที่ได้ปกติ โดยก้อนจะโตขึ้นและมองเห็นเป็นก้อนได้จากภายนอกบริเวณด้านหน้าของลำคอ ก้อนที่เกิดขึ้นบนต่อมไทรอยด์จะมีการขยับเคลื่อนที่ขึ้นลงตามจังหวะที่เรากลืนน้ำลาย ต่อมไทรอยด์โตที่เกิดจากขาดไอโอดีน ต่อมไทรอยด์ต้องทำงานมากขึ้นจึงมีการเพิ่มปริมาณเซลล์เลยทำให้มีขนาดโตขึ้น

นอกจากนี้ต่อมไทรอยด์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นยังอาจเกิดจากมีการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนสูงผิดปกติจึงเกิดภาวะไทรอยด์ทำงานเกินหรือไทรอยด์เป็นพิษ หรือถ้ามีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำก็จะทำให้เกิดภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน นอกจากนั้นอาจจะมีการคลำแล้วพบก้อนเดี่ยว ๆ หรือหลาย ๆ ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ซึ่งแพทย์จะต้องวินิจฉัยแยกโรค เพื่อวางแผนการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมตามภาวะอาการที่เกิดขึ้น

อีกอาการหนึ่งก็คือ ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroidism) อาการที่พบได้สำหรับกรณีนี้คือ เหนื่อยง่าย สมาธิสั้น เครียด นอนไม่หลับ เฉื่อยชา ไม่ค่อยมีแรง เป็นตะคริวง่าย น้ำหนักเพิ่มขึ้น ผิวหนังแห้งหยาบ การรักษาคือการให้ฮอร์โมนไทรอยด์ชดเชย


รักษาไทรอยด์เป็นพิษ

โรคไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป การรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ ทำได้โดยการกินยาต้านไทรอยด์ ซึ่งมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ
  1. โพรพิลไทโอยูราซิล (PTU)
  2. เมทิมาโซล (MMI)
ยาทั้ง 2 ชนิดนี้จะออกฤทธิ์กดการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน ข้อควรระวังของการรักษาด้วยยา 2 ชนิดนี้ คือ ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น มีไข้ เม็ดเลือดขาวต่ำ มีผื่นขึ้น ตับอักเสบ ซึ่งต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

การรักษาอีกวิธีหนึ่งคือ การกลืนแร่ไอโอดีน โดยแร่ไอโอดีนจะเข้าไปทำลายเซลล์ของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมมีขนาดเล็กลงและสร้างฮอร์โมนได้น้อยลง เป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยาก ได้ผลเร็ว

เรื่องน่าห่วงของโรคต่อมไทรอยด์

ที่น่าเป็นห่วงสำหรับโรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมไทรอยด์โรคหนึ่งก็คือ การเกิดก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ ซึ่งมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อัตราส่วนประมาณ 4:1

สาเหตุของการเกิดมีหลายสาเหตุ เช่น เนื้อของไทรอยด์ที่โตมากกว่าปกติ ซีสต์ในต่อมไทรอยด์ เนื้องอกธรรมดาหรือมะเร็งของต่อมไทรอยด์ ฯลฯ ซึ่งการเกิดก้อนที่ต่อมไทรอยด์นั้นมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นมะเร็งได้ถึงประมาณ 5 – 10%

หากพบว่าต่อมไทรอยด์มีอาการโตอาจทำการผ่าตัดออกเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของต่อมไทรอยด์ แนวทางการรักษาอาการต่อมไทรอยด์โตในกรณีที่ไม่ใช่มะเร็งมีข้อบ่งชี้ เช่น ผู้ป่วยมีความกังวลเมื่อก้อนมีขนาดใหญ่เห็นได้ชัดหรือโตขึ้นเร็วหรือก้อนมีขนาดใหญ่ อาจไม่ใหญ่มาก แต่ตำแหน่งไปกดเบียดหลอดลมหรือหลอดอาหาร

สำหรับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ทำได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัดแบบเปิด ซึ่งสามารถตัดต่อมไทรอยด์ออกได้หมด รวมถึงสามารถเลาะต่อมน้ำเหลืองได้ด้วยในบางกรณี แต่ผู้ป่วยจะมีแผลเป็นบริเวณลำคอ ผู้ป่วยอาจรู้สึกขัด ๆ ตึง ๆ คล้ายมีสิ่งแปลกปลอมบริเวณคอหรือมีเสียงเปลี่ยนได้ ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะหายไปภายใน 1 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยก็มักจะกังวลถึงแผลผ่าตัด รอยแผลเป็น ซึ่งมีผลต่อบุคลิกภาพและความสวยงาม

02


เทคนิคผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปากแบบไร้แผลเป็น

ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปากแบบไร้แผลเป็น (Scarless Thyroidectomy) เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นกังวลเรื่องแผลผ่าตัดบริเวณคอ วิธีนี้จะไม่มีแผลเป็นภายนอกหลังการผ่าตัด เพราะซ่อนแผลไว้ในปาก เหมาะสำหรับคนที่มีความกังวลในเรื่องความสวยงามและไม่อยากให้มีแผลเป็นบริเวณลำคอ

สำหรับข้อบ่งชี้ในคนไข้ที่สามารถทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปากโดยไร้แผลเป็นภายนอกคือ

  1. มีผลการตรวจอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) ที่ขนาดก้อนของไทรอยด์ที่โตต้องมีขนาดไม่เกิน 4 – 6 เซนติเมตร
  2. ต้องไม่เคยเข้ารับการผ่าตัดที่บริเวณคอหรือบริเวณคางมาก่อน
  3. ไม่เคยรับการฉายแสงบริเวณคอมาก่อน
  4. ไม่มีข้อห้ามในการดมยาสลบเพื่อทำการผ่าตัด

การผ่าตัดแบบส่องกล้องคือ แพทย์จะเจาะ 3 รู รูตรงกลางด้านล่างช่องปาก 10 มิลลิเมตร จะใช้เพื่อใส่กล้องเข้าไปและรูขนาด 5 มิลลิเมตร 2 รู ด้านข้าง ใช้เพื่อใส่เครื่องมือเข้าไปทำการผ่าตัด โดยแพทย์จะค่อย ๆ เลาะกล้ามเนื้อด้านในใต้ผิวหนังและกล้ามเนื้อเข้าไปหาต่อมไทรอยด์เพื่อทำการตัดไทรอยด์ออก ซึ่งในส่วนที่เลาะนี้จะสามารถประสานกันเองภายหลังผ่าตัด


ข้อดีของการผ่าตัด

ข้อดีของการผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางปากไร้แผลเป็นคือ
  • ไม่มีแผลเป็นที่คอ
  • ซ่อนแผลไว้ในปาก
  • มองเห็นเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของสายเสียงได้ชัดเจนด้วยขนาดที่ขยายจากกล้อง จึงช่วยลดโอกาสการเกิดอันตรายต่อเส้นประสาทนี้
  • ภาวะแทรกซ้อนน้อย
  • แผลหายเร็ว
  • เสียเลือดน้อย
  • เจ็บน้อย
  • ใช้เวลาในการผ่าตัดไม่นาน
  • หลังผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ก็กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ข้อมูลโดย

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์หู คอ จมูก

ชั้น 7 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

เปิดให้บริการ



วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.00 - 19.00 น

วันเสาร์ - วันอาทิตย์ เวลา 08.00 - 16.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด