รู้จักโรคหอบหืด
อาการหอบหืดเกิดจากการหดตัวหรือตีบตันของช่องทางเดินหายใจส่วนหลอดลม ทำให้อากาศเข้าสู่ปอดน้อยลง แท้จริงแล้วเป็นผลจากการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ชื่อโรคหอบหืดนี้เรียกตามอาการของคนไข้ โรคนี้ต่างจากโรคอื่น ๆ คือคนไข้บางคนมีอาการน้อย บางคนมีอาการมากและอาจเสียชีวิตได้ โดยภาวะที่กระตุ้นให้โรคกำเริบต่างกันในคนไข้แต่ละคน
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการตีบตันของหลอดลม คือ
- การหดตัวของกล้ามเนื้อรอบ ๆ หลอดลม
- การบวมอักเสบของเยื่อบุภายในหลอดลม
- เสมหะจำนวนมากที่คั่งค้างอยู่ภายในหลอดลม
การหดตัวของกล้ามเนื้อรอบ ๆ หลอดลม แท้จริงแล้วเป็นผลจากการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม การอักเสบส่วนใหญ่จะเป็นการอักเสบเรื้อรังจากภาวะที่มีการตอบสนองรุนแรงเกินเหตุ
ภูมิแพ้ ตัวการสำคัญโรคหอบหืด
ตัวอย่างของภาวะหรือสิ่งที่กระตุ้นให้โรคกำเริบคือ การหายใจเอาสารที่แพ้เข้าไปในหลอดลม ภาวะติดเชื้อ โพรงจมูกอักเสบ กลิ่นน้ำหอม ยาฆ่าแมลง กลิ่นอับ กลิ่นท่อไอเสีย กลิ่นบุหรี่ ภาวะอากาศ ภาวะแพ้ยา สารสี สารเคมีต่าง ๆ และภาวะเครียด ในเด็กที่เป็นโรคหอบหืดส่วนใหญ่ 2 ใน 3 จะมีภาวะภูมิแพ้ด้วย แต่ในผู้ใหญ่ต่างกันที่ส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะภูมิแพ้ ความเข้าใจผิดคือความเข้าใจที่ว่าโรคหอบหืดเป็นผลจากภาวะภูมิแพ้ซึ่งไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ผู้ป่วยโรคนี้มีมากประมาณ 10 – 13% ของเด็กและผู้ใหญ่ และเป็นเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงเล็กน้อย
วินิจฉัยโรคหอบหืดในเด็ก
การวินิจฉัยโรคหอบหืดในเด็ก โดยทั่วไปแล้วยากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กจำนวนไม่น้อยที่มีอาการอื่นร่วมด้วย เด็กบางคนไม่มีอาการหอบเลยก็ได้ ส่วนใหญ่ประวัติการเจ็บป่วยของเด็กจะไม่ค่อยสมบูรณ์ เพราะข้อมูลได้มาจากผู้ปกครอง พี่เลี้ยง ครูที่โรงเรียนหรือตัวเด็กเอง อาการสำคัญคือ ไอตอนเช้า กลางคืน ไอเวลาวิ่งเล่น หรือหลังวิ่งเล่น คัดจมูก น้ำมูกไหลร่วมด้วย ในเด็กเล็กที่หอบอาจมีสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่โรคหอบหืด เช่น โรคหัวใจ โรคติดเชื้อในปอด สารแปลกปลอม ถั่ว ข้าวโพดคั่วติดในหลอดลม หรือโรคทางเดินอาหารบางชนิด การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้โรคหอบหืดกำเริบ ส่วนใหญ่จะติดเชื้อไวรัสมาจากที่ชุมชน
รักษาโรคหอบหืด
การรักษาโรคหอบหืดจะแตกต่างกันในคนไข้แต่ละคน ขึ้นอยู่กับความแรงของโรค อายุคนไข้ และภาวะที่เกิดร่วมกับโรคหอบหืด เช่น ภาวะภูมิแพ้ หรือโพรงจมูกอักเสบเรื้อรังทั่ว ๆ ไป โดยแนวทางรักษาที่เป็นที่ยอมรับ ได้แก่
- แนะนำให้ใช้การตรวจสอบสมรรถภาพของปอดเพื่อบ่งชี้ความรุนแรงของโรคและเพื่อติดตามวัดผลการรักษา
- การใช้ยาเพื่อลดการอักเสบหรือป้องกันการอักเสบของเยื่อบุหลอดลมร่วมกับการใช้ยาเพื่อคลายกล้ามเนื้อรอบหลอดลมที่หดตัว
- การควบคุมภาวะแวดล้อมต่าง ๆ โดยเฉพาะในคนไข้ที่มีภาวะภูมิแพ้ด้วย รวมถึงการรักษาเฉพาะเจาะจงในภาวะภูมิแพ้
- การให้ความรู้คนไข้และครอบครัวที่เกี่ยวกับโรคหอบหืดและการปฏิบัติตน เช่น เลิกบุหรี่ วิธีการออกกำลังกาย และวิธีใช้ยาที่ถูกต้อง
การรักษาอย่างต่อเนื่องมีความสำคัญที่สุดในโรคหอบหืด คนไข้ส่วนใหญ่หรือแพทย์ส่วนใหญ่จึงต้องตระหนักอยู่เสมอเพื่อผลการรักษาที่น่าพึงพอใจ