โรคซึมเศร้า

1 นาทีในการอ่าน
โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางอารมณ์ที่พบบ่อย โดยมีความชุกตลอดช่วงชีวิตถึง 12% พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายและพบได้ในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์เลวร้ายที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึก เช่น การสูญเสีย ความผิดหวัง หรือการหย่าร้าง การเป็นโรคนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เป็นนั้นจะเป็นคนอ่อนแอ ล้มเหลว หรือไม่มีความสามารถ เพราะมีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่า โรคซึมเศร้ามีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการทำงานของระบบสมองที่ผิดปกติ ในปัจจุบันโรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาและการรักษาทางจิตใจ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงมากขึ้น เช่น มีอาการหลงผิด หูแว่ว มีความคิดทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย

 

สาเหตุโรคซึมเศร้า

  • ความผิดปกติในสมอง เช่น สารสื่อประสาท ฮอร์โมน และวงจรระบบประสาท

  • ผู้ที่มีญาติเป็นโรคทางอารมณ์จะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า แต่ทั้งนี้ผู้ที่ไม่มีญาติเป็นโรคทางอารมณ์ก็อาจเป็นโรคนี้ได้

  • สภาพจิตใจของแต่ละคนอันเนื่องมาจากการเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม และเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการคิดและมุมมองต่อตนเอง เช่น มองโลกในแง่ร้าย สิ้นหวังหรือขาดความภูมิใจในตนเอง เป็นต้น

  • ภาวะซึมเศร้าอาจเกิดจากความผิดปกติอื่น ๆ เช่น โรคทางกาย (ไทรอยด์ ลมชัก สมองเสื่อม ฯลฯ) ยารักษาโรคบางชนิด ปัญหายาเสพติด โรคอารมณ์สองขั้ว โรควิตกกังวล ฯลฯ

 

อาการโรคซึมเศร้า

ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักมีอาการดังต่อไปนี้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 2 สัปดาห์

  • เก็บตัว แยกตัวออกจากสังคม

  • รู้สึกเศร้า ท้อแท้ และสิ้นหวัง

  • รู้สึกตนเองไร้ค่า

  • รู้สึกผิดและโทษตนเองตลอดเวลา

  • ขาดความสนใจหรือความเพลิดเพลินในการทำกิจกรรมต่าง ๆ

  • เคลื่อนไหวช้าลงหรือกระสับกระส่าย

  • เหนื่อยและอ่อนเพลียตลอดเวลา

  • ขาดสมาธิ ความสามารถในการคิดและการตัดสินใจน้อยลง

  • เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น

  • นอนมากหรือน้อยกว่าปกติ

  • มีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย

  • มีปัญหาในการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคม


รักษาโรคซึมเศร้า

การรักษาหลักของโรคซึมเศร้า คือ การพูดคุยให้คำปรึกษา การทำจิตบำบัดและการใช้ยากลุ่มต้านเศร้า ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถดีขึ้นได้จนสามารถทำงานและดำรงชีวิตได้อย่างปกติหากได้รับการรักษาที่เหมาะสม

Loading

กำลังโหลดข้อมูล

สอบถามเพิ่มเติมที่

ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ

ชั้น 3-6 อาคารโรงพยาบาลชีวา ทรานสิชั่นนัล แคร์

เปิดให้บริการ ทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น.

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ดูแพทย์ทั้งหมด