การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอช่วยให้คุณอุ่นใจจากโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เพราะการตรวจสุขภาพโดยที่ยังไม่มีอาการผิดปกติจะช่วยให้พบปัญหาสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่เพียงแต่จะเพิ่มโอกาสในการรักษา ลดความรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนของโรคเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วย
สมอง…โรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าวัยใดก็เป็นได้
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เกิดจากการที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากเส้นเลือดสมองตีบ แตก หรืออุดตัน นับเป็นโรคที่คนทุกวัยควรระวัง ทั้งผู้สูงอายุ คนวัยทำงาน หรือวัยรุ่นที่มีความเสี่ยงการเกิดโรคแตกต่างกันออกไป การตรวจวินิจฉัยเพื่อให้ทราบโอกาสเสี่ยงต่อโรคสมองขาดเลือดสามารถทำได้หลายวิธี หนึ่งในนั้นคือการตรวจอัลตราซาวนด์หลอดเลือดคอ (Carotid Doppler Ultrasound) ซึ่งเป็นการตรวจภาวะความอุดตันของหลอดเลือดบริเวณคอ การไหลเวียนของเลือดที่หลอดเลือดคอ ซึ่งเป็นหลอดเลือดสำคัญที่ไปเลี้ยงสมอง โดยใช้คลื่นความถี่สูงตรวจหาขนาดและความหนาของผนังหลอดเลือด รวมทั้งการหมุนเวียนของหลอดเลือดที่ขึ้นไปเลี้ยงสมอง หากพบว่ามีการหนาตัวของผนังหลอดเลือดคอและมีคราบหินปูนเกาะจนหลอดเลือดคอตีบแคบ อาจทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ต้องรีบทำการรักษาทันที เพราะอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้
ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก โรคหลอดเลือดสมองตีบ
หัวใจ….ภาวะหลอดเลือดแดงหัวใจแข็ง
การตรวจหาคราบหินปูนที่หลอดเลือดแดงของหัวใจ (Coronary Artery Calcium Scan หรือ CAC) เป็นการตรวจหาหลักฐานของภาวะหลอดเลือดแดงหัวใจแข็ง (Atherosclerosis of Coronary Artery) การที่หลอดเลือดแดงแข็งเป็นผลมาจากการอักเสบเรื้อรังร่วมกับภาวะหลอดเลือดแดงเสื่อมที่เป็นมาระยะเวลานานพอสมควรประมาณ 2 – 5 ปี มีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง บุหรี่ โรคอ้วนลงพุง หรือกรรมพันธุ์ ทำให้หลอดเลือดแข็งขึ้นจากการอักเสบเรื้อรัง และสุดท้ายเป็นแคลเซียมไปเกาะที่หลอดเลือด ทำให้ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเสียไป รวมทั้งมีการตีบของหลอดเลือด การพัฒนาของหลอดเลือดจนกลายเป็นคราบหินปูนเกาะตามหลอดเลือด การบ่งบอกได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดแข็งนั้นสามารถประเมินและวินิจฉัยได้โดยการส่งตรวจ Computerized Coronary Calcium Scan ซึ่งจะสามารถบอกได้ในผู้ป่วยที่เป็นเรื้อรังเท่านั้น แต่ในคนที่เป็นแบบเฉียบพลันอาจจะไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากเป็นรอยโรคใหม่
ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก ตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ Coronary Calcium Scan (CAC)
มะเร็ง…เต้านม ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งมีโอกาสรักษาหาย
มะเร็งเต้านม หนึ่งในโรคร้ายที่ผู้หญิงทั่วโลกต่างหวาดกลัว เพราะเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปอด ความน่ากลัวของมะเร็งเต้านมจะลดลงตามความเร็วในการค้นพบ ดังนั้นการใส่ใจตรวจหามะเร็งเต้านมอย่างจริงจังเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งพบเร็วเท่าไร ยิ่งลดความรุนแรงของโรคและอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตลงได้มากเท่านั้น การตรวจดิจิทัลแมมโมแกรมจึงมีความสำคัญ โดยเป็นการนำเทคโนโลยีการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษคล้ายกับเครื่องเอกซเรย์ ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงในการหาความผิดปกติของเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ใช้เวลาตรวจประมาณ 5 – 10 นาที โดยเครื่องจะกดเต้านมไว้ประมาณ 5 วินาทีให้เนื้อภายในเต้านมกระจายออก ภาพที่ได้จะมีความละเอียดสูง ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยได้ถูกต้อง อาจจะทำให้เจ็บบ้างขึ้นอยู่กับขนาดของเต้านมแต่ละคน
ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก มะเร็งเต้านม ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งมีโอกาสรักษาหาย
มะเร็ง…ตับ อย่าชะล่าใจ
มะเร็งตับ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของมะเร็งทั้งหมด โดยเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และพบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศหญิง เมื่อเป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตได้ถึง 87% ดังนั้นหากมีสัญญาณเตือนอย่างน้ำหนักลด ท้องอืด แน่นท้อง ควรรู้เท่าทัน ระวังป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากมะเร็งตับด้วยการอัลตราซาวนด์ตรวจอวัยวะในช่องท้องส่วนบน (Ultrasound Upper Abdomen) ที่สามารถดูอวัยวะต่าง ๆ ที่มีความผิดปกติได้ในเบื้องต้นก่อนจะทำการรักษาแบบเฉพาะเจาะจงจากความผิดปกติของอวัยวะนั้น ๆ ซึ่งการตรวจอวัยวะในช่องท้องส่วนบนสามารถตรวจเช็กได้ตั้งแต่
- ตับ ม้าม ตับอ่อน ไต ตรวจดูขนาดของอวัยวะ ก้อน หรือความผิดปกติแต่กำเนิด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการอักเสบหรือได้รับอุบัติเหตุ
- ถุงน้ำดี ทางเดินน้ำดี ตรวจหานิ่วในถุงน้ำดี ติ่งเนื้อหรือเนื้องอกของถุงน้ำดี การอักเสบของถุงน้ำดีทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังตรวจหาสาเหตุของตาเหลือง ตัวเหลืองว่าเกิดจากการอุดตันของทางเดินน้ำดีหรือไม่ และการอุดตันนั้นเกิดจากก้อนนิ่วหรือก้อนเนื้องอก
- ตรวจหานิ่วในทางเดินปัสสาวะ
- ตรวจหลอดเลือดของตับ เช่น ผู้ป่วยตับแข็ง
- ตรวจหลอดเลือดของไต เช่น ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง
- ตรวจหลอดเลือดแดงใหญ่ของช่องท้อง (Abdominal Aorta) ดูการตีบ ตัน หรือโป่งพอง
ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก สัญญาณเตือนต้องรู้ก่อนเป็นมะเร็งตับ