7 เรื่องควรรู้เรื่องฝากครรภ์ เมื่อครรภ์เป็นพิษ
1) ครรภ์เป็นพิษมีสาเหตุการเกิดที่ไม่แน่ชัด
แรกเริ่มนั้นมีการบันทึกถึงภาวะครรภ์เป็นพิษมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ อริสโตเติลผู้เป็นนักปราชญ์และแพทย์ชาวกรีกได้กล่าวไว้ว่า เกิดจากความไม่สมดุลของธาตุในร่างกาย ทำให้มีน้ำคั่ง และเชื่อว่าเกิดจากมดลูก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ส่งผลร้ายต่อตับ กระเพาะอาหาร ม้าม และปอด แต่จากวิทยาการความรู้ที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้งพบว่า สาเหตุการเกิดครรภ์เป็นพิษนั้นไม่แน่ชัด มีเพียงสมมติฐานต่าง ๆ ที่คาดเดา เช่น รกทำงานผิดปกติ ทำให้มีการหลั่งสารบางอย่างมากระตุ้นหลอดเลือดให้หดรัดตัว ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าปกติ เป็นต้น
2) ครรภ์เป็นพิษที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอาจเสียชีวิตได้
โดยปกติภาวะครรภ์เป็นพิษจะวินิจฉัยเมื่อความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว (Systolic Blood Pressure) 140 มิลลิเมตรปรอทหรือมากกว่า หรือความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว (Diastolic Blood Pressure) 90 มิลลิเมตรปรอทหรือมากกว่า โดยวัด 2 ครั้ง ห่างกัน 4 ชั่วโมง นอกจากนี้อาจตรวจพบโปรตีนรั่วออกมาปนในปัสสาวะ โดยความรุนแรงของโรคอาจมีตั้งแต่เล็กน้อย รุนแรง จนกระทั่งทำให้เกิดการชักหมดสติ มีภาวะซีดจากการที่เม็ดเลือดแดงแตกสลาย เกล็ดเลือดลดต่ำ ทำให้มีเลือดออกผิดปกติ การทำงานของตับผิดปกติส่งผลให้เสียชีวิตได้ทั้งแม่และทารกในครรภ์
3) ครรภ์เป็นพิษส่วนใหญ่เป็นมหันตภัยเงียบ
โดยส่วนมากแล้วสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษมักไม่ค่อยรู้สึกว่าตนเองป่วยจนกระทั่งโรคเกิดขึ้นรุนแรง ดังนั้นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบถึงสัญญาณเตือนของภาวะครรภ์เป็นพิษดังต่อไปนี้
- ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว คลื่นไส้อาเจียน เนื่องจากความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น
- เจ็บจุกแน่นที่ลิ้นปี่หรือบริเวณชายโครงขวา
- เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก นอนราบไม่ได้ เนื่องจากน้ำท่วมปอด
- บวม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นรวดเร็วในเวลาไม่กี่วัน ปัสสาวะออกน้อยลง
4) ครรภ์เป็นพิษมักพบในครรภ์แรกมากกว่าครรภ์หลัง
ในกลุ่มสตรีตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษมักพบในครรภ์แรกมากกว่าครรภ์หลัง และพบในสตรีที่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หรือเคยมีลูกมาแล้ว แต่เว้นระยะมานานมากกว่า 10 ปีขึ้นไปก็ถือว่ามีความเสี่ยง และสตรีที่อ้วนที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร มีประวัติครอบครัวเป็นภาวะครรภ์เป็นพิษ ตั้งครรภ์แฝด เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษมาก่อน มีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่เดิม เป็นต้น
5) ครรภ์เป็นพิษรักษาโดยการ “คลอด”
การคลอดในผู้ป่วยครรภ์เป็นพิษที่ไม่รุนแรงมากอาจต้องพิจารณาถึงอายุครรภ์ร่วมด้วย แต่ในกรณีที่ครรภ์เป็นพิษอยู่ในขั้นรุนแรง จำเป็นต้องพิจารณาให้คลอดไม่ว่าอายุครรภ์จะมากน้อยเพียงใด ครบกำหนดหรือไม่ เพื่อรักษาชีวิตของมารดาเป็นสำคัญ โดยจะทางช่องคลอดหรือผ่าตัดคลอดจะเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ สำหรับทารกที่อายุครรภ์ไม่ครบกำหนด อาจต้องมีการใช้ยาช่วยพัฒนาปอดเพื่อให้ทารกสามารถหายใจได้เอง โดยพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
เพราะภาวะชักเนื่องจากครรภ์เป็นพิษ (Eclampsia) เป็นภาวะที่รุนแรง สามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ จึงต้องมีการให้ยากันชักในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะครรภ์เป็นพิษขั้นรุนแรง (Severe Preeclampsia) โดยยาที่ให้คือ แมกนีเซียมซัลเฟต ซึ่งยาตัวนี้อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกร้อนวูบวาบ คลื่นไส้อาเจียน ความดันโลหิตลดต่ำลง จึงจำเป็นต้องมีการวัดสัญญาณชีพผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ หลังจากที่ให้ยาตัวนี้กับผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตที่สูงมากก็อาจจำเป็นต้องพิจารณาให้ยาลดความดันโลหิตแก่ผู้ป่วย ซึ่งมีทั้งที่ให้ทางหลอดเลือดหรือการรับประทาน
6) ครรภ์เป็นพิษแม้จะงดอาหารที่มีเกลือก็ไม่อาจลดความดันโลหิตที่สูงลงได้
บ่อยครั้งที่เรามักทราบกันดีว่า ในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงนั้นการหลีกเลี่ยงการรับประทานเกลือจะช่วยให้ความดันโลหิตลดลงได้ แต่ในภาวะครรภ์เป็นพิษนั้นแนะนำว่าให้รับประทานอาหารที่มีเกลือได้ตามปกติเนื่องจากเกลือไม่ได้ส่งผลใด ๆ ต่อความดันโลหิตในสตรีที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ นอกจากนั้นแล้วการรับประทานอาหารเสริมจำพวกกรดโฟลิก แมกนีเซียม สารต้านอนุมูลอิสระ (วิตามินซีและอี) น้ำมันปลา หรือกระเทียมก็ไม่ได้ให้ผลในการช่วยรักษาภาวะความดันโลหิตสูงในสตรีที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษแต่อย่างใด
7) ครรภ์เป็นพิษสามารถที่จะตรวจพบได้แต่เนิ่น ๆ ถ้ามาฝากครรภ์สม่ำเสมอ
การฝากครรภ์และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้แพทย์ตรวจคัดกรอง ค้นหาความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ได้ เช่น ต้องมีการซักประวัติของผู้ป่วยว่าตั้งครรภ์มาแล้วกี่ครั้ง เคยมีภาวะครรภ์เป็นพิษในท้องก่อน ๆ หรือไม่ มีโรคประจำตัวใดบ้าง และทุกครั้งที่มาฝากครรภ์จะต้องมีการตรวจซักถามอาการผิดปกติต่าง ๆ ของสตรีตั้งครรภ์ ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะเพื่อหาน้ำตาลและโปรตีนว่ามีรั่วออกมาหรือไม่ มีการตรวจหน้าท้อง รวมถึงมีการตรวจวินิจฉัยทารกโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของทารก หรือทำการตรวจสุขภาพทารกในครรภ์โดยตรวจติดตามอัตราการเต้นของหัวใจทารก พร้อมกับตรวจการหดรัดตัวของมดลูกเมื่อพบความผิดปกติที่ทำให้คิดถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ แพทย์และทีมจะได้รีบดำเนินการรักษาโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการสูญเสียหรือทุพพลภาพของมารดาและทารก