ไส้ติ่งอักเสบ รู้ให้ไวรักษาได้ทัน

5 นาทีในการอ่าน
ไส้ติ่งอักเสบ รู้ให้ไวรักษาได้ทัน

ไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคปวดท้องเฉียบพลันที่พบบ่อยที่สุด เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยจะพบมากในช่วงอายุ 12 – 60 ปี แต่ในคนที่อายุน้อยหรือมากกว่านี้ก็พบได้เช่นกัน โดยไส้ติ่งอักเสบอาการเริ่มต้นของโรคนั้นมีความใกล้เคียงกับอาการปวดท้องเฉียบพลันอื่น ๆ ทำให้บ่อยครั้งผู้ป่วยมักได้รับการวินิจฉัยที่ล่าช้า มีภาวะแทรกซ้อนจนเกิดอันตรายมากขึ้นได้ การพบแพทย์เฉพาะทางตั้งแต่ระยะแรก ๆ และตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อแยกอาการเป็นไส้ติ่งจึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้วินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องและเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที

 

ไส้ติ่งอักเสบคืออะไร

ไส้ติ่งมีลักษณะเป็นท่อตันที่แยกมาจากบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนต้น โดยตำแหน่งจะอยู่บริเวณท้องน้อยด้านขวา ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) คือ การอักเสบของไส้ติ่งเป็นผลมาจากการอุดตันของรูท่อไส้ติ่ง ไส้ติ่งอักเสบเกิดจากอาหารที่กินเข้าไปกลายเป็นอุจจาระแข็งตัว หรือภาวะต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณดังกล่าว ทำให้แรงดันในไส้ติ่งสูงขึ้น มีการสะสมของแบคทีเรียและเกิดการอักเสบในที่สุด นอกจากนี้ยังเกิดจากการอุดตันของสิ่งแปลกปลอม ก้อนเนื้องอก หนอนพยาธิได้เช่นกัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ความรุนแรงของโรคจะมากขึ้นเรื่อย ๆ จนผนังไส้ติ่งเกิดการเน่าและแตกส่งผลให้เชื้อโรคแพร่กระจายเป็นอันตรายถึงชีวิต


อาการไส้ติ่งอักเสบเป็นอย่างไร

ไส้ติ่งอักเสบอาการแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 ไส้ติ่งเริ่มอุดตัน ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้พะอืดพะอมจุกแน่นท้องเบื่ออาหารปวดท้องคล้ายอาการปวดท้องอื่นๆแต่จะเริ่มปวดท้องรอบสะดือเฉียบพลัน
  • ระยะที่ 2 ไส้ติ่งเริ่มบวม ผู้ป่วยมักมีอาการของไส้ติ่ง ปวดท้องบริเวณชายโครงด้านขวามากขึ้นชัดเจน หากไอหรือจามจะยิ่งปวดมากขึ้น บางรายอาจมีอาการท้องผูกหรือท้องเสียร่วมด้วยได้
  • ระยะที่ 3 ไส้ติ่งแตก ผู้ป่วยจะเจ็บมากจนเดินตัวงอเพื่อเลี่ยงไส้ติ่งสัมผัสกับหน้าท้อง เป็นระยะที่อันตรายมากที่สุด เพราะหากไส้ติ่งอักเสบจนบวม เน่า และแตกกระจายทั่วท้อง เชื้อแบคทีเรียอาจแพร่กระจายในช่องท้อง ถ้าไม่ได้เข้ารับการผ่าตัดโดยเร็วเชื้อโรคอาจเข้าสู่กระแสเลือดส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

ไส้ติ่งอักเสบ, ไส้ติ่งอักเสบอาการ, ไส้ติ่งอักเสบเกิดจาก, ไส้ติ่งอักเสบผ่าตัด, ไส้ติ่งอักเสบรักษา, ไส้ติ่งอักเสบ คือ, ปวดท้อง, ปวดท้องด้านล่างขวา

ตรวจวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบอย่างไร

เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณท้องน้อยด้านขวา ซึ่งเป็นบริเวณของไส้ติ่ง คือมีอาการปวดไส้ติ่งนานเกิน 6 ชั่วโมง ควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างเร่งด่วน ซึ่งแพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยซักประวัติผู้ป่วย ตรวจร่างกาย ตรวจสัญญาณชีพ และตรวจเม็ดเลือด โดยส่วนใหญ่พบว่ามีปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติ ซึ่งบ่งบอกถึงอาการติดเชื้ออักเสบ มีการตรวจปัสสาวะหาเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวเพื่อแยกโรคอื่น ๆ รวมทั้งดูภาวะขาดสมดุลน้ำในร่างกาย และอาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อแยกโรคอื่น ๆ หรือประกอบการวินิจฉัยและดูภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้แก่

  • ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT – Scan
  • ตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound Upper Abdomen)
  • ตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

วิธีรักษาไส้ติ่งเบื้องต้นทำอย่างไร

หากไส้ติ่งอักเสบไม่มาก แพทย์จะทำการรักษาไส้ติ่งอักเสบโดยใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมการติดเชื้อ ในบางกรณีที่ไส้ติ่งอักเสบไม่ได้อยู่ในขั้นรุนแรงมาก เช่น ไม่มีอาการแตกหรือเป็นฝี การรักษาอาจทำได้โดยให้ยาปฏิชีวนะเพื่อหยุดการติดเชื้อและลดการอักเสบของไส้ติ่ง แต่มีข้อจำกัดโดยเฉพาะในกรณีที่ไส้ติ่งแตกหรือมีภาวะแทรกซ้อน อาจทำให้เกิดภาวะติดเชื้อแพร่กระจายและมีความเสี่ยงคือโอกาสการกลับมาอักเสบซ้ำ มีงานวิจัยที่ระบุว่า ประมาณ 20% – 40% ของผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดในภายหลัง และหากการรักษาด้วยยาไม่ประสบความสำเร็จหรืออาการรุนแรงขึ้น อาจต้องกลับมาผ่าตัดที่ซับซ้อนกว่าเดิม ดังนั้นการผ่าตัดจึงเป็นวิธีมาตรฐานที่ยังคงใช้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบ


แนวทางการผ่าตัดรักษาไส้ติ่งอักเสบ

ไส้ติ่งอักเสบหายเองไม่ได้ นอกจากการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในกรณีที่ไม่รุนแรง โดยส่วนใหญ่ไส้ติ่งอักเสบต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อให้หายขาดจากโรค ซึ่งมีทั้งการผ่าตัดเปิดหน้าท้องและการผ่าตัดเพื่อเอาไส้ติ่งออกผ่านกล้อง

  • การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Open Surgery) แพทย์จะทำการผ่าตัดโดยเปิดแผลบริเวณท้องน้อยด้านขวาในตำแหน่งของไส้ติ่ง แผลจะมีขนาดประมาณ 3 – 10 เซนติเมตร ในกรณีที่ไส้ติ่งแตกอาจต้องเปิดแผลยาวบริเวณกลางท้อง โดยการผ่าตัดเปิดหน้าท้องเพื่อล้างในช่องท้องและอาจใส่ท่อเพื่อช่วยระบายหนอง วิธีนี้มีขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อนและผู้ป่วยจำเป็นต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลนานประมาณ 2 – 3 วัน
  • การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery) ค่อนข้างได้รับความนิยม เพราะมีข้อดีกว่าการผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่ เช่น เห็นไส้ติ่งชัดเจน แผลมีขนาดเล็กประมาณ 0.5 – 1 เซนติเมตร ผู้ป่วยเจ็บแผลน้อยกว่า ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดวิธีนี้ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยี 3D เข้ามาใช้เป็นการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก 3 มิติ (Advanced 3D Laparoscopic Surgery) โดยที่ปลายกล้องผ่าตัดจะมี 2 เลนส์ ทำให้เห็นระยะความลึกของอวัยวะที่กำลังจะผ่าตัดแบบ 3 มิติ (3D) ซึ่งศัลยแพทย์จะใส่แว่น 3 มิติขณะทำการผ่าตัด ทำให้เห็นความคมชัดของภาพระดับ Full HD หรือเทคโนโลยี 4K Ultra High Definition ที่แสดงผลบนจอภาพขนาด 55 นิ้วด้วยความคมชัดสูงเหนือ Full HD ช่วยให้ศัลยแพทย์เห็นอวัยวะภายในชัดเจนขณะผ่าตัดลดผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นและช่วยให้ผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจ

ทั้งนี้หากไส้ติ่งแตกกระจายทั่วท้อง การผ่าตัดผ่านกล้องจะช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องเปิดแผลใหญ่ เลี่ยงการปวดแผลและติดเชื้อหลังผ่าตัดได้ ในกรณีที่ไส้ติ่งเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นฝีหนอง แพทย์เฉพาะทางจะทำการวินิจฉัยด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT – Scan ก่อนทำความสะอาดภายในช่องท้องและระบายหนองจากฝีโดยใส่สายระบายเข้าไป เพื่อรักษาอาการติดเชื้อและลดความรุนแรง แล้วจึงทำการผ่าตัดผ่านกล้อง ช่วยไม่ให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องตัดลำไส้ทิ้งไป ซึ่งความยากของการรักษาไส้ติ่งอักเสบขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความซับซ้อนของโรคเป็นสำคัญ


เตรียมตัวก่อนผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบอย่างไร

  • แพทย์จะประเมินและวางแผนการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบโดยอธิบายรายละเอียดการเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัดและขั้นตอนการผ่าตัดทั้งหมด
  • แจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาประจำตัว ยาที่รับประทานหากมีการเจ็บป่วย ประวัติการแพ้ยา การตั้งครรภ์
  • ควรมีคนในครอบครัว คนใกล้ชิด หรือเพื่อนมาคอยดูแลและรับส่งผู้ป่วย

ดูแลหลังผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบอย่างไร

  • พักฟื้นที่โรงพยาบาลภายใต้คำแนะนำและการดูแลของแพทย์
  • หากเจ็บแผลหลังผ่าตัดให้แจ้งแพทย์ทันที
  • รักษาความสะอาดของแผลผ่าตัด โดยเช็ดตัวและห้ามแผลเปียกน้ำ เพื่อป้องกันการอักเสบและติดเชื้อ
  • ห้ามเกาแผลหรือกระทบกระเทือนแผล อาจทำให้เกิดการอักเสบ บวม แดง และอาการข้างเคียงอื่น ๆ ได้   
  • หากต้องการไอให้ใช้มือประคองแผลเพื่อลดความเจ็บปวดและป้องกันแผลแยก
  • รับประทานยาให้ตรงเวลาและครบถ้วนตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • พบแพทย์ตามนัดหมาย หากมีอาการผิดปกติเมื่อกลับบ้าน ควรเข้ามาพบแพทย์ทันที

เพราะไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่เกิดขึ้นโดยเฉียบพลันและไม่มีทางป้องกัน การรู้เท่าทัน หมั่นสังเกตความผิดปกติ และรีบพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการ ช่วยให้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที สิ่งสำคัญที่ควรรู้คือ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองโดยเด็ดขาด เพราะแม้อาการจะดีขึ้นชั่วคราว แต่อาจกลับมารุนแรงยิ่งกว่าเดิมจนยากต่อการรักษา


โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษาไส้ติ่งที่ไหนดี

ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมให้การผ่าตัดรักษาไส้ติ่งอักเสบด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มากด้วยประสบการณ์ พร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และทีมสหสาขาที่พร้อมดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้ป่วยมั่นใจในการผ่าตัดรักษา กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ


แพทย์ที่ชำนาญการผ่าตัดรักษาไส้ติ่งอักเสบ

นพ.ชนินทร์ ปั้นดี  ศัลยแพทย์ด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง


แพ็กเกจการผ่าตัดรักษาไส้ติ่งอักเสบ

แพ็กเกจการส่องกล้องผ่าตัดรักษาไส้ติ่ง ราคา 185,000 บาท

คลิกที่นี่ 

ข้อมูลโดย

Doctor Image
นพ. ชนินทร์ ปั้นดี

ศัลยศาสตร์

นพ. ชนินทร์ ปั้นดี

ศัลยศาสตร์

Doctor profileDoctor profile
Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์ศัลยกรรม

ชั้น 1 อาคาร D โรงพยาบาลกรุงเทพ

ทุกวัน เวลา 08.00 - 20.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด